xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ถกป้องกันทุจริตภาคเอกชน ป.ป.ช.ค้านตั้ง ส.ป.อ. ชี้มีหน่วยงานเพียงพอแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประชุม สนช.ถกส่งเสริมสนับสนุนธรรมาภิบาล ป้องกันทุจริตที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน ป.ป.ช.ค้านตั้ง ส.ป.อ.ดูแลทุจริต ชี้ทำงานซ้ำซ้อน ป.ป.ช. มองกฎหมายครอบคลุมอยู่แล้ว ขาดบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงาน ไม่หนุนตั้งเพิ่ม ประธาน กมธ.พาณิชย์ แนะให้ ป.ป.ช.ดูแลแทน

วันนี้ (4 พ.ค.) ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้รับทราบผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สนช. เรื่อง การส่งเสริมสนับสนุนธรรมาภิบาล และการป้องกันปราบปรามการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน โดยที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 60 รับทราบผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะดังกล่าว

โดยนายกิตติ ลิ้มพงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้แจงว่า จากการนำข้อเสนอแนะคณะกรรมาธิการฯ ไปร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นด้วยกับหลักการของรายงานฉบับนี้ที่มีเจตนารมณ์ดีกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน แต่ข้อเสนอวิธีการปฏิบัติที่หน่วยงานส่วนใหญ่ ยกเว้นกระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่เห็นด้วยต่อโครงสร้างของรูปแบบสมมติฐานในการกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมสนับสนุนธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน หรือคณะกรรมการ ส.ป.อ. รวมถึงการจัดตั้งศูนย์อำนวยการคณะกรรมการ ส.ป.อ. เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันมีสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งในภาครัฐและเอกชน ประกอบกับมีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่มีมาตรการฐานส่งเสริมสนับสนุนการป้องกันปราบปรามการทุจริตอยู่แล้ว หากจะมีการจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าว อาจมีอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อน ไม่คุ้มค่ากับทรัพยากร และงบประมาณในการดำเนินการ

ด้าน พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สนช. อภิปรายว่า เรื่องของการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ เป็นเรื่องที่เรามีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 เพื่อให้ประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกองค์กรสหประชาชาติต้องออกกฎหมายภายในแต่ละประเทศให้ไปในแนวทางเดียวกัน จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ พบว่า การทุจริตสามารถเกิดได้จากข้าราชการ นักการเมือง และภาคเอกชน ซึ่งข้าราชการ และนักการเมืองมี ป.ป.ช. และ ป.ป.ท.ดูแลเรื่องการทุจริตอยู่แล้ว เมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการป้องกันการทุจริต เห็นด้วยกับหลักการของกฎหมายนี้ แต่ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งองค์กรใหม่ ทางคณะกรรมาธิการฯ จึงอยากให้ ป.ป.ช.รับเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้ได้หรือไม่ โดยการเพิ่มอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับดูแลการทุจริตในภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

ขณะที่ พล.อ.ดนัย มีชูเวท สมาชิก สนช.อภิปรายว่า แม้จะให้เหตุผลว่าการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ทำให้เสียงบประมาณและทำงานซ้ำซ้อนกัน แต่ตนมองว่า ป.ป.ช., ป.ป.ท. และ ก.ล.ต.ยังมีการทำงานแยกกันอยู่ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้มีการประสานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการบูรณาการปราบปรามและป้องกันการทุจริตที่เกิดจากภาครัฐ ภาคการเมือง และภาคเอกชน หรือจะดำเนินการอย่างไรให้เป็นไปตามมาตรฐานนี้โดยไม่ต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่

ทั้งนี้ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช.ชี้แจงว่า บทสรุปทุกหน่วยเห็นชอบตรงกันให้มีกฎหมาย แต่ในส่วนที่มีปัญหาคือกระบวนการจัดการของหน่วยงาน เกี่ยวกับอนุสัญญา ป.ป.ช.ได้มีการปรับแก้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 3 และเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 4 เพิ่มเกี่ยวกับภาคเอกชนในบางส่วน แต่กระบวนการว่า ป.ป.ช.จะสามารถรับผิดชอบโดยตรงได้หรือไม่นั้น ในเบื้องต้นเห็นตรงกันว่ากฎหมายที่มีอยู่มีความครอบคลุมแล้ว แต่อาจจะขาดในส่วนการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน และไม่ควรตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ เพราะหน่วยงานที่มีอยู่เพียงพอแล้ว










กำลังโหลดความคิดเห็น