ผช.ผบ.ทบ.เป็นประธานวันสถาปนาครบ 16 ปี ศูนย์ไซเบอร์ ทบ.เผยยอดปราบเว็บหมิ่นฯ ปี 59-60 กว่า 820 รายการ มีแนวโน้มการทำผิดน้อยลง พร้อมสร้างความตระหนักรู้แก่ ปชช.และหน่วยงานต่างๆ ชี้เพื่อนบ้านแฮกโจมตีทดสอบระบบเรื่องปกติ
วันนี้ (11 พ.ค.) ที่ศูนย์ไซเบอร์ กองบัญชาการกองทัพบก (ศซบ.ทบ.) พล.อ.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานในวันสถาปนาศูนย์ไซเบอร์กองทัพบกครบรอบปีที่ 16 ปี โดยมี พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก ให้การต้อนรับ โดยได้มีพิธีบำเพ็ญกุศล และพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติงานดีเด่นประจำปี 2560 ของหน่วย ต่อด้วยพิธีมอบทุนการศึกษาบุตรข้าราชการ โดยชมรมแม่บ้านศูนย์ไซเบอร์กองทัพบกหลังเสร็จพิธีฯ
พล.ต.ฤทธีกล่าวว่า กองทัพบกให้ความสำคัญในเรื่องภัยคุกครามด้านไซเบอร์ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักให้กำลังพล หน่วยงานต่างๆ กำลังพล และประชาชน ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน การโจมตี ให้ร้าย ผ่านโซเชี่ยลมิเดีย และการปล่อยข้อมูลข่าวสารที่ละเมิดสถาบันฯ ตั้งแต่ ต.ค. 2559 จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการตามนโยบาย ผู้บัญชาการกองทัพบก ห่วงใยด้านการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนและการละเมิดสถาบันฯ โดยได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ติดตาม และตรวจพบการเผยแพร่ข้อมูลทางไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบต่อสถาบัน รวมจำนวน 820 รายการ ดังนี้ Facebook จำนวน 365 รายการ YouTube จำนวน 450 รายการ และ Twitter จำนวน 5 รายการ และได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการปิดกั้นและดำเนินคดีตามกฎหมาย
พล.ต.ฤทธีกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้ประสานงานดำเนินการปิดกั้นเว็บหมิ่นสถาบันฯ ไปแล้ว 435 รายการ อยู่ระหว่างดำเนินการ 111 รายการ และที่เปิดขึ้นมาใหม่ 274 รายการ โดยในเดือน เม.ย. 2560 มีจำนวน 120 รายการ โดยแยกเป็นกลุ่มและบุคคลที่กระทำความผิด ซึ่งอยู่ต่างประเทศ เพียง 7 ราย และยังไม่ทราบแหล่งที่มาของผู้กระทำ เพียง 18 รายการ จากการเฝ้าระวัง ติดตาม สืบค้นภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ทำให้สามารถตรวจพบ ประสานการปิดกั้น และดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดได้อย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้การกระทำผิดกฎหมายในลักษณะดังกล่าวลดลงตามลำดับ
“การปิดกั้นเว็บไซต์ที่หมิ่นสถาบันฯ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันปิดกั้นเว็บไซท์ตามคำสั่งศาลกว่า 6,000 รายการ ทั้งนี้ยังติดปัญหาบุคคลที่กระทำความผิดที่อยู่ต่างประเทศ จึงต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ และผู้ประกอบการ คาดว่าแนวโน้มในเร็วๆ นี้ การเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับสถาบันฯ จะลดน้อยลง สำหรับเฟซบุ๊ก ยูทูป ซึ่งเป็นข้อมูลจากต่างประเทศมีช่องทางเข้าถึงข้อมูล ถ้าผ่านระบบของในประเทศไทยก็สามารถปิดกั้นได้บางส่วน แต่อีกส่วนหนึ่งมีเทคนิคในการหลบเหลี่ยงไม่ให้ถูกปิดกั้นได้ ” ผอ.ศูนย์ไซเบอร์กล่าว
พล.ต.ฤทธีกล่าวต่อว่า ได้นำบุคลากรภายนอกมาช่วยงานศูนย์ไซเบอร์ฯ ในฐานะเครือข่ายเป็นการทำงานในลักษณะประสานความร่วมมือขององค์กรหน่วยงาน และประชาชน ส่วนกลุ่มที่โจมตีหรือแฮกข้อมูลของกองทัพนั้นขณะนี้ลดลงตามลำดับ เพราะไม่ได้อยู่ในสภาวะหรือเงื่อนไขที่จะมาโจมตี แต่การโจมตีจากต่างประเทศเพื่อต้องการทดสอบ ความมั่นคงปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ของหน่วยงานถือว่าเป็นปกติซึ่งทุกประเทศก็ถูกโจมตีเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 มีชื่อเดิมว่า ศูนย์เทคโนโลยีทางทหารกองทัพบก โดยมีกองการสงครามสารสนเทศ เพื่อรองรับภัยคุกคามด้านสารสนเทศ ต่อมาได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 10 พ.ค. 2544 และกองทัพบกได้อนุมัติอัตราหน่วย เมื่อ 11 พ.ค. 2544 จึงได้ถือกำหนดให้เป็นวันสถาปนาหน่วยขึ้น และเมื่อ 1 ต.ค. 2559 ได้แปรสภาพเป็น “ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก” และปรับสายการบังคับบัญชาเป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก โดยมี พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ศูนย์ไซเบอร์กองทัพบก เป็น “กลไกหลักที่สร้างความเชื่อมั่น และหลักประกันด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับกองทัพบก” มีภารกิจหลัก 3 ประการ คือ 1. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อเฝ้าระวัง แจ้งเตือน ภัยคุกคามด้านไซเบอร์ รณรงค์ปลุกฝังจิตสำนึก เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และกำกับดูแลการปฏิบัติของหน่วยในกองทัพบก ตามมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้หน่วยในกองทัพบกมีการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยคุกคาม สืบค้น ตรวจสอบช่องโหว่ของระบบ และการพิสูจน์หลักฐานทางดิจิตอลอย่างต่อเนื่อง
2. การปฏิบัติการไซเบอร์ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการไซเบอร์เพื่อป้องกันการโจมตี และแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินทางไซเบอร์ ตลอดจนการพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติการไซเบอร์เชิงรุก เพื่อตอบโต้และสกัดกั้นภัยคุกคามด้านไซเบอร์ 3. การปฏิบัติการข่าวสารบนไซเบอร์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการข่าวสารของกองทัพบก และหน่วยที่เกี่ยวข้อง โดยทำหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตาม สืบค้นข้อมูลข่าวสารบนไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบต่อสถาบัน และความมั่นคงของชาติโดยรวม พร้อมการดำเนินการแจ้งเตือน กำหนดมาตรการป้องปราม ชี้แจงตอบโต้ สกัดกั้น รวมถึงการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการปิดกั้นและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อผู้ที่นำเข้าและเผยแพร่ข้อมูลทางไซเบอร์ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ตามช่องทางต่างๆ