มหาดไทยส่งหนังสือด่วน ติดตามงบตำบลละ 5 ล้าน ใน 4 จังหวัด “สุราษฎร์ธานี-อยุธยา-ขอนแก่น-เชียงใหม่” พร้อม 5 โครงการเร่งเบิกจ่ายงบจังหวัด 23 พ.ค.นี้ ด้านอธิบดีกรมการปกครองยันได้ข้อมูลทุจริต ตำบลละ 5 ล้าน จ.เพชรบูรณ์ เมื่อกลางเดือน เม.ย. 60 ก่อนสั่งย้าย “นายอำเภอหนองไผ่” พื้นที่เสี่ยงทุจริตเข้ากรุกรมการปกครองแล้ว ย้ำพบคนผิดต้องฟันวินัย-อาญา
วันนี้ (10 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า จากกรณีนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ลงพื้นที่ตรวจสอบการทุจริตโครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลใน จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นของชาติ (ภตช.) ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนให้ ศอตช.ตรวจสอบโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท ในเขตพื้นที่อำเภอหนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 3 จุด
โดยมีข้อมูลว่าจาก 7,225 ตำบล จ.เพชรบูรณ์ ได้งบประมาณวงเงิน 36,275 ล้านบาท เฉพาะ 13 ตำบลใน อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ 62.045 ล้านบาท ในการก่อสร้างรวม 222 โครงการ ขณะเดียวกันการก่อสร้างหลายโครงการอาจมีการทุจริตหรือจัดงบฯ ซ้ำซ้อน ระหว่างโครงการตำบลละ 5 ล้านบาทกับงบปกติขององค์การบริหารส่วนตำบล และได้ตรวจสอบในพื้นที่ของ อ.หนองไผ่ แล้ว 34 โครงการ พบข้อพกพร่องจำนวน 30 โครงการซึ่งทำไม่ได้มาตรฐาน
ล่าสุด ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งข้อมูลให้กรมการปกครองได้รับทราบข้อมูลการส่อทุจริต จาก ป.ป.ช., สตง. และ ป.ป.ท.มาตั้งแต่กลางเดือนเม.ย. 2560 และได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกรมการปกครองลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมกับได้มีคำสั่งย้ายนายจรัส ศรีมูล นายอำเภอหนองไผ่ มาช่วยราชการที่กรมการปกครอง ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา รวมทั้งจังหวัดเพชรบูรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวด้วยเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริงซึ่งหากพบว่ามีการทุจริตจะดำเนินการทางวินัยและอาญาอย่างเด็ดขาดต่อไป
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค. กระทรวงมหาดไทยทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท0211.8/ว 333 ลว. 9 พ.ค. 2560 เรื่องการประชุมติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลถึงหัวหน้าสำนักงานจังหวัดทั่วประทศ และสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดทุกกลุ่มจังหวัด เพื่อเร่งทำข้อมูลในการประชุมชี้แจงในวันที่ 23 พ.ค.นี้
โดยให้ติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ใน 5 โครงการ หนึ่งในนั้นมีการติดตามโครงการตามมาตรการส่งเริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท ในพื้นที่ที่ยังขาดข้อมูล ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น และเชียงใหม่ หลังจากเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมาได้พิจารณาโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท ในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี พระนครศรีอยุธยา อุบลราชธานี ขอนแก่น เชียงใหม่ และสุโขทัย
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบพบว่า มีอย่างน้อย 6 โครงการ ใน 3 จังหวัด ที่อาจดำเนินการไม่โปร่งใส นอกจากนี้เมื่อปี 2558 ยังมีการร้องเรียนถึงโครงการหนึ่งใน จ.นครปฐม ที่อ้างว่าจะสอนทำอาหาร แต่กลับนำงบจำนวนกว่า 3 แสนบาท ไปทำกับข้าวแล้วแจกจ่ายกัน จบภายใน 10 วันด้วย
สำหรับโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 1. มาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน 2. การสนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรตามมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 3. มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท) ทั้ง 3 มาตรการนี้ได้ใช้เงินงบประมาณจำนวน 38,775.38 ล้านบาท