xs
xsm
sm
md
lg

มีผลแล้ว! พ.ร.ฎ.เว้นภาษีเครื่องรูดปรื๊ด! หนุน e-Payment หวังลดพฤติกรรมชำระเงินสด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มีผลแล้ว! พ.ร.ฎ.ยกเว้นภาษีนิติบุคคลให้ผู้ประกอบการติดตั้งเครื่องรูดบัตร พร้อมเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าธรรมเนียมรูดบัตร พร้อมเดินหน้าโครงการ e-Payment เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการชำระเงินจากการชำระด้วยเงินสดไปเป็นทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

วันนี้ (10 พ.ค.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 640) พ.ศ. 2560 (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)

ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อการลงทุนในอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) โดยต้องจ่ายไปตั้งแต่มีประกาศราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2561 และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด

นอกจากนี้ ยังยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บุคคลธรรมดา และบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิตผ่านเครื่อง EDC โดยต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากร ประกาศกำหนด

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการกระจายการติดตั้งและใช้เครื่อง EDC ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการชำระเงินจากการชำระด้วยเงินสดไปเป็นทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดของประเทศลดลง และทำให้มีศักยภาพการแข่งขัน และโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่าย เพื่อการลงทุนในอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 และบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นไม่เรียกเก็บค่าเช่าอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จากผู้รับชำระเงิน ผ่านอุปกรณ์ดังกล่าว และต้องเป็นการใช้สิทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายไปทั้งจำนวน

ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

“มาตรา ๕ อุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา ๔ ต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามโครงการลงทุนที่ได้รับการรับรองจาก คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ แห่งชาติหรือผู้ที่คณะกรรมการดังกล่าวมอบหมาย และได้ใช้จริงในโครงการดังกล่าว
(๒) ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน
(๓) เป็นอุปกรณ์ที่หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ตามมาตรา ๖๕ ทวิ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร และอยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้ตามวัตถุประสงค์ภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
(๔) ต้องมีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสามปี นับแต่วันที่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้การได้ตามวัตถุประสงค์ เว้นแต่ถูกทำลาย สูญหาย หรือสิ้นสภาพ
(๕) ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(๖) ไม่เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

มาตรา ๖ ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ตามพระราชกฤษฎีกานี้ และต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา ๔ และมาตรา ๕ ในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้สิ้นสุดลง และบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น เว้นแต่กรณีที่ทรัพย์สิน ถูกทำลาย สูญหาย หรือสิ้นสภาพ

มาตรา ๗ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ และส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมจาก การรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิตผ่านอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ให้แก่ (๑) บุคคลธรรมดา ซึ่งมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๕) (๖) (๗) หรือ (๘) แห่งประมวลรัษฎากร รวมกันไม่เกินสามสิบล้านบาทในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ (๒) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วไม่เกินห้าล้านบาทในวันสุดท้าย ของรอบระยะเวลาบัญชีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการ ไม่เกินสามสิบล้านบาท ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ การยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดี ประกาศกำหนด

มาตรา ๘ ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา ๗ (๒) มีทุนที่ชำระแล้ว เกินห้าล้านบาทในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีใด หรือมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการ เกินสามสิบล้านบาทในรอบระยะเวลาบัญชีใด”
กำลังโหลดความคิดเห็น