นายกสมาคมนักข่าวฯ มอบเสื้อรณรงค์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกให้นายกรัฐมนตรี พร้อมยื่นจดหมายจี้ล้ม พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อ ด้าน “ประยุทธ์” ชี้ยังอีกหลายขั้นตอน พร้อมดูกฎหมายให้ รับห่วงเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่ไม่ดี ยันไม่ได้หวังครอบงำ ถ้าสื่อคุมกันเองต้องคุมให้ได้ หาวิธีการได้แล้วมาบอก ไม่ให้เกิดสื่อเลือกข้าง จ่อถก ครม.เปิดเวทีให้ ไม่ได้เป็นศัตรูกับสื่อ แต่ขอไม่ขวางการพัฒนาประเทศ ยันตรวจสอบรัฐได้แต่อย่าเพิ่งลงความเห็น ควรให้ชาวบ้านพิจารณา
วันนี้ (2 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 08.50 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุม นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำคณะเข้าพบเพื่อมอบเสื้อที่ระลึกและรณรงค์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก พร้อมยื่นจดหมายเปิดผนึกเรื่องคัดค้านและขอให้ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยินดีในวันนี้เพราะถือเป็นการหารือร่วมกัน เรื่องกฎหมายนั้นยังอีกหลายขั้นตอน และขอให้ไปลงความเห็นกันในขั้นตอนนั้น ส่วนตัวฟังทั้ง 2 ทาง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีหน้าที่คิดและปฏิรูป เมื่อ สปท.คิดขึ้นมาและลงมติแล้วก็จะเข้ามาที่รัฐบาล ก่อนให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ยังมีอีกหลายขั้นตอน อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้อยากขอความร่วมมือเพราะรัฐบาลต้องการทำให้ประเทศดีขึ้น และสื่อทุกคนก็ต้องช่วยกัน ส่วนที่เป็นประโยชน์ก็ขอให้ช่วยขยายความ เช่น เรื่องใหม่ๆ สำหรับประเทศไทย รัฐบาลอาจไม่ได้คิดเอง แต่ต้องดูต่างประเทศด้วยและประเทศเพื่อนบ้านด้วย ทุกอย่างต้องพัฒนาโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่จะดีได้นั้นบ้านเมืองต้องสงบเรียบร้อย เราต้องดูว่ารอบบ้านและโลกภายนอกเป็นอย่างไร วันนี้รัฐบาลกำลังทำโครงสร้างของประเทศ เปลี่ยนแปลงเขตเศรษฐกิจ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทุกคนบอกว่ารายได้ไม่ดี เราต้องปรับปรุงตัวเอง สื่อเองก็ต้องเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลในสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนสิ่งที่ไม่ดีก็ไม่ได้บังคับ เพราะถ้าไม่ดีก็จะไม่ทำ และสื่อเองก็ต้องตรวจสอบรัฐบาล แต่การตรวจสอบอย่าเพิ่งลงความเห็นว่าผิดหรือถูก เพราะบางครั้งสื่อจะลงความเห็นเช่นนั้น ขณะที่บางเรื่องต้องให้ประชาชนเป็นผู้พิจารณา ไม่ใช่ให้สื่อตัดสินว่าใช่หรือไม่ใช่ เพราะบางครั้งจะคิดคนละมุม ซึ่งส่วนตัวผมอ่านทุกอันทุกเล่ม
เมื่อถามว่า ในร่างกฎหมายยังขาดการมีส่วนร่วมจากองค์กรสื่อ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จะดูให้ ทั้งนี้อยากให้เคารพซึ่งกันและกัน ตนตั้งใจเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศ ไม่ได้ต้องการเข้ามาสร้างปัญหา และไม่ใช่ว่าจะอยู่จนตายและแก่ตาย เพราะจะต้องมีรัฐบาลต่อไป เราต้องวางพื้นฐานให้ดี และส่วนตัวเข้าใจจึงฝากบอกสื่อทุกคน
เมื่อถามว่า บางส่วนกังวลว่ากฎหมายนี้อาจจะเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่ไม่ดีได้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนตัวก็คิดเช่นนั้น แต่กฎหมายนี้จะมีการรับฟังความเห็นขององค์กรสื่อตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญด้วย
เมื่อถามว่า นายกฯ เห็นว่าควรมีตัวแทนภาครัฐในสภาวิชาชีพสื่อหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าไม่ควรมี จะให้คุมกันเองได้หรือไม่ 1. อย่าคิดว่าตนต้องการครอบงำทั้งหมด เพราะไม่ได้ครอบงำใครเลย และถ้าครอบงำการออกกฎหมายจะเร็วกว่านี้ ทุกอย่างจะจบ เพราะสามารถใช้อำนาจได้ แต่ไม่ใช้ แต่ให้ทุกคนคิดขึ้นมา แล้วจะมาดูและขัดเกลา 2. ถ้าสื่อคุมกันเองก็ต้องคุมให้ได้ สมาคมและผู้ประกอบการต้องมีความเชื่อมต่อกันเพื่อจะคุมกันเองได้ ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวจะต้องมีการหารือร่วมกัน ไม่ต้องห่วง ทุกคนเป็นพี่น้องและคนไทยด้วยกันหมด จะเอาเป็นเอาตายกันได้อย่างไร ในกฎหมายต้องยอมรับว่ามีทั้งส่วนดีและไม่ดี ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป
“วันนี้ไม่ให้อิสระกับสื่อหรือ วันนี้อิสระทุกอย่าง เพียงแต่ว่า สปท.จะตีกรอบมากขึ้น อย่าลืมว่าผมให้อิสระทุกอัน ไม่เคยไปยุ่งกับใคร ฟ้องก็ไม่เคยฟ้องใครสักที ไม่เคยสั่งปิดสื่อเลยสักที วันนี้ยังเป็นแบบนี้อยู่ แต่อย่าลืมว่ามีอะไรที่ไม่ดีอยู่ ต้องหาให้เจอ หาวิธีการแล้วมาบอกผมว่าจะทำอย่างไร ผมพูดเลยสื่อเลือกข้างก็มี อาจมีเรื่องเงินทองบ้าง จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดตรงนั้น รัฐบาลหน้าจะได้อยู่ได้ สื่อบอกว่าตรวจสอบ แล้วยังไง เพราะทุกอย่างต้องเข้าสู่กระบวนการ ให้เป็นไปตามนั้น ไม่อย่างนั้นทุกอย่างก็วุ่นไปหมด ขอให้เข้าใจกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาองค์กรสื่อก็มีแนวคิดแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่งข้อเสนอมาได้เลย ส่วนที่สื่อต้องการให้เปิดเวทีเพื่อหารือร่วมกัน ก็จะหารือในที่ประชุม ครม.เพราะตอนนี้มีขั้นตอนแล้ว ขออย่าไปโกรธโทษกัน เข้าใจว่าทุกคนมีความปรารถนาดีและรัฐบาลเองก็ปรารถนาดี และ สปท.ก็มีความตั้งใจ แม้บางทีก็มีโมโหบ้างเป็นธรรมดา ต่างคนต่างโมโหกัน ฉะนั้นตนพยายามจะอดทนให้ได้มากที่สุด พยายามเดินหน้าให้ได้ ประเทศไทยนั้นหยุดมา 10 กว่าปีแล้วด้วยความขัดแย้ง สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็อย่าไปยุ่งกับเขา ให้เขาทำไป
เมื่อถามว่า ตามกระบวนการแล้วมีเรากฎหมายที่สามารถตรวจสอบสื่ออย่างเข้มงวดอยู่ นายกฯ กล่าวว่า เข้มงวดแล้วทำไมยังมีปัญหาอยู่ ต้องเข้าไปดูกระบวนการนี้ ซึ่ง สปท.ก็ฟังความเห็นของสื่อแล้ว
มื่อถามว่า สปท.ฟังความเห็นแล้ว ไม่ดำเนินการตามข้อเสนอ นายกฯ กล่าวว่า “สปท.ก็มีความคิดของตัวเอง จากนั้นก็กล่าวหากัน ซึ่งบิดเบือนด้วยกันทั้งคู่ แต่การหารือยังไม่ได้ข้อยุติ ขณะที่ สปท.ก็เดินหน้าตามวาระ ก็ว่ากันไป รัฐบาลก็ต้องดูเป็นพิเศษในเรื่องนี้ และขอฝากเรื่องอื่นๆด้วย เพราะทุกประเทศต่างชื่นชมไทยว่าหลายอย่างดีขึ้น แต่สิ่งที่พลาดและไม่ถูกต้องกว่าสิบๆ ปี สื่อต้องช่วยรัฐบาล เพราะถือการเปลี่ยนประเทศของเรา และเรื่องนี้อยู่ในประเด็นปฏิรูปที่ตั้งไว้อยู่แล้ว จะปฏิรูปอย่างไรก็ต้องมาคุยกัน ยืนยันว่าส่วนตัวไม่ได้รังเกียจใครเลย ไม่ได้เป็นศัตรูกับสื่อ เพียงอยากขอความร่วมมือสื่อให้ช่วยประเทศชาติ ขอให้สื่อดูแลทั้งผู้ประกอบการและนักข่าว ซึ่งต้องเป็นไปเพื่อไม่ขวางการพัฒนาประเทศและถูกต้องชอบธรรม มิเช่นนั้นต่างประเทศจะไม่คุยกับเรา อย่างเมื่อวานสหรัฐฯ ก็คุยดี ไม่มีอะไร สหรัฐฯ หวังว่าเราจะพัฒนาประเทศไปด้วยดี และทราบว่าเราพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่ดี จึงมาให้กำลังใจเรา นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ เรื่องสื่อเป็นเรื่องสำคัญ ก็จะดูให้ ขอให้ใจเย็นๆ
สำหรับจดหมายเปิดผนึกของสื่อระบุว่า ตามที่ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ซึ่งแม้ว่าจะมีการยกเลิกเรื่องใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อและบทลงโทษกรณีไม่มีใบอนุญาตฯลฯ ไปแล้วก็ตาม แต่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กร เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เป็นกฎหมายที่ยังเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการเสรีภาพและความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และขัดแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหลายมาตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาสำคัญของกฎหมายที่เปิดโอกาสให้มีการครอบงำ และแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนและประชาชน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และจะยังส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวางในอนาคต
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 30 องค์กร จึงมีความเห็นคัดค้านและขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจที่มีอยู่ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วยเหตุผล ดังนี้
1. นิยามคำว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ นิยามคำว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ให้หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพเป็นสื่อกลาง เพื่อนำข่าวสาร สาร และเนื้อหาเพื่อประโยชน์สาธารณะทุกประเภทไปสู่มวลชนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด อย่างเป็นปกติธุระ หรือทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นประจำจากเจ้าของสื่อ หรือมีรายได้จากการงานที่กระทำนั้น ไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม
เมื่อพิจารณานิยามคำว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนนั้นมีความหมายกว้างขวางมาก กว้างขวางจนเข้าไปกินปริมณฑลของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา และการสื่อความหมายด้วยวิธีการอื่นของประชาชนทั่วไป จะครอบคลุมไปถึงผู้ใช้สื่อทุกประเภท นอกจากสื่อวิชาชีพแล้ว บุคคลที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิทธิพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในมาตรา 34 และ 35
2. ในร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจาก สปท.ยังคงไว้ซึ่งตัวแทนรัฐในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ คือปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งขัดแย้งกับบทบาทหน้าที่ การทำงานของสื่อมวลชน ที่ต้องตรวจสอบอำนาจรัฐ ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อผู้ที่ต้องถูกตรวจสอบ กลายมาเป็นผู้ตรวจสอบเสียเอง ก็เกิดกรณีที่อาจมีความขัดแย้งในเชิงอำนาจและผลประโยชน์ได้ เป็นอำนาจซ้ำซ้อน ที่ไม่ส่งผลดีต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ต้องมีธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส
3. การจัดทำกฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวกับการทำหน้าของสื่อมวลชนจะต้องมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองเสรีภาพและความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ของของสื่อมวลชนในการรักษาผลประโยชน์สาธารณะ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 และมาตรา 35 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นของประชาชน และคำนึงถึงหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่บัญญัติว่า “รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ”
นอกจากนั้น มาตรา 77 ยังบัญญัติว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการดังกล่าวแต่อย่างใด
4. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันหลักการกำกับกันเองของสื่อมวลชน ทั้งการกำกับกันเองด้วยความสมัครใจ หรือการกำกับกันเองที่มีกฎหมายรับรองการมีอยู่ขององค์กรวิชาชีพ แต่ต้องไม่มีการใช้อำนาจตามกฎหมายลงโทษสื่อมวลชน และต้องไม่เร่งรีบออกกฎหมายมาบังคับใช้โดยขาดการรับฟังหรือความเข้าใจอย่างรอบด้าน ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อสื่อมวลชนตระหนักถึงความคาดหวังของสังคมที่ต้องการเห็นการกำกับกันเองด้านจริยธรรมของสื่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีช่องทางการร้องเรียนที่ชัดเจน มีกระบวนการสอบสวน และการวินิจฉัยการลงโทษที่ชัดเจน แต่เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาเพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อคนจำนวนมาก
ด้วยเหตุผลที่ระบุมาข้างต้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 30 องค์กร จึงมีความเห็นคัดค้านและขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจที่มีอยู่ยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และเดินหน้าการปฏิรูปสื่อโดยการมีส่วนร่วมของสื่อมวลชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง