xs
xsm
sm
md
lg

กรุงเทพโพลล์ เผย แรงงานอยากได้ค่าแรงเพิ่ม รับตอนนี้แค่พออยู่พอกินไม่เหลือออม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โพล ม.กรุงเทพ สำรวจเรื่องแรงงานไทย ส่วนใหญ่รับทราบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และได้รับแล้ว มองว่าควรขึ้นมากกว่านี้ รับตอนพอดีกับค่าใช้จ่าย ไม่มีเหลือเก็บออม เปรียบว่าพออยู่พอกิน เสียงแตกพอๆ กัน เมื่อถามกลัวต่างด้าวแย่งงาน

วันนี้ (30 เม.ย.) เนื่องในวันที่ 1 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ เป็นวันแรงงานแห่งชาติ กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “แรงงานไทย ใจสู้หรือเปล่า” โดยเก็บข้อมูลกับผู้ใช้แรงงาน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,149 คน พบว่า

ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 65.2 รับทราบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากเดิม 300 บาท เป็น 305 - 310 บาท ตามที่รัฐมีมติปรับขึ้นค่าจ้างใหม่ เริ่ม 1 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ขณะที่ร้อยละ 34.8 ไม่ทราบข่าว ทั้งนี้ เมื่อถามต่อว่าได้รับค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 300 บาท เป็น 310 บาทแล้วหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 78.9 ระบุว่า “ได้รับแล้ว” ขณะที่ร้อยละ 21.1 ระบุว่า “ยังไม่ได้รับ”

สำหรับความเห็นต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าวของภาครัฐ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.8 เห็นว่า น่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากกว่านี้ ขณะที่ร้อยละ 32.8 เห็นว่า เป็นการขึ้นที่สมเหตุสมผลแล้ว เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจ ส่วนร้อยละ 14.4 เห็นว่า ยิ่งขึ้นยิ่งหางานทำยาก เพราะต้นทุนของนายจ้างเพิ่มสูงขึ้น

เมื่อถามว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับในแต่ละวันเพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 47.4 เห็นว่าพอดีกับค่าใช้จ่าย จึงไม่มีเงินเหลือเพื่อเก็บออม ส่วนร้อยละ 33.8 เห็นว่า ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ต้องกู้ ต้องหยิบยืม ขณะที่ร้อยละ 18.8 เห็นว่า เพียงพอกับค่าใช้จ่ายและมีเงินเก็บออม

ทั้งนี้ เมื่อให้เปรียบสภาพทางการเงินของตนเองกับสำนวนไทย พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 64.2 เปรียบได้กับสำนวน พออยู่พอกิน รองลงมาร้อยละ 31.4 ชักหน้าไม่ถึงหลัง และร้อยละ 3.1 เหลือกินเหลือใช้

นอกจากนี้ เมื่อถามว่า การเข้ามาของแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน มีผลต่อการแย่งงาน หรือ กีดกันการทำงานของแรงงานไทยใช่หรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 51.4 เห็นว่า “ไม่ใช่” ขณะที่ร้อยละ 48.6 เห็นว่า “ใช่”
กำลังโหลดความคิดเห็น