xs
xsm
sm
md
lg

“อิสระ” ค้านขึ้นค่าแรง 410 บาท ชี้ไทยยังไม่โตพอ หวั่นกระทบภาคอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อิสระ ว่องกุศลกิจ (แฟ้มภาพ)
ประธานที่ปรึกษาหอการค้าฯ ค้านขึ้นค่าแรง 410 บาทต่อวัน หวั่นกระทบการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมลดลง เหตุไทยยังโตไม่พอ คาด ภาพรวมเศรษฐกิจปี 60 เริ่มปรับตัวดีขึ้น 3.5-4%

วันนี้ (30 เม.ย.) นายอิสระ ว่องกุศลกิจ คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานที่ปรึกษาหอการค้าไทย กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจปี 60 ว่าในปีนี้คณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย (กกร.) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้น 3.5-4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมาจะเห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มดีขึ้น การส่งออกเพิ่มขึ้นดี ราคาผลผลิตการเกษตรเริ่มดี รวมถึงการท่องเที่ยวถึงแม้จะโตไม่มาก แต่สามารถเก็บรายได้เพิ่มขึ้น โดยภาพรวมหลายอย่างเริ่มดีขึ้น หากปีนี้ไม่มีภัยคุกคาม ทั้งการก่อการร้าย ปัญหาราคาน้ำมัน ส่วนวิกฤตเกาหลีเหนือเป็นที่วิกฤตที่ทุกฝ่ายกังวล แต่เราไม่ได้เป็นผู้ก่อและอยู่ห่างไกลจากปัญหา ตนคิดว่าภาคเอกชนก็ต้องดำเนินการไปตามปกติซึ่งภาคธุรกิจก็มีมาตรการป้องกนและเตรียมรับมืออยู่แล้ว อย่างไรตาม เชื่อว่าไม่น่าจะถึงขั้นรุนแรง ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในการปรับตัวที่ผู้ประกอบการกับรัฐร่วมกันพัฒนาขีดความสารถด้านการแข่งขันเพิ่มขึ้น และปลดล็อกกฎระเบียบให้มีความคล่องตัว

นายอิสระยังกล่าวถึงผลสำรวจหอการค้าไทย ที่พบว่า แรงงานไทยต้องการปรับขึ้นค่าแรงต่อวันเป็น 410 บาท ภายใน 3 ปี ว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศขณะนี้ยังไม่โตพอที่จะปรับขึ้นค่าแรง จะทำให้ศักยภาพการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมลดลง จะเป็นการทำลายตัวเอง กระทบกับผู้ประกอบการรายย่อย และอาจเพิ่มอัตราการว่างงาน แต่หากภาคแรงงานมีความเดือดร้อนจริงๆ คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) จะต้องประเมินปัจจัยต่างๆ เป็นรายจังหวัด ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ

นายอิสระยังกล่าวด้วยว่า การที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ และโรดแมปเดินหน้า ถือเป็นการบ่งชี้ว่าเรากำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งเร็วๆ นี้ ฉะนั้นจะส่งผลถึงความเชื่อมั่นของต่างประเทศ ทูตานุทูตที่อยู่ในไทยที่ยึดถือประชาธิไตยเป็นสิ่งสำคัญ และคาดว่าการเดินหน้าโรดแมปจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต่างประเทศผ่อนปรนและเริ่มลงทุนกับไทยมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น