เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยนัดยื่นศาลรัฐธรรมนูญ 9 พ.ค. นี้ เพื่อให้วินิจฉัยการทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมฯ ขัด รธน. มาตรา 77 และอีกหลายมาตรา หรือไม่ ชี้ ละเมิดสิทธิรับฟังความเห็น ปราศจากการวิเคราะห์ผลกระทบรอบด้าน ไม่เปิดเผยผลการรับฟังความเห็นและการวิเคราะห์ต่อประชาชน พร้อมยื่นนายกฯ - ประธาน สนช. นำร่างกลับมาทบทวนแก้ไข
วันนี้ (2 พ.ค.) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ได้แถลงข่าวมาตรการเคลื่อนไหว กรณีร่าง พ.ร.บ.. ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. ....ที่ผ่านการลงมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐบาลเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยได้อ่านแถลงการณ์เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ฉบับที่ 2/2560 เรื่อง มาตรการหยุดยั้ง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม อัปยศ ชิงตัดหน้าก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 มีรายละเอียดดังนี้
จากกรณีที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้แถลงข่าวทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ เพื่อขอให้ระงับการทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เพื่อทบทวนการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังที่ทราบแล้วนั้น กลับปรากฏว่า ทั้งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีกลับเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว และไม่ดำเนินการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยเพื่อให้เกิดความชัดเจนในร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. ....ก่อนการทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีการตัดมาตรา ๑๐/๑ ในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อพร้อม ออกไปจากวาระการประชุมโดยไม่ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการตามข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นการถอนมาตรา มาตรา ๑๐/๑ ออกไปทั้งๆ ที่มาจากมติคณะรัฐมนตรีเอง และยังไม่มีการลงมติโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดอีกด้วย นอกจากนั้น ยังพบว่าการตรากฎหมายดังกล่าวไม่ได้คำนึงถึงส่วนรวมของประเทศชาติอย่างแท้จริง ขาดความรอบคอบ ไม่ระมัดระวัง ในการดำเนินการกิจการต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม ไม่ยึดถือและไม่ปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ไม่มีการวิเคราะห์กฎหมายอย่างเป็นระบบรอบด้าน ไม่มีการเปิดเผยผลการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชนในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน และเป็นร่างกฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรม อันอาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาตรา ๑๓ วรรคสอง และมาตรา ๑๕ และอาจขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๔๓ (๒), มาตรา ๗๗ วรรคสอง, มาตรา ๘๑, มาตรา ๑๒๒, มาตรา ๑๒๘, มาตรา ๑๖๔ อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังปรากฏด้วยว่าร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ นั้น ขัดแย้งกับผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และ พ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งผ่านความเห็นชอบโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติเอง อีกทั้งขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับรายงานของอนุกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ รวมทั้งไม่ฟังเสียงคัดค้านและทักท้วงจากประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตลอดจนไม่สนใจเสียงคัดค้านจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่สนใจเสียงคัดค้านกฎหมายดังกล่าวจากประชาชนที่เข้าชื่อกันมากกว่า ๒ หมื่นรายชื่อ
การกระทำดังกล่าวข้างต้นแสดงเห็นว่ารัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ยึดหลักความถูกต้องจากผลการศึกษาจากหน่วยงานของรัฐเอง ไม่สนใจผลการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และไม่สนใจข้อทักท้วงจากองค์กรตรวจสอบอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับปฏิบัติตามเหมือนข้อเรียกร้องของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และกลุ่มทุนพลังงานเพียงไม่กี่คน จนเป็นที่สงสัยว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามประเพณีการปฏิบัติตนในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทยหรือไม่?
ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่มีกลุ่มทุนพลังงานบางคนได้ออกค่าใช้จ่ายให้กลุ่มสื่อมวลชนเดินทางไปดูงานต่างประเทศ แล้วเมื่อสื่อมวลชนบางคนในกลุ่มดังกล่าวกลับมาก็เขียน หรือแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อต่อต้านการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติโดยใช้เนื้อหาเดียวกัน ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่ามีขบวนการในการครอบงำสื่อมวลชน และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อทำลายการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงานใช่หรือไม่?
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... คือ การเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างบริการเข้ามาในร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เพราะเหตุที่ว่าใน พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติให้ใช้เฉพาะระบบสัมปทานระบบเดียว แต่กฎหมายได้กำหนดให้ต่ออายุสัมปทานการผลิตแก่เอกชนได้เพียง ๑ ครั้ง ซึ่งมีแปลงสัมปทานแปลงใหญ่ที่สุดในอ่าวไทย ๒ แปลง คือ แปลงเอราวัณและแปลงบงกช ที่จะไม่สามารถต่ออายุสัมปทานให้เอกชนได้อีกตามกฎหมาย หลังสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ และ ๒๕๖๖ ตามลำดับ ดังนั้น การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... จึงเป็นการแก้ไข พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อแก้ปัญหาที่ไม่สามารถต่ออายุสัญญาสัมปทานในแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ที่แม้หมดอายุสัญญาสัมปทานแล้ว แต่ยังมีปริมาณปิโตรเลียมเหลืออยู่เป็นจำนวนมหาศาล
สาระสำคัญของร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... คือ การเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างบริการ ซึ่งทั้ง ๒ ระบบนี้ จำเป็นต้องมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ หรือบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นโครงสร้างและกลไกรองรับในการปฏิบัติ
การตัดมาตรา ๑๐/๑ ซึ่งบัญญัติให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อพร้อมออกไป จึงเป็นการทำให้ระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างบริการไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เพราะรัฐไม่มีหน่วยงาน คือ บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นผู้ขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมในส่วนที่เป็นของรัฐในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือจ้างบริการได้ จึงต้องฝากเอกชนเป็นผู้บริหารและขายปิโตรเลียมแทนรัฐเหมือนกับระบบสัมปทาน การกระทำเช่นนี้จึงเข้าข่ายเป็นการตรากฎหมายเพื่ออำพรางระบบสัมปทานที่จะนำมาใช้ต่ออายุในแปลงเอราวัณ และบงกช ต่อไป จึงน่าจะขัดต่อหลักธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๖๔
การตัดเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในมาตรา ๑๐/๑ นั้น เป็นการกำหนดเงื่อนไขให้รัฐจะต้องมอบให้บริษัทเอกชนที่เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตเป็นผู้ขายปิโตรเลียมส่วนที่เป็นของรัฐแทน ซึ่งก็จะประสบปัญหาในการตรวจสอบ เพราะสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบบริษัทเอกชนเพื่อให้แน่ใจว่าราคาขายดังกล่าวเป็นราคาสูงสุดที่รัฐพึงจะได้รับ และเป็นธรรมแก่รัฐ
ส่วนการจะมอบให้กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่นี้ ก็จะไม่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชนส่วนรวมเช่นกัน เพราะรายได้และกำไรส่วนหนึ่งจะตกไปเป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นเอกชน ไม่ว่าผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย หรือผู้ถือหุ้นสัญชาติต่างประเทศ
หากจะมอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นผู้ทำหน้าที่ผู้ขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมในส่วนที่เป็นของรัฐก็จะไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้จริงในทางปฏิบัติเพราะเนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับการแบ่งหน้าที่ส่วนราชการมิได้อนุญาตให้ส่วนราชการใดๆ ทำหน้าที่เป็นผู้ขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมในเชิงธุรกิจ
การพิจารณาผ่านร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... โดยตัดมาตรา ๑๐/๑ จึงเป็นการตรากฎหมายที่ขาดความรอบคอบ และไม่ระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม ไม่ยึดถือและไม่ปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
ทั้งนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ชิงตัดหน้าลงมติผ่านความเห็นชอบในวาระ ๒ และ ๓ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ก่อนวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นวันที่พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ นั้น ก็เพื่อหวังผลที่จะตรากฎหมาย พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... โดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนในมาตรา ๗๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ทั้งการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์อย่างเป็นระบบรอบด้าน การเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ต่อประชาชน ใช่หรือไม่?
อย่างไรก็ตาม นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเลือกวันลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ในวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ ซึ่งนอกจากจะเป็นวันจักรีอันเป็นวันมหามงคล และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกในรัชสมัยนี้แล้ว ยังเป็นช่วงเวลาก่อนที่จะมีการทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. ....อีกด้วย
ในคราวที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระราชดําริว่าสมควรพระราชทานพระราชานุมัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ นั้น ทรงให้ประกาศด้วยว่านายกรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลความตอนหนึ่งว่า
“การปกครองก็มิได้มีเสถียรภาพ หรือราบรื่นเรียบร้อยเพราะยังคงประสบปัญหาและข้อขัดแย้ง ต่างๆ บางครั้งเป็นวิกฤติทางรัฐธรรมนูญที่หา ทางออกไม่ได้ เหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีผู้ไม่นำพาหรือไม่นับถือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉล หรือบิดเบือนอำนาจ หรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล ซึ่งจำต้องป้องกันและแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้ กฎหมาย และเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม"
ประชาชนจึงย่อมมีความคาดหวังว่านับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว การตรากฎหมายและการใช้อำนาจนั้น จะต้องทำไปด้วยความเกรงต่อกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ขจัดการทุจริตฉ้อฉลและหยุดการบิดเบือนอำนาจ ผู้มีอำนาจจะต้องตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน และบังคับใช้รัฐธรรมนูญให้เป็นผลด้วยระบบคุณธรรมและจริยธรรมตามที่ปรากฏในการประกาศไว้ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ด้วย
ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ไว้ ณ วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ รัฐจึงต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเคร่งครัดโดยทันทีนับตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งย่อมหมายความรวมถึงการตรา พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... จะต้องชอบด้วยมาตรา ๗๗ วรรคสอง ที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ด้วย นับตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐
ทั้งนี้ บทบัญญัติ มาตรา ๗๗ วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ บัญญัติว่า :
"ก่อนตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ....”
จะเห็นได้ว่า การตรากฎหมายตามมาตรานี้กำหนดเงื่อนไขเวลาในการจัดทำกฎหมายเอาไว้ว่า จะต้องทำ “ก่อนตรากฎหมายทุกฉบับ” และ การรับฟังความเห็นและการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบต้องนำมาประกอบการพิจารณา “ทุกขั้นตอน”
และเมื่อมาตรา ๗๗ วรรคสอง ไม่ได้ใช้คำว่า “ก่อนการพิจารณากฎหมายสิ้นสุด” แต่ใช้คำว่า “ก่อนตรากฎหมายทุกฉบับ” ย่อมแสดงให้เห็นว่าถึงแม้การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ แต่เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ แล้ว และยังไม่ได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายและพระมหากษัตริย์ทรงยังไม่ได้ลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ย่อมแสดงว่าการตรากฎหมายปิโตรเลียมยังไม่เสร็จสิ้น และยังมีช่วงเวลาก่อนตรากฎหมายอยู่ที่จะทำตามมาตรา ๗๗ วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปรากฏความจริงว่าเลขาสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ส่งร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เพื่อส่งไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ย่อมแสดงให้เห็นว่าการบังคับใช้มาตรา ๗๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มีผลบังคับใช้วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ อันเป็นช่วงเวลาก่อนการทูลเกล้าฯถวาย ร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงย่อมยังอยู่ในช่วง “ก่อนตรากฎหมาย” อยู่
และเมื่อความจริงปรากฏก่อนหน้านั้น ว่า เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีทุกท่านเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ถึงวิธีการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งรวมถึงมีการสรุปรายละเอียดเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว ดังนั้นเมื่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับเรื่องจากเลขาสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ แล้ว คณะรัฐมนตรีย่อมสามารถจัดให้มีการปฏิบัติตามมาตรา ๗๗ วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้ตามที่ได้ทำหนังสือเวียนเอาไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ถึงวิธีปฏิบัติการดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐
เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ทำตามมาตรา ๗๗ ในทุกขั้นตอน ดังนั้น “ขั้นตอน”นับตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้นมาคือ ก่อนการทูลเกล้าฯถวาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. ....เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยนั้น จะต้องมีการดำเนินการรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบอย่างเป็นระบบมาประกอบการพิจารณา และเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ ให้ครบถ้วนเป็นไปตามมาตรา ๗๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เสียก่อน และมาตรา ๗๗ ก็จะยกเว้นได้แต่เฉพาะร่างกฎหมายที่ได้ผ่านการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวไว้ก่อนหน้าแล้วเท่านั้น
แต่เมื่อร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างเป็นระบบ และถูกละเมิดสิทธิที่ผลการรับฟังความคิดเห็นรวมถึงการวิเคราะห์นั้นไม่ได้เปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบก่อนการทูลเกล้าฯ ถวายกฎหมายดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา ๗๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการที่จะได้รับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง เป็นการละเมิดสิทธิเพราะปราศจากการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเป็นการละเมิดสิทธิเพราะไม่ได้มีการเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชนทั่วไป
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ในฐานะประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ถูกละเมิดสิทธิ จึงย่อมมีสิทธิอาศัยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๓, มาตรา ๔, มาตรา ๕, มาตรา ๒๑๓ เพื่อรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทั้งปวงและผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่า การทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. ...นั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๗๗ วรรคสอง และมาตราอื่นๆ ต่อไป
จึงขอเรียนเชิญสื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนมาร่วมกันเป็นสักขีพยานในการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๓ เพื่อตรวจสอบแสวงหาการวินิจฉัย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. ....อันจะนำไปสู่การหยุดยั้งผู้ไม่นำพาหรือไม่นับถือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉลหรือบิดเบือนอำนาจ หรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน จนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล และร่วมกันเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันอังคารที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ศาลรัฐธรรมนูญ
ด้วยจิตคารวะ
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)
ณ อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา
วันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐
นอกจากนี้ คปพ.ยังได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้นำร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ กลับมาทบทวนแก้ไขบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย
รายละเอียดหนังสือเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.)ถึงนายกรัฐมนตรี
รายละเอียดหนังสือเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.)ถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ