xs
xsm
sm
md
lg

“วิลาศ” ปูดที่ปรึกษา ช.การช่าง นั่งบอร์ดเจรจารถไฟฟ้าน้ำเงิน ส่อผลประโยชน์ทับซ้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิลาศ จันทร์พิทักษ์  อดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
อดีต ส.ส.ปชป.แฉคมนาคม-รฟม.ตั้งที่ปรึกษา ช.การช่าง นั่งบอร์ดสองชุด เจรจารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ส่อผลประโยชน์ทับซ้อน แนะเป็นเหตุทบทวนสัญญาได้ กังขารองผู้ว่าฯ รฟม.นั่งประธานดูแลโครงการที่ ช.การช่างเป็นคู่สัญญา เคยถูก สตง.ชี้ เข้าข่ายผิด กม. เหตุให้ รฟม.จ่ายชดเชย ช.การช่าง 290 ล้าน รับสุดท้อหลังมีแต่เสียเงิน-เพิ่มศัตรู เหมือนเป่าปี่ให้เครื่องบินฟัง แต่จำต้องรักษาประโยชน์ชาติ



วันนี้ (7 พ.ค.) นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่มีการรวมสามสัญญาสัมปทานเป็นสัญญาเดียว และกำหนดให้เอกชนมีผลตอบแทนเกินร้อยละ 9.75 ก่อนจึงจะแบ่งส่วนแบ่งให้รัฐว่า ยังยืนยันว่าจะทำให้รัฐขาดรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท แม้ว่าโครงการนี้จะมีการเซ็นสัญญาไปแล้วยกเลิกยาก แต่ตนพบว่ามีเหตุที่รัฐบาลสามารถนำมาใช้เป็นเหตุผลในการทบทวนหรือยกเลิกสัญญาได้ คือ กรณีการแต่งตั้งบุคคลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้าไปทำหน้าที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 และคณะกรรมการกำกับดูแลตามมาตรา 43 ของ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐปี 2556 ซึ่งคณะกรรมการสองชุดนี้มีหน้าที่ในการเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม คือ บีอีเอ็ม บริษัทลูกของ ช.การช่าง ตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 42/59 โดยคนที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการของทั้งสองคณะคือ นายนพดล เพียรเวช ที่ปรึกษาบริษัท ช.การช่างซึ่งถือว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน

นายวิลาศตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้อาจจะมีการทำอย่างเป็นขบวนการ เริ่มจากมีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินการโครงการเดิมที่ให้มีการประกวดราคามาเป็นให้ใช้การเจรจาและให้ใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 แทนปี 2535 ตามมติ ครม.6 ตุลาคม 2558 และมีการคณะกรรมการสองคณะคื อคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 และคณะกรรมการกำกับดูแลตามมาตรา 43 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 ซึ่งบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการทั้งสองชุด คือ นายนพดล เพียรเวช แม้ว่าจะเป็นคนเก่งแต่มีปัญหาว่านายนพดลเป็นที่ปรึกษาของบริษัท ช.การช่าง ถามว่าโดยมารยาทควรหรือไม่ เพราะเป็นที่ปรึกษาบริษัทที่จะมาเป็นคู่สัญญา

“มีมนุษย์ที่ไหนเขาทำกัน เพราะฉะนั้นผมกล่าวหาว่าไม่สมควร เนื่องจากกรรมการสองคณะตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 42/59 มีหน้าที่เจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิมโดยให้โครงการนี้สิ้นสุดพร้อมกันและทำให้เป็นโครงข่ายเดียวกัน แก้ไขสัญญาร่วมทุน ซึ่งในการเจรจาก็มีการจับรวมเป็นสายเดียวกันหมดโดยไม่แยกสัญญาสัมปทาน ทำให้รัฐเสียประโยชน์” นายวิลาศกล่าว

อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงการตั้งนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการ รฟม.ฝ่ายวิศวกรรมและก่อสร้าง ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 โครงการนี้ว่า เป็นบุคคลที่เคยให้ รฟม.ชดเชยเงิน 290 ล้านบาทให้กับบริษัท ช.การช่าง จากกรณีน้ำซึมสถานีรถไฟฟ้าสนามไชย ซึ่ง สตง.ลงมติว่าเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่และอยู่ในระหว่างให้ คตง.อนุมัติ แต่กลับได้รับการแต่งตั้งให้ดูแลโครงการที่ ช.การช่าง เป็นคู่สัญญา จึงสงสัยว่าทำไมคณะกรรมการคัดเลือกสายสีน้ำเงินประธานต้องเป็นนายภคพงศ์ ทั้งที่สายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ประธานคือรองผู้ว่าการ รฟม.ฝ่ายกลยุทธ์และแผน เช่นเดียวกับสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง

“ไม่รู้ว่าทำไมนายภคพงศ์ถึงได้ดวงสมพงษ์กับ ช.การช่าง ผมคิดว่าเหตุการณ์ทั้งหมดน่าจะเป็นเหตุผลพอสมควรเพราะมีการกล่าวหาว่าการทำสัญญาดังกล่าวประเทศชาติเสียหาย แม้จะมีการเซ็นสัญญาแล้วยกเลิ กลำบาก แต่การแต่งตั้งบุคคลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนก็น่าจะเป็นเหตุให้ยกเลิกสัญญาได้ นายกฯ พูดตลอดอยากเอาคนผิดเข้าคุก กรณีนี้มีเหตุผลให้ทบทวนแล้ว จึงขอให้นำสัญญาดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของซูเปอร์บอร์ด ตามคำสั่ง คสช.11/60 ให้ตรวจสอบสัญญานี้อีกครั้งและดูด้วยว่ามีคนทุจริตหรือไม่” นายวิลาศกล่าว

นายวิลาศยังกล่าวด้วยว่า การตรวจสอบเรื่องทุจริตที่ผ่านมาไม่มีผลตอบแทนใดๆ มีแต่ทำแล้วเสียเงินแถมยังมีศัตรูเพิ่ม แต่คนรับผิดชอบกลับไม่สนใจ ทำให้บางครั้งก็คิดว่าควรจะทบทวนยุติบทบาทหรือไม่ เพราะเหมือนกับเป่าปี่ให้เครื่องบินฟัง ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้ยิน โครงการนี้ไม่ใช่บาทสองบาท เฉพาะเงินลงทุนของรัฐทั้งหมดกว่า 2 แสนล้าน และรัฐต้องเสียรายได้จากการคำนวณคร่าวๆ ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้าน โดยส่วนตัวเห็นว่าถ้าปล่อยให้โครงการนี้เดินหน้าก็น่าจะลบประเทศไทยออกจากแผนที่โลก เพราะชัดเจนมากแต่ไม่เห็นใครชี้แจงเรื่องตัวเลขว่าชาติไหนรัฐจะได้ส่วนแบ่งตามสัญญาใหม่ที่กำหนดจะได้ก็ต่อเมื่อเอกชนได้ผลตอบแทนเกินร้อยละ 9.75 จึงหวังว่านายกรัฐมนตรีจะรับฟังและส่งเรื่องให้ซูเปอร์บอร์ดตรวจสอบเพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติ แต่ถ้าไม่มีการดำเนินการตนคงจะต้องขยายผลต่อว่ามีใครบ้างที่ถือหุ้นอยู่ใน ช.การช่าง
กำลังโหลดความคิดเห็น