ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมกรรมการ บุกกองทัพเรือ ถก ผบ.ทร.ปมซื้อเรือดำน้ำนาน 1 ชั่วโมง เผยตั้งทีมพิเศษตรวจโครงการ ใช้ ผอ.สำนัก 5 คนเป็น กก. บอกเห็นเอกสารลับแล้วแต่เอามาไม่ได้ ต้องมาขอดูทุกวัน คาดใช้เวลาเช็ก 1 สัปดาห์ได้รับความกระจ่าง รับไร้ข้อห้ามเซ็นจีน แต่จะเตือนเมื่อพบนัยยะสำคัญ พร้อมสอบไปเรื่อยๆ จนกว่าจะส่งมอบ ยันมีอิสระ ไม่กลัวอิทธิพลการเมือง
วันนี้ (4 พ.ค.) ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ เมื่อเวลา 08.30 น. นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการระดับผู้ใหญ่ใน สตง.อีกจำนวน 5 คน เดินทางไปยังกองบัญชาการกองทัพเรือ (วังเดิม) เข้าพบ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ เพื่อขอรายละเอียดสัญญาการจัดซื้อโครงการเรือดำน้ำ ทั้งกระบวนการใช้งบประมาณ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำ TOR ขึ้นไป โดยการตรวจสอบเป็นไปตามหลักสากลซึ่งเป็นไปลักษณะของการทดสอบการใช้งบประมาณ บัญชีการจัดซื้อ รวมถึงค่าใช้จ่ายต่อจากนี้ในการดูแล โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง
จากนั้นเวลา 09.30 น. นายพิศิษฐ์กล่าวว่า สตง.ได้ขอพบ ผบ.ทร.เพื่อขอตรวจข้อมูลโครงการจัดหาเรือดำน้ำอย่างเป็นทางการ โดยเรามีการจัดตั้งทีมงานพิเศษขึ้นมาเพื่อตรวจโครงการดังกล่าวซึ่งเป็นผู้มีความรับผิดชอบในระดับสูงเทียบเท่าเป็นผู้อำนวยการสำนัก จำนวน 5 คน ที่รับผิดชอบในงานตรวจสอบทางด้านการจัดหาพัสดุ และบัญชีการเงิน และผู้ช่วยอีก 2 คน ส่วนให้เอกสารที่ตรวจสอบเป็นเอกสารลับที่ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ โดนคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ในการตรวจสอบหลักฐานก็จะได้รับความกระจ่าง ตั้งแต่วันนี้ย้อนหลังไป ตั้งแต่วันที่เอกสารเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่ามีเหตุผลความจำเป็นอย่างไร กระบวนการขั้นตอนต่างๆ ทำตามระเบียบแบบแผนหรือไม่ และกฎหมายระเบียบข้อบังคับตามหลักเกณฑ์การจัดหา ตลอดจนการเปรียบเทียบข้อมูลคุณสมบัติเรือหลายประเทศ รวมทั้งเหตุผลที่เลือกเรือดำน้ำจีน
นายพิศิษฐ์กล่าวต่อว่า การมาตรวจสอบครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจาก ทร.อย่างดี เนื่องจากเป็นเอกสารลับเราจะไม่นำเอกสารกลับไป แต่จะมาตรวจสอบที่ ทร.ทุกวันจนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยยึดหลักจรวจสอบของ สตง. พร้อมทั้งนำประเด็นข้อสงสัยของสังคม เช่น นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสามคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ตั้งไว้ 7-8 ประเด็น ตลอดจนข้อชี้แจงของ ทร.ที่แถลงข่าวไปก่อนหน้านี้มาประกอบการพิจารณาด้วย
เมื่อถามว่า ระหว่างที่ตรวจสอบเอกสาร ทร.สามารถเซ็นสัญญากับจีนได้หรือไม่ นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ไม่มีข้อห้าม หาก สตง.มีข้อสังเกตเพื่อรักษาผลประโยชน์จะให้ข้อแนะนำประกอบการตัดสินใจ ทร.เป็นระยะ เนื่องจาก ทร.รับผิดชอบการบริหาร
“ในฐานะที่ สตง.มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์เงินแผ่นดิน ถ้าระหว่างที่ ทร.กำลังเซ็นสัญญาซื้อเรือดำน้ำ ถ้าข้อสังเกตมีนัยสำคัญที่ควรนำไปประกอบการพิจารณาของ ทร. หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เราจะรีบแจ้งเตือน ทร.ทันที” นายพิศิษฐ์กล่าว
นายพิศิษฐ์กล่าวอีกว่า ในอดีต สตง.เราเคยตรวจสอบการจัดซื้อโครงการต่างๆ ของ ทร.เช่น เรือฟริเกต เรือ ต.3 และโครงการการจัดซื้อเรือดำน้ำมือ 2 จากเยอรมนี 6 ลำ เราให้ข้อสังเกตไปสุดท้ายก็ไม่ได้ซื้อ ดังนั้นเรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าระหว่างการตรวจสอบมีเรื่องสำคัญที่จะตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด เราจะให้ข้อแนะนำประกอบการพิจารณา ส่วนจะระงับยับยั้งหรือไม่ ก็อยู่ในความรับผิดชอบของ ทร.
ผู้ว่าฯ สตง.กล่าวอีกว่า เราจะดำเนินการตรวจสอบโครงการการจัดซื้อเรือดำน้ำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รับการส่งมอบ เรื่องจากเป็นงบประมาณผูกพัน หากเซ็นสัญญาเมื่อไหร่เราจะไม่ละเลยการตรวจสอบ เช่นกระบวนการจัดซื้อได้ทำแล้ว การจ่ายเงินงวดเป็นไปตามเนื้องานหรือไม่ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ไม่บรรลุตามข้อสัญญา ขณะนี้เจ้าหน้าที่ สตง.อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสาร พร้อมทั้งย้ำว่าเจ้าหน้าที่ สตง.ทุกคนมีประสบการณ์เพราะผ่านการตรวจสอบโครงการต่างๆ ของ ทร.มาแล้ว โดยทราบว่ามีการจ่ายเงินไปงวดแรก 700 ล้านบาท และปีต่อไปจะเป็นงบผูกพันไม่เกิน 2 พันล้านบาท
“ผมยืนยันว่า สตง.มีอิสระในการตรวจสอบ จากผลงานที่ผ่านมาเห็นได้ว่าไม่มีเรื่องใดที่ สตง.จะกลัวอิทธิพลทางการเมือง ทุกอย่างเราดำเนินการตามหลักฐานข้อเท็จจริง ทั้งการเงิน การคลัง และงบประมาณ ตลอดจนการทำสัญญารัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาทั้งการซื้อขายมันสำปะหลังแบบจีทูจี โครงการรับจำนำข้าวซึ่งเป็นเท็จหมด ดังนั้นจึงต้องให้ความระเบียบรอบคอบ แต่โครงการนี้ไม่ใช่ขายลมส่งลมกัน ดังนั้นจะต้องมีตัวของที่เป็นเรือดำน้ำ” นายพิศิษฐ์กล่าว