xs
xsm
sm
md
lg

“เรืองไกร” จี้ กกต.สอบ 9 รมต.ส่อขาดคุณสมบัติตาม รธน. “วิษณุ-ดอน” โดนด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทีมกฎหมายเพื่อไทย ยื่นหนังสือต่อประธาน กกต. จี้สอบรัฐมนตรีรัฐบาลประยุทธ์ 9 คน ส่อขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ชี้ “ดอน-อภิศักดิ์-ปนัดดา-พิเชฐ-ศิริชัย-อุตตม-สนธิรัตน์-กอบกาญจน์-วิษณุ” เข้าข่ายขาดคุณสมบัติ

วันนี้ (1 พ.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือต่อประธานกรรมการการเลือกตั้ง ผ่านนายพลวัฒน์ พิรติชัยธนกุล ผู้อำนวยการสำนักเลขานุการ กกต. ขอให้ตรวจสอบรัฐมนตรี 9 ราย ว่ามีการกระทำเข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามหมวด 9 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเข้าข่ายยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติ ต้องพ้นจากตำแหน่งตามความในมาตรา 264 วรรคสอง ประกอบมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องหรือไม่

โดยนายเรืองไกรกล่าวว่า จากการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินที่รัฐมนตรียื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น พบว่ามีรัฐมนตรีเข้าข่ายขาดคุณสมบัติ 9 ราย โดยมีคนที่อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือ มาตรา 187 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) และมีผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีตามมาตรา 264 วรรคสอง ประกอบด้วย 1. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ยื่นแสดงรายการเงินลงทุน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด 2. นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ยื่นแสดงรายการเงินลงทุน บมจ.ซีเค พาวเวอร์, บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย, บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง 3. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ ยื่นแสดงรายการเงินลงทุน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด

4. นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยื่นแสดงรายการเงินลงทุน DTAC 5. พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ยื่นแสดงรายการเงินลงทุน บริษัท บ้านปู จำกัด, บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด, บริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด 6. นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ยื่นแสดงรายการเงินลงทุน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด, บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด, บริษัท ปตท.จำกัด, บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด และ 7. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ ยื่นแสดงรายการเงินลงทุน ธุรกิจที่ดินเขาใหญ่ เป็นเอกสารชุดเดียวกับของนายอุตตม สาวนายน ซึ่งทั้งสองคนเข้าข่ายเป็นห้างหุ้นส่วนเพื่อประสงค์ทำธุรกิจที่ดินและแบ่งปันผลกำไร โดยเรื่องดังกล่าวเคยมีแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 12-14/2553 แล้ว และกกต.เองก็เคยมีมติเห็นว่ารัฐมนตรีจะถือครองหุ้นจนถึงวันที่เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไม่ได้ และเคยมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาแล้ว ในกรณีของนายมานิต นพอมรบดี อดีต รมช.สาธารณสุข

นอกจากนั้นยังมีกรณีอื่น คือ 8. นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ถือครองหุ้น บมจ.เออาร์ไอพี ซึ่งเป็นบริษัทประกอบธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และจัดประชุมสื่อดิจิตอลและสื่ออื่น หากนางกอบกาญจน์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นดังกล่าว อาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และมีผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีตามมาตรา 264 วรรคสอง รวมทั้ง 9. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่มีตำแหน่งในหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานเอกชนอื่นอยู่ ทั้งตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กรรมการสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จึงอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญในมาตรา 187 ในส่วนความว่า “รัฐมนตรีต้องไม่เป็นลูกจ้างของบุคคลใด” จึงขอให้ กกต.ตรวจสอบว่านายวิษณุเข้าข่ายต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีตามมาตรา 264 ประกอบมาตรา 170 (5) หรือไม่

“หลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ หากรัฐมนตรีหุ้นสัมปทานอยู่ แม้จะแค่ 1 หุ้น ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง จึงต้องให้ กกต.ตรวจสอบว่ารัฐมนตรีทั้งหมดยังมีการถือครองหุ้นอยู่จนวันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้หรือไม่ หากรัฐมนตรีรู้ตัวว่ามีการถือหุ้นสัมปทานอยู่ก็ควรจะลาออก เพราะเรื่องนี้มีเพียงโทษการให้พ้นจากตำแหน่ง ไม่มีโทษทางอาญา การลาออกจากตำแหน่งก็จะถือว่าเรื่องดังกล่าวสิ้นสุด ซึ่งเรื่องนี้น่าแปลกใจว่าคนที่ไม่ควรจะตกใจกับเรื่องนี้อย่างสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลับมีอาการตกใจ ขณะที่คนควรจะตกใจอย่างรัฐมนตรีกลับไม่ตกใจอะไร เรื่องดังกล่าว กกต.จะต้องดำเนินการตามมาตรา 170 โดยส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และก่อนหน้านี้ กกต.ก็เคยมีการดำเนินการในเรื่องลักษณะนี้มาแล้วหลายกรณีจึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และคงจะใช้เวลาไม่นาน แต่ที่ตนห่วงคือเรื่องคุณสมบัติของ กกต.จะทำให้ กกต.ต้องพ้นจากตำแหน่งก่อนหรือไม่” นายเรืองไกรกล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น