xs
xsm
sm
md
lg

สรรหา คตง.สะดุด มีแค่องค์กรอิสระเดียวส่งชื่อ เลื่อนประชุม กก.สรรหาไม่มีกำหนด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วรารัตน์ อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภา (แฟ้มภาพ)
สรรหา คตง.สะดุด 5 องค์กรอิสระ ส่งชื่อกรรมการสรรหาแค่หน่วยงานเดียว เหตุกระชั้นชิด มีข้อจำกัดเรื่องคุณสมบัติ เลขาวุฒิสภาฯ แจ้ง ขอเลื่อนประชุมกรรมการสรรหา จาก 11 พ.ค.ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

วันนี้ (10 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 23/2560 กำหนดให้มีการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลเพื่อมาดำรงตำแหน่งแทนกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่พ้นตำแหน่งในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ หรือพ้นตำแหน่งตามวาระภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ให้ดำเนินการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลเพื่อมาดำรงตำแหน่งแทนให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนั้น นอกจากจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับขั้นตอนในกระบวนการสรรหาทั้งในเรื่องการปฏิบัติของฝ่ายธุรการ คือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และปัญหาในข้อกฎหมาย ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินชุดปัจจุบัน เห็นว่า การสรรหาไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากต้องรอให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินมีผลบังคับใช้ก่อนแล้ว ยังมีปัญหาเกี่ยวกับบุคคลที่องค์กรอิสระต้องเสนอชื่อมาเป็นกรรมการสรรหาด้วย โดยขณะนี้มีองค์กรอิสระเพียงองค์กรเดียวจาก 5 องค์กรตามรัฐธรรมนูญคือ ผู้ตรวจการแผ่นดินที่ส่งรายชื่อ พล.อ.ปริญญา บูรณางกูร ข้าราชการเกียษณ ให้กับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาแล้ว ทำให้มีการเลื่อนการประชุมกรรมการสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดินจากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 11 พ.ค.ออกไปโดยไม่มีกำหนด

นางวรารัตน์ อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภา ให้เหตุผลถึงการเลื่อนการประชุมกรรมการสรรหาฯออกไปโดยยังไม่มีการกำหนดวันประชุมใหม่ว่า เนื่องจากคณะกรรมการสรรหาบางท่านติดภารกิจ และขณะนี้องค์กรอิสระที่ต้องเสนอชื่อก็ยังเสนอชื่อมาไม่ครบทุกองค์กร มีเพียงองค์กรเดียวที่เสนอชื่อมา โดยสำนักเลขาวุฒิสภาได้แจ้งการเลื่อนประชุมคณะกรรมการสรรหาฯให้กับองค์กรอิสระทุกองค์กรรับทราบแล้ว

นอกจากนี้ยังระบุว่า กระบวนการสรรหา คตง.ดังกล่าวนั้นเริ่มจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทำหนังสือแจ้งมาให้ดำเนินการสรรหาตามคำสั่ง คสช.ที่ 23/2560 ส่วนที่ คตง.มีหนังสือท้วงติงเรื่องการสรรหาว่าอาจเป็นการทำเกินอำนาจหน้าที่และแนะนำให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รวมทั้งท้วงติงว่าการสรรหาไม่สามารถกระทำได้ต้องรอให้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินมีผลบังคับใช้ก่อนนั้น ทางสำนักงานเลขาวุฒิสภาจะเสนอข้อมูลให้คณะกรรมการสรรหาเมื่อมีการประชุมนัดแรกเป็นผู้วินิจฉัยว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเป็นเพียงแค่หน่วยงานธุรการเท่านั้น

ด้านนางภิรมย์ ศรีประเสริฐ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า กสม.ได้รับหนังสือจากสำนักงานเลขาวุฒิสภาให้เสนอชื่อบุคคลไปเป็นกรรมการสรรหาฯ ครั้งแรกในวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา โดยให้เสนอภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 13 พ.ค. โดยในหนังสือดังกล่าวระบุว่าจะมีการประชุมกรรมการสรรหาในวันที่ 18 พ.ค. แต่ต่อมาในวันที่ 3 พ.ค.มีหนังสือแจ้งว่าคณะกรรมการสรรหาเลื่อนนัดประชุมจากวันที่ 18 พ.ค.เป็นวันที่ 11 พ.ค. ซึ่งในการประชุมกรรมการสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ก็ได้มีการพิจารณารายชื่อบุคคลที่กรรมการ กสม.เสนอจำนวน 2 คน แต่ตามประกาศของ คสช.ที่ 23/2560 กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะเป็นกรรมการสรรหาไว้ค่อนข้างสูง ทำให้รายชื่อที่เสนอมามีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนไม่สามารถเสนอได้

“เพราะรายหนึ่งเคยเป็นรองเลขาธิการของ กสม.แต่ในคุณสมบัติกำหนดห้ามไม่ให้เสนอชื่อบุคคลที่เคยปฏิบัติงานในหน่วยงานนั้นๆ ส่วนอีกคนหนึ่งมีอายุ 70 ปี ซึ่งก็ขาดคุณสมบัติเพราะประกาศกำหนดว่าจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 45 ปี แต่ต้องไม่เกิน 68 ปี จึงทำให้ที่ประชุมยังไม่สามารถพิจารณาเสนอชื่อบุคคลเป็นกรรมการสรรหาได้ แต่ในช่วงเย็นก็ได้รับหนังสือจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาแจ้งเลื่อนการประชุมคณะกรรมการสรรหาวันที่ 11 พ.ค.ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลไปเป็นกรรมการสรรหาฯ”

เลขาฯ กสม.กล่าวด้วยว่า กรณีนี้นอกจากระยะเวลาจะค่อนข้างจำกัดแล้วยังมีข้อจำกัดที่ประกาศ คสช.กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะไปเป็นกรรมการสรรหาไว้หลายประการ เช่น การจำกัดอายุ ทั้งที่คนที่มีคุณวุฒิ คุณสมบัติพร้อมที่จะไปทำหน้าที่กรรมการสรรหาฯ ส่วนใหญ่จะมีอายุประมาณ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งในรัฐธรรมนูญเก่าไม่มีข้อจำกัดในเรื่องนี้ นอกจากนี้ ในประกาศ คสช.ดังกล่าวยังกำหนดด้วยว่าต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ในองค์กรอิสระนั้นๆ ยิ่งทำให้การหาบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทำได้ค่อนข้างลำบาก

ขณะที่ในส่วนของ กกต.นั้น มีรายงานว่า กกต.ก็ประสบปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกันโดยที่ประชุม กกต.มีมติให้สำนักงาน กกต.มีหนังสือแจ้งกลับไปยังสำนักเลขาธิการวุฒิสภาว่าไม่ขอเสนอชื่อบุคคลใดไปเป็นตัวแทนกรรมการสรรหา เนื่องจากระยะเวลากระชั้นชิดเกินไป กกต.จึงไม่สามารถหาบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ข้อ 9 ข้อ 5 และข้อ 6 ของคำสั่ง คสช.ที่ 23/2560 กำหนดได้

สำหรับองค์ประกอบของกรรมการสรรหาฯ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 23/2560 จะประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานศาลปกครองสูงสุด และบุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งองค์กรละหนึ่งคน เป็นกรรมการ โดยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญประกอบด้วย 5 องค์กร คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและ ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ในขณะนี้มีองค์กรอิสระเพียงองค์กรเดียวที่เสนอชื่อกรรมการสรรหาให้กับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา คือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เท่ากับว่าจนถึงขณะนี้มีกรรมการสรรหาฯ เพียง 4 คนเท่านั้นจากทั้งหมด 8 คน อย่างไรก็ตาม ในคำสั่งดังกล่าวกำหนดว่าในกรณีที่กรรมการสรรหาจากองค์กรอิสระมีไม่ครบไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ดำเนินการคัดเลือกหรือสรรหาต่อไปได้จนแล้วเสร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น