“บิ๊กปุย” นำ ผบ.เหล่าทัพ - ตร. รับชม 4 เหล่าทัพผนึกกำลังฝึกภาคทะเล ทร. บน “เรือจักรีนฤเบศร” พร้อมพอใจทีม เสธ.ทร. ชี้แจงโครงการเรือดำน้ำละเอียดยิบ
วันนี้ (2 พ.ค.) เวลา 13.00 น. พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมด้วย พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เดินทางตรวจเยี่ยมการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2560 ในส่วนของภาคทะเล โดยมี พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ เมื่อผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาถึง รับการยิงสลุตจำนวน 19 นัด จากเรือหลวงตากสิน และกล่าวให้โอวาทกำลังพลในกองอำนวยการฝึก และหมู่เรือในทะเล ประกอบด้วย เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน เรือหลวงเจ้าพระยา และ เรือหลวงอ่างทอง
จากนั้นได้ชมการสาธิตการปฏิบัติการร่วมระหว่างกองทัพเรือ และ กองทัพอากาศในห้องศูนย์ยุทธการ ซึ่งการสาธิตประกอบด้วย การป้องกันภัยทางอากาศให้กองเรือ การสนับสนุนการโจมตีเรือผิวน้ำข้าศึกระยะไกล และการป้องกันภัยทางอากาศของกองเรือ โดยช่วงฝึกป้องกันภัยทางอากาศของทอ. ประกอบด้วย เรื่องบิน กริพเพน 4ลำ เครื่องบิน SAAB-340 จำนวน 1 ลำ และ F-16 จำนวน 6 ลำ ต่อมาชม FLY BY ของเครื่องบินกองทัพอากาศ 2 เที่ยวบิน ทำการบินเป็นหมู่ ต่อด้วยการมสาธิตการปฏิบัติของเรือ พ. (ของหน่วย Navy seal) สาธิตการค้นเรือประมงต้องสงสัยของศูนย์ปฏิบัติการในการรักษาผลประโยชน์ของาติทางทะเล (ศรชล.) มีเรือของตำรวจน้ำเข้าร่วมด้วยและเฮลิคอปเตอร์แบบลำเลียง WC-645 พร้อมพลซุ่มยิง เข้าร่วมปฏิบัติการด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การฝึกกองทัพเรือปีนี้ มีกองทัพบกเข้าร่วมการฝึกเป็นครั้งแรกโดยจัดกำลัง 2 กองร้อยทหารราบยานเกราะล้อยาง 17 คัน รถถัง 4 คัน จากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และ เรือตรวจการณ์ 1 ลำ ของกองบังคับการตำรวจน้ำ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าร่วมเป็นครั้งแรก หลังจากการฝึกร่วมปีที่แล้ว กองทัพอากาศเข้าร่วมเป็นครั้งแรก ทำให้การฝึก ทร.ประจำปีนี้มี 4 เหล่าทัพเข้าร่วม
สำหรับวัตถุประสงค์การฝึกเพื่อทดสอบกระบวนการวางแผนประณีตการรักษากฎหมาย ทดสอบการอำนวยการยุทธ์ และทดสอบความสามารถตามสาขาการปฏิบัติงานของหน่วย ทำการฝึกในสถานการณ์ความขัดแย้งระดับกลางจนถึงระดับสูง ขณะที่การฝึกภาคสนามภาคทะเลในปีนี้ มีการจัดกำลังเข้าร่วมฝึกมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การฝึกของกองทัพเรือ มีเรือรบกว่า 38 ลำ อากาศยาน 16 เครื่อง รถรบ และรถเรดาร์ 50 คัน ปืนใหญ่และปืน ปตอ. 40 แท่นยิง กำลังพลกว่า 5,000 นาย และหน่วยสนับสนุน รวมทั้งยังจัดการฝึกในห้วงใกล้เคียงกับการปฏิบัติราชการอื่น ประกอบด้วย การสวนสนามทางเรือนานาชาติ และนิทรรศการทหารเรือ IMDEX ASIA 2017 ที่สิงคโปร์ การฝึก CARAT 2017 ระหว่างเดินทางไปสิงคโปร์ การฝึกผสม GUARDIAN SEA2017 กับเรือดำน้ำสหรัฐฯ ฝั่งอันดามัน รวมถึงฝึกผสม PASSEX ระหว่าง ทร.ไทย และ ออสเตรเลีย เป็นการบูรณาการใช้กำลัง และ ใช้งบประมาณที่คุ้มค่า
พล.อ.สุรพงษ์ ให้โอวาทกำลังพลตอนหนึ่ง ว่า การฝึกกองทัพเรือประจำปี 2560 เป็นการฝึกที่มีความสำคัญของกองทัพเรือในการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่างๆ และการปฏิบัติการร่วมระหว่างกองทัพเรือกับหน่วยต่างๆ ตลอดจนถึงกองทัพบก กองทัพอากาศ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นการบูรณาการ ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้กำลังพลได้รับความรู้ ความชำนาญทั้งการปฏิบัติงานในหน้าที่ตามความรับผิดชอบและเข้าใจถึงการประสานการปฏิบัติร่วมกันส่งผลให้เกิดความพร้อม ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการฝึกร่วมของกองทัพไทย ที่สอดคล้องการเตรียมกำลังและการใช้กำลังตามแผนป้องกันประเทศเพื่อเผชิญสถานการณ์วิกฤต ความท้าทาย ทุกรูปแบบเป็นอย่างดี ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ที่เสียสละทุ่มเท ร่วมมือร่วมใจอย่างเต็มกำลังความสามารถเกิดผลสัมฤทธิ์การฝึก และขอชื่นชมผู้บังคับบัญชา กำลังพล ผู้เข้าร่วมการฝึกทุกคน ที่ทำให้การฝึกภาคสนาม ภาคทะเล และการสาธิตการปฏิบัติการในครั้งนี้น่าประทับใจ และขอเป็นกำลังใจกับทุกคนที่ดำรงมาตรฐานนี้ไว้เพื่อเกิดความเชื่อมั่นศรัทธาเกิดแก่ประชาชน
หลังจากนั้น พล.อ.สุรพงษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า การฝึกประจำปีของกองทัพเรือ มีการวางแผนมาตั้งแต่ต้นปี และมาสิ้นสุดการฝึกขนาดใหญ่ในช่วงเดือน พ.ค. นี้ โดยการฝึกในวันนี้เป็นการฝึกภาคทะเล จากนั้นเป็นการฝึกทางบก การฝึกด้วยกระสุนจริง ทั้งนี้ การฝึกในปีนี้มีความพิเศษกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อยากให้มีการฝึกระหว่างเหล่าทัพให้มากขึ้น
พล.อ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ในปีนี้ทางกองทัพเรือ เชิญ กองทัพบก กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาปรับแผนการฝึกมาร่วมกันและเป็นปีแรกที่นำยุทโธปกรณ์เหล่าทัพมาฝึกร่วมกัน และเป็นการจัดกำลังการฝึกที่สมบูรณ์
“การปฏิบัติการร่วมเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเทคโนโลยีมีความซับซ้อนมากขึ้น การทำงานในปัจจุบันต้องมีความรู้ความเข้าใจในเหล่าทัพต่างๆ ร่วมกัน เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ประสานสอดคล้องกับอุปกรณ์ที่มีอยู่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และมีทั้งการฝึกปฏิบัติการการรบตามแบบและการฝึกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และในปีนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สมบูรณ์แบบ ถือเป็นตัวอย่างการฝึกที่มามาตรฐานค่อนข้างสูงและเป็นตัวอย่างที่ดีในอนาคต” พล.อ.สุรพงษ์ กล่าว
พล.อ สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในการฝึกทุกครั้ง เมื่อจบการฝึกแล้วจะมีการทบทวนบทเรียนที่เป็นประโยชน์ ข้อบกพร้องต้องแก้ไข เรามีกระบวนการศึกษาเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมโยงระหว่างเหล่าทัพ เรามีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องใน 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรือของกองทัพเรือเชื่อมโยงกับอากาศยานกองทัพอากาศ ทำให้ยุทโธปกรณ์เชื่อมโยง ใช้งานเป็นประโยชน์ รวมถึงการฝึกความชำนาญผู้ใช้อาวุธ การฝึกในลักษณะนี้มีความจำเป็น
พล.อ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ในอนาคตหากมีเรือดำน้ำ ในเรื่องการฝึกเหล่านี้ ซึ่งทุกๆ ปี ทุกเหล่าทัพฝึกอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ โดยฝึกในประเทศ เช่น ในส่วนกองทัพบก มีการฝึกระดับ หมู่ ตอน หมวด เรื่อยๆ จนถึงระดับกองพันและจบด้วยการฝึกร่วมทุกเหล่าทัพเข้าด้วยกัน ซึ่งกองทัพไทยจะจัดการฝึกในช่วง 2 เดือนข้างหน้าอีกครั้ง ดังนั่น การฝึกมีทุกปี เพราะมีการหมุนเวียนกำลังพลที่เกี่ยวข้อง ต้องฝึกให้มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องหลักการ เครื่องมือต่างๆ ดังนั้น เมื่อมียุทโธปกรณ์ใหม่ๆเข้ามาต้องฝึกเช่นกัน ต่อไปเมื่อเรือดำน้ำมาถึงอีก 7 ปีข้างหน้า ลักษณะการฝึกในแบบครั้งนี้ จะมีเรือดำน้ำมาเกี่ยวข้องด้วยแน่นอน
พล.อ.สุรพงษ์ ยังกล่าวถึงกรณีกองทัพเรือชี้แจงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ว่า ทางกองทัพเรือได้ชี้แจงกับสื่อมวลชนและถ่ายทอดสดให้ประชาชนรับทราบไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา และตนติดตามมาตลอดในระหว่างแถลงข่าวถือว่า พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำพร้อมคณะ ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และมีรายละเอียดที่ชัดเจน ซึ่งเป็นข้อมูลที่คิดว่า หากรับฟังอย่างต่อเนื่องจะเข้าใจเหตุผลว่าทำไมกองทัพเรือต้องการมีเรือดำน้ำในช่วง 7 - 8 ปีข้างหน้า และทำไมกองทัพเรือจึงเลือกใช้อุปกรณ์จากประเทศจีน
“ถือเป็นการชี้แจงที่ละเอียดมาก เพราะไม่เคยเห็นกองทัพประเทศใดทำแบบนี้ ผมอยู่ต่างประเทศมาหลาย 10 ปี การขี้แจงแบบนี้ไม่เคยมีแต่เพื่อความโปร่งใส ให้เกิดการยอมรับ เป็นเรื่องที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่ให้ความสนใจได้รับทราบและทำความเข้าใจควบคู่ไปด้วย ในอนาคตการจัดหายุทธโธปกรณ์หากประชาชนไม่เข้าใจ และไม่สนับสนุน จะกระทำได้ยาก ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ในอนาคตต่อไป อะไรที่เป็นเรื่องสำคัญ สามารถชี้แจงในระดับที่เหมาะสมให้ทุกคนเข้าใจ คิดว่า คณะกองทัพเรือที่มีผู้บังคับบัญชาจากหน่วยงานต่างๆ และเป็นที่ยอมรับของกองทัพเรือมาให้ข้อมูล และความน่าเชื่อถือในกองทัพเรือเองและกองทัพไทยด้วย” พล.อ.สุรพงษ์ กล่าว
เมื่อถามว่า ในอนาคต การจัดซื้อจัดหายุทธโธปกรณ์กองทัพ ต้องชี้แจงประชาชนในลักษณะนี้หรือไม่ พล.อ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีความพยายามชี้แจงเรื่อยๆ และครั้งนี้เป็นบทเรียนที่กองทัพต้องนำไปศึกษา ว่า การจัดหายุทโธปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณสูง กระบวนการที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจเหตุผล และให้การยอมรับถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในอนาคตต้องศึกษาแนวทางเหล่านี้ แต่ตนคิดว่า การจัดหายุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ช่วงนี้ เช่น ในส่วนของกองทัพเรือ คงเงียบไปสักระยะหนึ่ง เพราะได้ทำเรื่องสำคัญ ส่วนเหล่าทัพอื่นคิดว่าคงคล้ายๆ กัน