xs
xsm
sm
md
lg

แถลงการณ์นักข่าวรัฐสภา จี้ ถอนร่าง กม.สื่อ ติงละเมิดสิทธิฯ แนะฟังความเห็นภาคสนาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักข่าวรัฐสภา ผุดแถลงการณ์ จี้ สปท. ถอนร่าง กม. ตีทะเบียนสื่อ แนะกลับไปรับฟังความเห็นรอบด้าน โดยเฉพาะสื่อภาคสนาม หลังพบสาระสำคัญกดหัว - ละเมิดสิทธิเสรีภาพกว้างขวาง

วันนี้ (30 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง “ขอให้ สปท. ถอนร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ออกจากระเบียบวาระการประชุม”

ด้วยในการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.... ตามที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนเสนอ ซึ่งได้ถูกคัดค้านจาก องค์กรวิชาชีพสื่อ และ นักข่าวภาคสนามมาตามลำดับนั้น

​​คณะผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาได้ทำหน้าที่ติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของ สปท., คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อรายงานข่าวสารให้ประชาชนรับทราบ โดยเฉพาะสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยมีความเห็นว่า การที่ สปท. เตรียมผลักดันร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้มีการบังคับใช้เป็นกฎหมายในอนาคต จะส่งผลให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ รวมไปถึงบุคคลที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการสื่อสาร และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ต้องตกอยู่ในสภาวะที่ถูกกำกับควบคุม จนมิอาจใช้สิทธิเสรีภาพของตนเองได้อย่างสมบูรณ์ ตามรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติที่ให้สิทธิ์เอาไว้

ทั้งนี้ โดยหลักแล้วการผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการสื่อสารมวลชน ควรเป็นไปในลักษณะมุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ อีกทั้งสร้างกลไกที่ธำรงความเป็นอิสระของสื่อมวลชนอย่างแท้จริงบนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวม เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน รวมไปถึงการส่งเสริมการใช้เสรีภาพบนพื้นฐานความรับผิดชอบ

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ การที่ให้ภาครัฐมีส่วนเข้ามาเป็นผู้ให้คุณหรือให้โทษแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนและบุคคลที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ทั่วไปตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่อาจเป็นร่างกฎหมายที่ยอมรับได้

​​คณะผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา จึงมีความเห็นว่า สปท. ควรถอนร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ออกไปก่อน เพื่อทบทวนเนื้อหาและหลักการสำคัญด้วยการรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน โดยนอกจากจะรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนแล้ว ควรรับฟังความคิดเห็นจากสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ภาคสนามด้วย เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองและข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งต่อไป

​คณะผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา
30 เมษายน 2560
กำลังโหลดความคิดเห็น