xs
xsm
sm
md
lg

กทม.จ่อชดเชย 247 ล้าน บ้านเรือนสิ่งปลูกสร้าง 282 รายการ ตามแนว 14 กม. “โปรเจกต์พัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทม.ไฟเขียวค่าชดเชย 247 ล้านบาท จ่ายบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้าง 282 รายการ ตามแนว 14 กิโลเมตร “โปรเจกค์พัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” ให้กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า และ กลุ่มที่ปลูกสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมกำหนด 4 แนวทาง จ่ายเฉพาะค่าวัสดุที่ประเมิน-ค่าแรงงานก่อสร้าง 25-40% ของค่าวัสดุตามลักษณะประเภทอาคาร-ค่ารื้อถอน 15- 20% ของค่าวัสดุ-ค่าขนย้ายพัสดุและทรัพย์สิน เที่ยวละ 4 พันบาทไม่หักค่าเสื่อม

วันนี้ (9 พ.ค.) มีรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพหานคร (กทม.) ว่าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณากำหนดเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้งที่ 1/2560 ซึ่งมีนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการ กทม.เป็นประธานฯ ได้พิจารณาแนวทางกำหนดค่าชดเชยบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในแนวโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จากบริเวณสะพานพระราม 7 สิ้นสุดโครงการบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้าทั้งสองฝั่ง รวมระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร

โดยเป็นสิ่งปลูกสร้างที่จะได้รับความช่วยเหลือเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าและ 2. กลุ่มที่ปลูกสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต

ชดเชยผู้ประกอบการได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า-ปลูกสิ่งปลูกสร้างรุกโดยไม่ได้รับอนุญาต

มีรายงานว่า ที่ผ่านมา 2 กลุ่มดังกล่าวไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับค่าชดเชยความเสียหายตามกฎหมายหรือระเบียบที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ แต่เพื่อลดผลกระทบจากการดำเนินโครงการนี้ กทม.ได้ตั้งคณะกรรมการฯเพื่อกำหนดเงินช่วยเหลือและค่าชดเชยความเสียหาย โดยให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการคิดเงินค่าทดแทนการรื้อถอนขนย้ายโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง และค่าทดแทนความเสียหายมาเป็นแนวทางในการกำหนด ประกอบด้วย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 14 มีนาคม 2560 ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินชดเชยช่วยเหลือ (คิดเป็นตารางเมตร) ดังนี้

กำหนดจ่าย 4 รายการ ค่าขนย้ายเที่ยวละ 4,000 บาท ไม่หักค่าเสื่อม

1. ค่าวัสดุใช้ราคา ประเมินค่าก่อสร้างอาคารเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 ของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (โดยหักค่าแรงงานก่อสร้าง และ Factor F) 2. ค่าแรงงานก่อสร้าง กำหนดให้ 25-40% ของค่าวัสดุตามลักษณะประเภทอาคารโดยเทียบเคียงตามสภาพของสิ่งปลูกสร้างอัตราดังกล่าวได้มาจากกรมทางหลวง

3. ค่ารื้อถอน โดยใช้อัตราค่ารื้อถอน 15- 20% ของค่าวัสดุตามลักษณะประเภทอาคารโดยใช้อัตราค่ารื้อถอนของกองจัดกรรมสิทธิ์สำนักการโยธา 4. ค่าขนย้ายพัสดุและทรัพย์สิน กำหนดเทียบเคียงตามอัตราขนส่งของศูนย์บริการขนย้ายต่างๆของกรุงเทพมหานคร และจากหน่วยงานภาครัฐโดยกำหนดค่าขนย้ายเที่ยวละ 4,000 บาท โดยไม่หักค่าเสื่อม

247 ล้านบาท ในแนวเส้นทาง 14 กม.รวม 282 รายการ จาก 14 ชุมชน

มีรายงานว่า ที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติงบประมาณสำหรับให้ความช่วยเหลือค่าชดเชยบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในแนวโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 247 ล้านบาท ซึ่งมีบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างในแนวเส้นทางรวม 282 รายการ จากทั้งหมด 14 ชุมชน จากนั้น กทม.จะได้เร่งจ่ายค่าชดเชยให้แก่ประชาชนตามสิทธิเพื่อให้สามารถเตรียมพื้นที่เพื่อเริ่มก่อสร้างโครงการได้ในช่วงประมาณเดือน ก.ค. 2560 นี้ ตามกรอบเวลาที่ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการประกวดราคาก่อสร้าง

มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย (มท.) ว่า สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร จะเป็นผู้จ่ายเงินช่วยเหลือให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการโครงการฯ ทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ขนย้าย โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ก่อสร้างอาคารหรือสิ่งล่วงล้ำลำน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และจากการขาดรายได้ของผู้ประกอบการ โดยนำหลักเกณฑ์และวิธีการคิดเงินค่าทดแทน การรื้อถอน ขนย้ายโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างและค่าทดแทนความเสียหายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาเป็นแนวทางในการกำหนดเงินช่วยเหลือสำหรับงบประมาณในการดำเนินการให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

ทั้งนี้ ในการจ่ายเงินค่าช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยเห็นว่า ไม่ควรสูงกว่าหรือได้รับประโยชน์มากกว่าการให้เงินค่าทดแทนกรณีผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อไม่ให้มีผู้บุกรุก พื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ ให้กรุงเทพมหานคร กำกับดูแลการจ่ายเงินฯ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขไม่ให้มีการใช้สิทธิเรียกร้องอื่นเพิ่มเติมในภายหลัง ตลอดจนให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

เผยจ่าย 2 กลุ่ม ไม่รวมทรัพย์สินของหน่วยงานราชการที่โครงการพาดผ่าน

มีรายงานว่า การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา คณะอนุกรรมการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านกฎหมาย มีอัยการสูงสุดเป็นประธาน ได้พิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบฯ โดยจัดแบ่งผู้ได้รับผลกระทบฯ ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ประกอบการต่างๆ ที่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า ผู้ปลูกสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต (ผู้บุกรุก) และทรัพย์สินของหน่วยงานราชการที่โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาพาดผ่าน

ก่อนหน้านั้น ที่ปรึกษา กทม.ได้ออกแบบโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้กำหนดแผนการดำเนินงานไว้ในระยะที่ 1 มีการจัดทำทางเดินน้ำ การปรับภูมิทัศน์เขื่อน การพัฒนาท่าเรือ การพัฒนาศาลาท่าน้ำ การพัฒนาพื้นที่บริเวณสาธารณะให้เป็นศูนย์บริการต่างๆ การพัฒนาเส้นทางเข้าพื้นที่และมีการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบคมนาคม เช่น ระบบรถไฟฟ้า

ส่วนรูปแบบโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นการสร้างทางจักรยานทางเดินริมแม่น้ำกว้างประมาณ 10 เมตร ซึ่งในการออกแบบได้นำปัญหาและข้อคิดเห็นของกลุ่มผู้คัดค้านมาพิจารณาประกอบเพื่อลดผลกระทบต่าง ๆ ได้แก่ การบดบังทัศนียภาพของแม่น้ำ แม่น้ำจะแคบลง การเดินเรือต่างๆ จะได้รับผลกระทบ การก่อสร้างเมื่อวางตอม่อลงไปในแม่น้ำจะทำให้น้ำไหลช้า กระทบกับระบบนิเวศ และประชาชนเข้าถึงโครงการได้น้อย

ส่วนการประชาสัมพันธ์ มีกรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงานหลัก ในการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง มีการสร้างความรู้ความเข้าใจในข้อคัดค้าน การตอบข้อสงสัยและเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงทางโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์และสื่อโซเชียลมีเดีย สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้จัดรายการเดินหน้าปฏิรูป ตอนเลียบฝั่งเจ้าพระยา เพื่อหาทางออกที่จะทำให้ดำเนินงานร่วมกันได้

ทั้งนี้ เมื่อโครงการฯ ได้รูปแบบที่ชัดเจนแล้ว ให้ กทม.ส่งรายละเอียดรูปแบบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย ของหน่วยงานต่างๆ ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น