xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด มท.ประชุมผู้ว่าฯ-นายอำเภอ 76 จังหวัด ซักซ้อมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ในส่วนภูมิภาค แนะใช้ “ดอกไม้ประจำจังหวัด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปลัด มท.ประชุมผู้ว่าฯ-นายอำเภอ 76 จังหวัด ซักซ้อมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ในส่วนภูมิภาค กำหนด 1 วัด 1 อำเภอจัดพิธีฯ เน้นถูกต้อง เรียบร้อย งดงาม และสมพระเกียรติ แนะตัวอย่าง “ดอกไม้ประจำจังหวัด” ตามความเหมาะสม ยกดอกเสลา-นครสวรรค์ ดอกกันเกรา-นครพนม ดอกทองกวาว-เชียงใหม่ ดอกกาหลง-สตูล เน้นใช้วัสดุธรรมชาติในพื้นที่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง กำหนด 36 แบบ เชิญชวนจิตอาสาและประชาชนทั่วไปร่วมประดิษฐ์ส่งส่วนกลาง

วันนี้ (8 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video conference) ไปยังจังหวัดทั่วประเทศ และถ่ายทอดสดผ่านระบบ DOPA ไปยังที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง เพื่อซักซ้อมแนวทางอันเกี่ยวเนื่องกับงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

นายกฤษฎาเปิดเผยว่า ตามที่มีหมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 5 วัน ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560 และที่ประชุมคณะกรรมการฝ่ายพิธีการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการจัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ของประชาชนในส่วนภูมิภาค การประชุมในวันนี้เป็นการซักซ้อมแนวทางการจัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ของประชาชนในส่วนภูมิภาค ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ ไปยังจังหวัด อำเภอ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการจัดงานในส่วนกลาง

สำหรับภารกิจอันเกี่ยวเนื่องกับการจัดงานพิธีถวายดอกไม้จันทน์ในส่วนภูมิภาค กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดจุดสำหรับดำเนินการจัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ จำนวน 878 แห่ง เท่ากับจำนวนของอำเภอทั่วประเทศ โดยจังหวัดจะจัดรวมกับอำเภอเมือง และในส่วนของกรุงเทพมหานคร ดำเนินการจำนวน 101 แห่ง รอบบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง และจุดสำคัญทั่วกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสถวายความจงรักภักดีและถวายความอาลัยอย่างทั่วถึง โดยการจัดงานในส่วนภูมิภาคสิ่งที่จังหวัดและอำเภอจะต้องดำเนินการมีสาระสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1. การเลือกสถานที่ในการจัดงานพิธี ได้แจ้งให้จังหวัดและอำเภอ พิจารณาคัดเลือกวัดหรือสถานที่เหมาะสม อาทิ วัดประจำจังหวัด/อำเภอ หรือสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด/อำเภอ เพื่อเป็นสถานที่ในการจัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ จังหวัด/อำเภอละ 1 แห่ง (ยกเว้นอำเภอเมืองให้จัดร่วมกับจังหวัด) รวมทั้งแจ้งผลการพิจารณาการจัดทำซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ หรือการประดับภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของจังหวัดและอำเภอ ให้กระทรวงมหาดไทยทราบ ตลอดจนการเตรียมพร้อมในด้านต่างๆ เช่น การประชาสัมพันธ์ การติดตั้งจอ LED การแจกจ่ายแผ่นพับประวัติศาสตร์ การบันทึกภาพนิ่งพร้อมภาพเคลื่อนไหว เป็นต้น ซึ่งในการพิจารณาคัดเลือกสถานที่ให้คำนึงถึงพื้นที่ที่เพียงพอรองรับประชาชนที่มาร่วมพิธี เน้นความสะอาด เรียบร้อย งดงาม และสมพระเกียรติ (ขณะนี้ในแต่ละพื้นที่จังหวัดและอำเภอได้มีการคัดเลือกวัดหรือสถานที่ที่เหมาะสมได้เรียบร้อยแล้ว)

2. กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งให้จังหวัดและอำเภอจัดทำดอกไม้จันทน์ โดยการจัดทำดอกไม้จันทน์ในส่วนภูมิภาค จะประกอบด้วย 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนที่ 1 ดอกไม้จันทน์สำหรับเป็นตัวแทนจังหวัดและอำเภอ เพื่อจัดส่งไปร่วมกับส่วนกลางที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยกำหนดให้แต่ละจังหวัดออกแบบและจัดทำดอกไม้จันทน์ในลักษณะของดอกไม้ประจำจังหวัด โดยให้มีความเหมาะสม เช่น ดอกเสลา ดอกไม้ประจำจังหวัดนครสวรรค์, ดอกกันเกรา ดอกไม้ประจำจังหวัดนครพนม, ดอกทองกวาว ดอกไม้ประจำจังหวัดเชียงใหม่, ดอกกาหลง ดอกไม้ประจำจังหวัดสตูล เป็นต้น ซึ่งกำหนดให้ใช้วัสดุธรรมชาติที่มีในพื้นที่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ส่วนที่ 2 ดอกไม้จันทน์สำหรับประชาชน ในการเข้าร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ในพื้นที่ ให้จังหวัดและอำเภอประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนที่มีจิตอาสา ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา และกลุ่มมวลชนต่างๆ เข้าร่วมในการจัดทำดอกไม้จันทน์ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ โดยรูปแบบการจัดทำดอกไม้จันทน์ได้จัดเตรียมไว้จำนวน 36 แบบ รายละเอียดตามเว็บไซต์ www.cdd.go.th

3. การจัดแสดงนิทรรศการ และมหรสพวัฒนธรรมไทย กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งให้จังหวัดและอำเภอจัดเตรียมข้อมูลภาพพระราชประวัติและภาพพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงงานในพื้นที่จังหวัด/อำเภอ อาทิ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำหรับใช้ในการจัดแสดงนิทรรศการ เพื่อให้ประชาชนได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในบริเวณสถานที่จัดพิธีฯ

สำหรับการจัดแสดงมหรสพวัฒนธรรมไทย ในห้วงเวลาจัดงานถวายดอกไม้จันทน์ ให้คณะกรรมการอำนวยการจัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ระดับจังหวัดและอำเภอ พิจารณาตามความเหมาะสม โดยหลักการให้จัดแสดงศิลปวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และความสามัคคีปรองดอง นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำถึงการดูแลอำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชนที่จะเข้าร่วมพิธีดังกล่าว โดยให้ทุกจังหวัดและอำเภอได้จัดเตรียมความพร้อมของสถานที่ ไฟฟ้า น้ำประปา แพทย์ พยาบาล ห้องสุขา การดูแลทำความสะอาดบริเวณสถานที่ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการจัดพิธี รวมถึงการรักษาความปลอดภัยและระบบการจราจร เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งให้จังหวัดและอำเภอจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ระดับจังหวัดและอำเภอ เพื่อบูรณาการดำเนินการอันเกี่ยวเนื่องกับพิธีถวายดอกไม้จันทน์ของจังหวัดและอำเภอ โดยมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนในจังหวัดและอำเภอได้มีส่วนร่วมในงานพิธีถวายดอกไม้จันทน์ โอกาสนี้ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนจิตอาสาได้ร่วมกันจัดทำดอกไม้จันทน์ในงานพิธีถวายดอกไม้จันทน์ในจังหวัดและอำเภอเพื่อแสดงความจงรักภักดี และร่วมถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างพร้อมเพรียงกัน

ต่อจากนั้น ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต (ศจพ.) ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และนายอำเภอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 แก่ประชาชนทุกคนในประเทศ เพื่อให้เกิดการรับรู้และนำไปปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต จากนั้นได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดให้น้อมนำแนวทางพระราชดำริมาบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะมีฝนตกมากกว่าทุกปี และในช่วงเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเดือนมิถุนายนนี้

มีรายงานว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทยขอให้ผู้ว่าฯ และนายอำเภอ จัดประชุม ศจพ.จังหวัด และ ศจพ.อำเภอ เพื่อถ่ายทอดสู่ประชาชน และดำเนินการแต่งตั้ง “ทีมครูฝึกระบบตำบล” ตามความเหมาะสมเพื่อถ่ายทอดความรู้แก่ประชาชนทุกหมู่บ้าน/ชุมชน โดยแบ่งพื้นที่ครูฝึก จัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับหลักสูตรที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้อย่างตอเนื่อง




กำลังโหลดความคิดเห็น