ตามดู “ร่างงบฯ 2.9 ล้านล้านบาท” วงเงิน/โครงสร้างงบฯ รายจ่ายปี 2561 จำแนก 6 กลุ่ม/กระทรวง “ศึกษาธิการ” มากสุด 510,961 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2,999 ล้านบาท งบกลาง 394,326 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 54,554 ล้านบาท หรือลดลง 12.2% ส่วน มหาดไทย 355,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20,849 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.2% กลาโหม 222,436 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.7 หากกำหนดตามยุทธศาสตร์ พบความมั่นคง 273,954 ล้าน มากกว่ายุทธศาสตร์น้ำที่เสนอ 125,459.4 ล้าน
วันนี้ (14 พ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน มีมติเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 และข้อเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ได้แก่ งบประมาณการรายจ่าย ปีงบประมาณ 2561 ที่ 2.9 ล้านล้านบาท ลดลง 23,000 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 60 ขณะที่รายได้งบประมาณปี 2561 อยู่ที่ 2.45 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 79,921 ล้านบาท และตั้งขาดดุลงบประมาณ 450,000 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2561 เติบโตได้ 5.8% เมื่อหักเงินเฟ้อออกแล้ว จะเหลือประมาณ 3.5-3.6%
สำหรับงบประมาณการรายจ่ายไว้ที่ 2.9 ล้านล้านบาท ลดลง 0.8% จากปีงบประมาณ 2560 แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 2.15 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 74.2% ลดลง 2,552 ล้านบาท, รายจ่ายลงทุน 659,924 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.8% เพิ่มขึ้น 875 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 86,942 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.0% เพิ่มขึ้น 5,755 ล้านบาท
ทั้งนี้ หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กระทรวงศึกษาธิการ 510,961 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2,999 ล้านบาท หรือลดลง 0.6%, งบกลาง 394,326 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 54,554 ล้านบาท หรือลดลง 12.2% และกระทรวงมหาดไทย 355,995 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20,849 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.2%
วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 2,900,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น มีงบประมาณรายจ่ายเพียงพอในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนา ประเทศให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน โดยมีประมาณการรายได้สุทธิ จำนวน 2,450,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และกำหนด วงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 450,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งการขาดดุลงบประมาณจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบ ต่อวินัยและฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว โดยมีโครงสร้างงบประมาณ สรุปได้ดังนี้
1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 2,900,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 23,000 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.8 โดยวงเงินงบประมาณดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
2) รายจ่ายประจำ รายจ่ายประจำกำหนดไว้เป็นจำนวน 2,153,133.7 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 2,552.3 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.1 โดยรายจ่ายประจำดังกล่าวคิดเป็น สัดส่วนร้อยละ 74.2 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับร้อยละ 73.8 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2560
3) รายจ่ายลงทุน รายจ่ายลงทุนกำหนดไว้เป็นจำนวน 659,924 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 875.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 โดยรายจ่ายลงทุนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 22.8 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับร้อยละ 22.5 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2560
4) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ได้จัดสรรไว้เป็นจำนวน 86,942.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 5,755.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 โดยรายจ่ายชำระคืน ต้นเงินกู้ดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับร้อยละ 2.8 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2560
จำแนกเป็น 6 กลุ่ม-จำแนกตามกระทรวง “ศึกษาธิการ” 510,961 ล้านบาท
1 ) งบกลาง กำหนดไว้เป็นจำนวน 76,566.3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.6 ของวงเงินงบประมาณ (ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ จำนวน 63,000 ล้านบาท ซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และค่าใช้จ่ายบุคลากร ซึ่ง รวมอยู่ในกลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ)
2 ) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ กำหนดไว้เป็นจำนวน 1,021,506.3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.2 ของวงเงินงบประมาณ
3 ) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายกระทรวง/หน่วยงาน (Function) กำหนดไว้เป็นจำนวน 585,037.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 20.2 ของวงเงินงบประมาณ (ไม่รวมเงินอุดหนุนให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งรวมอยู่ในกลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่) จำแนกเป็น (3.1) แผนงานพื้นฐาน จำนวน 306,306.6 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.4 ของวงเงินงบประมาณกลุ่ม (3.2) แผนงานยุทธศาสตร์ จำนวน 278,730.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.6 ของวงเงินงบประมาณกลุ่ม
4 ) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) รวม 26 แผนงาน กำหนดไว้เป็น จำนวน 582,626.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.1 ของวงเงินงบประมาณ
5 ) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ (Area) (ภารกิจพื้นที่ ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด) รวม 3 แผนงาน กำหนดไว้เป็นจำนวน 373,444.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.9 ของวงเงินงบประมาณ
6 ) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ กำหนดไว้เป็นจำนวน 260,818.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9 ของวงเงินงบประมาณ
ทั้งนี้ จำแนกตามกระทรวงดังนี้ งบกลาง 394,326,061,000 บาท หรือ ร้อยละ 13.6 ,สำนักนายกรัฐมนตรี 34,104,373,400 บาท หรือร้อยละ 1.2 ,กระทรวงกลาโหม 222,436,597,500 บาท หรือร้อยละ 7.7 ,กระทรวงการคลัง 238,356,050,300 บาท หรือร้อยละ 8.2 ,กระทรวงการต่างประเทศ 8,780,436,500 บาท หรือร้อยละ 0.3 ,กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 6,794,823,400 บาท หรือร้อยละ 0.2 ,กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 13,905,929,800 บาทหรือร้อยละ 0.5 ,กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 102,559,663,700 บาท หรือร้อยละ 3.5 ,กระทรวงคมนาคม 172,876,279,500 บาท หรือร้อยละ 6.0 ,กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 6,700,487,000 บาทหรือร้อยละ 0.2
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 34,706,449,600 บาทหรือร้อยละ 1.2, กระทรวงพลังงาน 2,273,729,000 บาท หรือร้อยละ 0.1, กระทรวงพาณิชย์ 7,151,813,700 บาทหรือร้อยละ 0.2, กระทรวงมหาดไทย 355,995,342,000 บาท หรือร้อยละ 12.3, กระทรวงยุติธรรม 24,818,155,900 บาท หรือร้อยละ 0.9, กระทรวงเเรงงาน 49,636,784,000 หรือร้อยละ 1.7, กระทรวงวัฒนธรรม 8,179,042,900 บาท หรือร้อยละ 0.3, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 14,623,100,300 หรือร้อยละ 0.5, กระทรวงศึกษาธิการ 510,961,812,600 บาท หรือร้อยละ 17.6, กระทรวงสาธารณสุข 136,168,837,100 บาท หรือร้อยละ 4.7, กระทรวงอุตสาหกรรม 5,332,811,800 บาท หรือร้อยละ 0.2
ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง 130,740,085,100 บาท หรือร้อยละ 4.5, หน่วยงานของรัฐสภา 5,791,491,100 บาท หรือร้อยละ 0.2, หน่วยงานของศาล 21,735,137,600 บาท หรือร้อยละ 0.7, หน่วยงานอิสระของรัฐ 15,805,643,100 บาท หรือร้อยละ 0.5, จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 32,653,520,400 หรือร้อยละ 1.1 , รัฐวิสาหกิจ 152,787,536,200 บาท หรือร้อยละ 5.3, กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 181,346,711,200 บาท หรือร้อยละ 6.3, สภากาชาดไทย 8,451,294,300 บาท หรือร้อยละ 0.3
เผย 6 ยุทธศาสตร์ พบความมั่นคง 273,954 ล้าน มากกว่า ยุทธศาสตร์น้ำ 125,459.4 ล้าน
ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ได้จัดทำขึ้นให้ สอดคล้องกับร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2558-2564) แผนแม่บทอื่นๆ และนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของรัฐบาลได้อย่างต่อเนื่อง และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยน้อมนำ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวทางหลักในการปฏิบัติคำนึงถึงหลักความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี เพื่อให้ประเทศไทยมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ สรุปดังนี้
1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จำนวน 273,954 ล้านบาท เพื่อรักษาความมั่นคงของ ประเทศ เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ เทิดทูนและพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เสริมสร้างศักยภาพ การป้องกันประเทศ ส่งเสริมความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศด้านความมั่นคง สร้างความปรองดองสมานฉันท์ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัด ชายแดนภาคใต้ จัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ตลอดจนป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จำนวน 476,596.6 ล้านบาท เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและ บริการ พัฒนาศักยภาพการผลิตภาคการเกษตร เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง พัฒนาศักยภาพ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิตบริการ การค้า และการลงทุน พัฒนาและยกระดับผลิตภาพแรงงาน พัฒนาความร่วมมือด้านต่างประเทศ สร้างและรักษาผลประโยชน์ชาติ
3. ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน จำนวน 575,709.8 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพคนตามช่วงวัย ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาด้านสาธารณสุขและสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก ส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม
4. ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน จำนวน 332,584.8 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน เข้มแข็ง พัฒนาระบบประกันสุขภาพ สร้างความเสมอภาคเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ส่งเสริม การดำเนินงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เสริมสร้างสวัสดิการสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิต รวมถึงรายจ่ายบุคลากรภาครัฐและรายจ่ายพื้นฐานด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำและสร้างการเติบโตจากภายใน
5. ยุทธศาสตร์ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จำนวน 125,459.4 ล้านบาท เพื่อจัดการปัญหาที่ดินทำกินให้กับผู้ยากไร้ บริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันทรัพยากรธรรมชาติให้มีความหลากหลายทางชีวภาพคงความอุดมสมบูรณ์ เตรียมความพร้อมและรองรับเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศและภัยพิบัติ ตลอดจนพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 784,210.1 ล้านบาท เพื่อลดปัญหาการทุจริตในสังคมไทย โดยปลุกจิตสำนึกและสร้างค่านิยมให้ ทุกภาคส่วนตระหนักรู้ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต คุณธรรม จริยธรรม ปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย เพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ยกระดับการบริการภาครัฐ ให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ได้รับบริการสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ให้มีการบูรณาการร่วมกันในทุกภาคส่วน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ปรับปรุงโครงสร้าง ภาษี อัตราภาษี และระบบการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม ตลอดจนพัฒนาระบบการจัดการงบประมาณ ให้มีประสิทธิภาพ ปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพ มีความคล่องตัวสูงและสนับสนุนการจัดการของ รัฐสภา ศาล หน่วยงานอิสระของรัฐ และพัฒนาประสิทธิภาพการตรวจสอบภาครัฐเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเป็นธรรม
7. รายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 331,485.3 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และการบริหาร จัดการหนี้ภาครัฐ