xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ถาม สนช.สภาเสียงข้างเดียว ใช้วิธี “ล้มมวย” สนองกลุ่มทุน ใช่หรือไม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“รสนา” ฉะ “สภาเสียงข้างเดียว” ของ คสช. หักดิบร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม ตัดตอนตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ จับตาประมูลแหล่งเอราวัณ และ บงกช ใช้ระบบสัมปทานจำแลงสนองกลุ่มทุนพลังงาน จี้ต่อมสำนึกสมาชิก สนช. ที่เคยคัดค้านเผด็จการเสียงข้างมาก สมควรแล้วหรือจะใช้อำนาจผ่านกฎหมายโดยขาดหลักความโปร่งใส และ ขัดหลักนิติธรรม

วันนี้ (1 พ.ค.) เวลา 20.08 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “รสนา โตสิตระกูล” โดยชี้ให้เห็นถึงความไม่โปรงใสของ “สภาเสียงข้างเดียว” ที่หักดิบตัดร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม มาตรา 10/1 ที่ระบุให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เมื่อมีความพร้อม ออกโดยไม่มีการโหวต ว่า

รัฐบาลจากการเลือกตั้งในอดีตที่อาศัยสภาเสียงข้างมาก ผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยฉบับลักหลับประเทศไทย ผ่านกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่เขียนว่า เงินกู้ไม่ใช่เงินแผ่นดิน และผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกขนานนามว่ารัฐธรรมนูญทรพีฉบับลูกฆ่าแม่ ที่หักดิบฝ่ายค้านเสียงข้างน้อย จนสภาจากการเลือกตั้งถูกขนานนามว่าเป็น “สภาเผด็จการเสียงข้างมาก” และมีการประท้วงของประชาชนจนนำมาสู่จุดจบของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

หลังการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเลือกโดยรัฐบาล คสช. ทั้งหมด การผ่านร่างกฎหมายจำนวนมากเป็นไปในระบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เพราะเป็นสภาที่ไม่มีฝ่ายค้าน หรือเป็น “สภาเสียงข้างเดียว” นั่นเอง

ร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ... เป็นร่างกฎหมายฉบับแรกที่ภาคประชาชนติดตาม จับตาอย่างใกล้ชิด เรียกได้ว่า มีความเป็นมาตั้งแต่การคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในปี 2554 ที่อยู่ในสมัยรัฐบาลจากการเลือกตั้ง สิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง คือ ก่อนเปิดให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ควรมีการแก้ไข พ.ร.บ. ปิโตรเลียม 2514 ที่ใช้มานานกว่า 40 ปีแล้ว และเป็นกฎหมายที่ใช้ระบบเดียว คือ ระบบสัมปทาน

เจตนารมณ์ของสัมปทานในยุคแรก คือ ให้เอกชนนำความรู้ทางเทคโนโลยีมาพัฒนาการสำรวจและผลิต โดยรัฐยอมให้เอกชนผูกขาดปิโตรเลียมที่ค้นพบในยุคแรก และวางรากฐานให้มีการถ่ายทอดความรู้ให้คนไทยเพื่อรับช่วงต่อหลังหมดอายุสัมปทาน ดังที่รัฐบาลในอดีตสมัย พล.อ เปรม ติณสูลานนท์ ได้ตั้งปตท.สผ. และซื้อแหล่งบงกชคืนจากบริษัทน้ำมันต่างชาติ และจ้างบริษัท โททาล มาฝึกสอนคนไทย จนสามารถบริหารกิจการต้นน้ำได้เอง แต่พอคนไทยทำเองได้ ปตท.สผ. ก็ถูกแปรรูปไปเป็นของเอกชน รวมถึงการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก็ถูกแปรรูปไปเป็นของเอกชน

ด้วยเจตนารมณ์ที่จะให้คนไทยรับช่วงต่อเมื่อให้สัมปทานเกิน 50 ปีแล้ว ในกฎหมายปิโตรเลียม 2514 จึงได้ระบุไว้ในมาตรา 26 ว่า การให้สัมปทานการผลิตให้ต่ออายุได้เพียงครั้งเดียว คือ 10 ปี หลังจากนั้น ห้ามต่ออายุสัมปทานอีก แสดงว่าต้องมีระบบอื่นที่ไม่ใช่สัมปทานมาใช้กับการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่อไปในแหล่งที่หมดอายุสัมปทาน แต่ยังมีปิโตรเลียมเหลืออยู่ ซึ่งสัมปทาน 2 แหล่งแรกที่เข้าเงื่อนไขห้ามต่ออายุสัมปทานอีก คือ แหล่งเอราวัณ และ แหล่งบงกช โดยแหล่งเอราวัณเมื่อครบอายุสัญญาในปี 2566 นับจากปี 2514 ก็เป็นเวลาถึง 52 ปี

การคัดค้านการเปิดสัมปทานรอบ 21 ยืดเยื้อมาจนหลังเกิดรัฐประหาร จากการที่ประชาชนเรียกร้องให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิต ซึ่งเป็นระบบที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการให้คนไทยสามารถควบคุมการบริหารกิจการปิโตรเลียมต้นน้ำได้ด้วยตัวเองหลังหมดอายุสัมปทานแล้ว จึงต้องมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติมาเป็นกลไกปฏิบัติงานของระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิต หรือจ้างบริการ

นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้สั่งเลื่อนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ออกไปจนกว่าจะแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม และมอบหมายให้กรรมาธิการพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (กมธ.สนช.) ศึกษาจุดอ่อนของ พ.ร.บ ปิโตรเลียม 2514 และ พ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 ซึ่ง กมธ.สนช. ใช้เวลาศึกษามากกว่า 2 ปี และมีข้อเสนอการแก้ไขเป็นรายงานของ สนช. แต่ปรากฏว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ... ของกระทรวงพลังงานไม่ได้ยกร่างตามผลการศึกษาของ กมธ.สนช.

ร่างกฎหมายปิโตรเลียมเมื่อเสนอเข้าสู่ สนช. ใช้เวลาถึง 9 เดือน เพราะเกิดจากร่างกฎหมายที่เสนอเข้าสู่สภายังมีข้อบกพร่องที่ไม่ได้แก้ไขตามผลการศึกษาของ กมธ. สนช. และยังมีช่องโหว่เรื่องการจัดเก็บรายได้ที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ และประเด็นที่มีการเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต และจ้างบริการ แต่ไม่มีโครงสร้างและกลไกสำหรับระบบใหม่ ประเด็นการมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติเป็นประเด็นที่มีปัญหา และมีการหารือไปยัง ครม. จึงมีมติคณะรัฐมนตรีออกมา 2 ครั้ง โดยครั้งแรกออกในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 และครั้งที่ 2 ออกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ให้บรรจุบรรษัทพลังงานแห่งชาติเป็นมาตรา 10/1 ในร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมฯ

กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ...จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 10/1 ขึ้นมา ความว่า “ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้ง”

มาตรา 10/1 เขียนไว้อย่างหลวมๆ ว่า ให้จัดตั้งเมื่อมีความพร้อม ซึ่งไม่ได้กำหนดเงื่อนไขว่าต้องจัดตั้งให้เสร็จก่อนการเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช ซึ่งกระทรวงพลังงานก็ประกาศชัดเจนว่าจะเปิดประมูลในเดือนกรกฎาคม 2560 โดยที่ 2 แหล่งดังกล่าว หากใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต แต่ไม่มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ มาเป็นหน่วยงานปฏิบัติ รูปแบบที่ใช้กับเอราวัณและบงกช ก็จะกลายเป็นระบบสัมปทานจำแลงนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าบริษัทเอกชนที่เป็นเจ้าของสัมปทานเดิมยังต้องการได้ประโยชน์จากสัมปทานในรูปแบบเดิม จึงคัดค้านบรรษัทน้ำมันแห่งชาติอย่างเต็มที่ เห็นได้จากการพาสื่อระดับใหญ่ประมาณ 15 คน ไปเที่ยวอเมริกา และแวะเยี่ยมดูบริษัทน้ำมันแห่งชาติของเม็กซิโก หลังจากกลับมาสื่อต่างๆ พากันประโคมข่าวปูพรม ว่า บรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะนำความล้มเหลวมาให้ประเทศไทยเหมือนเม็กซิโก และเวเนซุเอลา แต่ไม่กล่าวถึงบริษัทปิโตรนาสของมาเลเซียที่เป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติที่ประสบความสำเร็จและอยู่ใกล้ประเทศไทย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ออกมาแถลงข่าวในจังหวะสุดท้ายก่อนการประชุม สนช. 3 วัน และมีจดหมายเปิดผนึกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 เรียกร้องให้ สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม โดยขอให้ตัดมาตรา 10/1 ออกไป

และก็ปรากฏว่า ในวันที่ 30 มีนาคม 2560 ประธาน สนช. ได้ถามชี้นำกับประธานกรรมาธิการวิสามัญ ว่า “มีอยู่อย่างเดียวว่าควรจะเขียนไว้ในกฎหมายหรือไม่ หรือเขียนเป็นข้อสังเกต เขาก็อภิปรายกันแต่เฉพาะประเด็นกฎหมาย ถ้าเขียนมันจะสมบูรณ์ไหม กลับไปเขียนเป็นข้อสังเกตอย่างไหนมันดีกว่ากัน แต่ว่าท่านสมาชิกอภิปรายกัน 5 - 6 ชั่วโมงไปถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย และทำให้มันบานปลาย ตอนนี้เอาสรุปว่า ท่านสมชายถามกรรมาธิการตรงๆ ว่าจะเป็นข้อสังเกตได้ไหม โดยให้กระทรวงพลังงาน ผมยังไม่เห็นกระทรวงพลังงานพูดเลย”

การที่ประธาน สนช. กล่าวชี้นำขนาดนี้ ทำให้ประธานกรรมาธิการยอมตัดมาตรา 10/1 ออกไปใส่ในข้อสังเกตที่ไม่มีผลทางกฎหมาย โดยไม่เปิดโอกาสให้สมาชิกสนช. ลงมติว่าจะเห็นด้วยกับกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 10/1 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่แก้ไขตามที่มีมติ ครม. หรือไม่

การใช้อำนาจสภาเสียงข้างเดียวตัดมาตรา 10/1 ออกไปโดยไม่มีการโหวต เพราะหากมีการโหวต สมาชิกต้องโหวตผ่านให้มาตรา 10/1 เป็นมาตราที่อยู่ในกฎหมายปิโตรเลียมอย่างแน่นอน เพราะยังไม่เคยมีประวัติที่ สนช. โหวตคว่ำมาตราในร่างกฎหมายใดๆ ที่กรรมาธิการแก้ไขเพิ่มเติมมาก่อน ซึ่งย่อมขัดกับคำขอของ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ใช่หรือไม่

แต่ถ้าหากมีการล็อบบี้ให้ สนช. โหวตคว่ำมาตรา 10/1 ก็จะกลายเป็นว่าสมาชิกสนช. ไม่เห็นชอบกับหลักการของรัฐบาลที่เป็นผู้เสนอให้กรรมาธิการบรรจุมาตรา 10/1 ไว้ในกฎหมายปิโตรเลียม ซึ่งไม่เคยปรากฏเช่นกันว่า สนช. เคยโหวตคว่ำมาตราใดในร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอเข้ามาให้ สนช. พิจารณา

ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด สำหรับ สนช. ที่ไม่ต้องมีการโหวตให้อิหลักอิเหลื่อ จึงใช้วิธี “ล้มมวย” ด้วยสภาเสียงข้างเดียว ซึ่งเป็นการใช้อำนาจละเมิดกระบวนการพิจารณาการแก้ไขกฎหมายของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่ถูกรองรับด้วยมติ ครม. ความเห็นของนักวิชาการ และประชาชนที่ส่งผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ

เป็นการใช้อำนาจ 2 นาทีของ “สภาเสียงข้างเดียว” ที่หักดิบการขับเคลื่อนต่อสู้ของประชาชนที่เรียกร้องการปฏิรูปพลังงานมาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อให้เป็นไปตามคำขอของ ม.ร.ว ปรีดิยาธร เทวกุล และความต้องการของกลุ่มทุนพลังงาน ใช่หรือไม่?

ต้องขอถามว่าอดีตสมาชิก สนช. ที่เคยคัดค้านต่อสู้กับเผด็จการเสียงข้างมากในสภาก่อนหน้านี้ มาวันนี้ท่านอยู่ในสภาเสียงข้างเดียว สมควรแล้วหรือจะใช้อำนาจไม่ต่างจากเผด็จการเสียงข้างมากในสภา ที่ใช้อำนาจผ่านกฎหมายโดยขาดหลักความโปร่งใส และขัดหลักนิติธรรม โดยไม่คำนึงถึงหลักการสำคัญในฐานะที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์”

การอ้างว่า ที่ตัดมาตรา 10/1 ในร่างกฎหมายปิโตรเลียมเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม จะฟังขึ้นละหรือ หากขั้นตอนการพิจารณากฎหมายไม่เป็นไปตามข้อบังคับ และกระบวนการทางนิติบัญญัติที่ถูกต้องโปร่งใส ซึ่งก็จะไม่ต่างจากสภาเผด็จการเสียงข้างมาก ที่ก็มักจะอ้างเช่นกันว่าการผ่านกฎหมายในสภาล้วนเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมทั้งสิ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น