อดีต ผบ.หน่วยปฏิบัติการลำน้ำโขง ชำแหละซื้อเรือดำน้ำ ชี้ถ้าพัฒนาชาติยังต้วมเตี้ยมก็ควรทบทวน หนุนสร้างดุลอำนาจแต่ต้องลึกกว่าเพื่อนบ้านเขามีกัน ถามยุทธศาสตร์ชาติกับ ทร.เห็นชอบร่วมหรือยัง ระบุปัญหาเขตแดนทะเลมีแค่กับกัมพูชา แต่ศักยภาพยังไงก็ตามไทยไม่ทัน สร้างกำลังรบมหาอำนาจก็ฝันไกล เผย 100 ปีใช้เรือรบกับฝรั่งเศสแค่หนเดียว อาวุธถูกเก็บโกดังจนเสื่อมสภาพ น่าคิดเขมรกล้าอวดศักดากำหนดเขตแดนโดยไม่ต้องมีกำลังทางเรือต่อกรสยาม
เครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก Pratheep Chuen-arom ของ พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์ อดีตผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการลำน้ำโขง ได้เขียนข้อความหัวข้อ กองทัพเรือไทยควรมีเรือดำน้ำหรือไม่ ซึ่งโครงการนี้ยื้อยุดกันมาตั้งแต่รัฐบาลพลเรือนที่ปิดประตูตาย เมื่อทหารเป็นใหญ่เรื่องนี้จึงสำเร็จ และ ณ ปัจจุบันซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน ในความเห็นของตนนั้น 1. ถ้าเรามีฐานะทางเศรษฐกิจดี สามารถใช้สร้างความมั่นคงมั่งคั่งให้แก่ประชาชนได้โดยไม่ข้อจำกัดด้านงบประมาณก็ซื้อไป ไม่ว่าจะเป็นเรือ เครื่องบิน รถถัง ปืนใหญ่ เพื่อเป็นการป้องปรามทางยุทธศาสตร์ (Strategic Deterrence) ตามแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่ถ้ายังมีความจำเป็นด้านอื่นๆ ในการพัฒนาประเทศ เช่น โครงการสร้างเส้นทางคมนาคม โครงการด้านสาธารณสุขพื้นฐาน โครงการพัฒนาด้านการศึกษา เป็นต้น และโครงการเหล่านี้ยังต้วมเตี้ยมอยู่ น้ำหนักทางสร้างกองทัพในแนวอำนาจป้องปรามทางยุทธศาสตร์ของนายกฯ คงต้องทบทวน
พล.ร.ท.ประทีประบุว่า 2. หลักการต้องสร้างดุลยอำนาจนั้น ตนเห็นด้วย แต่ต้องวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดมากกว่านี้ ไม่ใช้ว่าสร้างดุลอำนาจเพราะเพื่อนบ้านเขามีเรือดำน้ำแล้ว เหตุผลนี้มันหยาบเกินไปสำหรับนักการทหาร ต้องประเมินสถานการณ์ให้ละเอียด คือ ต้องพิจารณาหลายๆ ปัจจัยเราพิจารณากำหนดยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ของกองทัพเรืออย่างเห็นชอบร่วมกันแล้วหรือยัง (การแต่งตั้งคณะกรรมการร่างยุทธศาสตร์ชาติเพิ่งผ่านความเห็นชอบไปเมื่อเร็วๆ นี้เท่านั้น) ถ้ายุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือกำหนดให้กองทัพเรือเป็นกำลังรบทางเรือในทิศทาง “Blue Water Navy” การมีเรือดำน้ำนับว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ แต่ประเด็นนี้ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
พล.ร.ท.ประทีประบุว่า ภัยคุกคามซึ่งมีปัจจัยสำคัญ คือ ความขัดแย้งทั้งจากเรื่องดินแดน และการแย่งชิงผลประโยชน์โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางทะเลที่มีต้นกำเนิดจากเรื่องเขตแดนทางทะเลด้านอ่าวไทย เราตกลงเขตแดนทางทะเลกับเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซียเรียบร้อยแล้ว จะมีก็กับกัมพูชาที่ยังค้างคามานานหลายสิบปีแล้ว แต่ ณ ปัจจุบันกำลังรบทางเรือของกัมพูชายังเปรียบเทียบกับไทยไม่ได้เลย น่าจะอีก 30-40 ปี ที่กัมพูชาอาจมาเปรียบเทียบกำลังรบทางเรือกับไทยได้ แต่กว่าจะถึงเวลานั้นกำลังทางเรือของไทยก็ก้าวหน้าไปไกลมากกว่าอีกมากมายแล้ว ด้านทะเลอันดามันอาจจะมีปัญหากับพม่าเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือเกาะเล็ก 2-3 เกาะ ที่มีผลกระทบต่อเส้นเขตแดนทางทะเลต่ำมาก และที่ผ่านมาก็ใช้วิธีเจรจากับปัญหาการรุกล้ำการทำการประมงเท่านั้น สำหรับมาเลเซีย อินโดนิเซีย อินเดีย ทางด้านทะเลอันดามันนี้ เรื่องเขตแดนทางทะเลไม่มีปัญหาใดๆ
อดีตผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการลำน้ำโขงระบุอีกว่า การศึกษาประวัติศาสตร์การรบทางเรือที่ผ่านมา เราใช้กองทัพเรือเต็มๆ เพื่อการรบกับฝรั่งเศสในยุทธนาวีที่เกาะช้าง กับการถูกซุ่มโจมตีจากเรือดำน้ำสหรัฐอเมริกาที่นอกชายฝั่งเกาะสมุยในสงครามโลกเท่านั้น เป็นการปะทะกับชาติมหาอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องไกลเกินฝันที่จะคิดสร้างกำลังรบเพื่อปะทะกับชาติมหาอำนาจ สำหรับการปะทะตามแนวชายแดนกัมพูชาไม่นับว่าเป็นการรบทางเรือ ดังนั้นเมื่อพิจารณาเรื่องภัยคุกคามที่จะเกิดจากความขัดแย้งทางทะเลและประวัติศาสตร์การรบทางเรือที่ผ่านมาแล้วสามารถประเมินได้ว่า โอกาสการใช้กำลังทางเรือของไทยเพื่อทำการบหรือแก้ปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีเรือดำน้ำขึ้นประจำการแล้ว ในระยะ 10-30 ปีข้างหน้าจึงอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก
“ผลที่ตามมา คือ เหลือเพียงประเด็นเดียวต้องไปพิจารณาว่า เราจะมีเรือดำน้ำเพื่อเป็นกำลังรบป้องปรามทางยุทธศาสตร์ ตามแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธนั้น สมควรหรือไม่ ถูกต้องแล้วหรือไม่” อดีตผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการลำน้ำโขงระบุ
อย่างไรก็ตาม พล.ร.อ.ประทีปได้เขียนข้อความตอบคำถามท้ายความเห็นถึงกรณีสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีจะเอามาเป็นประเด็นในการวิเคราะห์ซื้อเรือดำน้ำได้หรือไม่ว่า ไม่สามารถจะเอาเงื่อนไขนั้นมาเป็นปัจจัยพิจารณาสร้างกำลังรบของเรา เพราะปัญหาเกาหลีเป็นปัญหาระดับโลก เกินฐานะประเทศอย่างเราจะเข้าไปเป็นกำลังหลักในการแก้ปัญหา
พล.ร.อ.ประทีปยังระบุอีกว่า หลักการหนึ่งในการสร้างกำลังรบนั้น 1. หลักการสร้างกำลังรบสำคัญหนึ่งในหลายๆ หลัก คือ การประมาณสถานการณ์ว่าใครที่เราคาดว่าจะเป็นศัตรูหรือคู่ต่อกรของเราใน 10, 20 และ 30 ปีข้างหน้า (Potential Enemy) เมื่อได้ศัตรูแล้วจึงนำกำลังรบศัตรูมาเป็นโจทย์ในการสร้างกำลังรบของเรา 2. การรบด้วยกำลังทางเรือที่เกิดขึ้นกับไทยที่สำคัญในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา มีครั้งเดียวคือ การรบกับกองเรือฝรั่งเศสในยุทธนาวีเกาะช้าง และยังไม่เคยมีการรบทางเรือกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นประเทศเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนิเซีย สิงคโปร์ ที่มีเรือดำน้ำแล้วทั้งนั้น หรือกับประเทศใดๆ ในเอเซีย 3. ตั้งแต่ตนเป็นเด็กและเข้ามาเป็นทหารเรือจนกระทั่งเกษียณออกมานานแล้วก็ยังไม่เคยใช้วิทยายุทธ์ที่ร่ำเรียนมาทำศึกสงครามเลย นอกจากยิงกับเขมรซึ่งเป็นเพียงปะทะตามแนวชายแดนเท่านั้น ไม่นับเป็นสงครามทางเรือ
พล.ร.อ.ประทีประบุว่า 4. ตนเป็นทหารเรือยุคเก่า (เรือท่าจีน เรือประแส เรือปิ่นเกล้า) ต่อยุคกลาง (เรือตาปี เรือคีรีรัฐ เรือมกุฎราชกุมาร) และต่อเนื่องย่างเข้าสู่ยุคใหม่ คือ เรือจักรีนฤเบศร และเรือติดอาวุธปล่อยนำวิถี (เรือรัตนโกสินทร์ เรือสุโขทัย เรือเจ้าพระยา เรือบางปะกง เรือชุดราชฤษธิ์ วิทยาคม อุดมเดช เรือชุดปราบปรปักษ์ กาญหักศัตรู สู้ไพรินทร์ เป็นต้น) อาวุธปล่อยนำวิถี ไม่ว่าจะเป็น Sea Cat Garbial หรือ Exocet ที่นำมาขึ้นประจำการต่างก็หมดอายุการใช้งานไปมากแล้ว อายุเรือบางลำที่กล่าวมา บ้างก็ปลดประจำการแล้ว บ้างก็ใกล้จะปลดประจำการ บางลำก็ต่อขึ้นใหม่หรือจัดซื้อใหม่ มาทดแทนไปบ้างแล้ว เรือต่างๆ เหล่านี้ไม่เคยมีโอกาสเข้าสู่สนามรบเลยแม้แต่ลำเดียว Exocet ที่ Fire and Forget นั้นก็เก็บในโกดังจนเสื่อมไปตามสภาพ เว้นบางลูกก็นำออกมายิงทดสอบให้กำลังได้ซ้อมมือ 5. เรื่องนี้น่าคิด เขมรที่มีกำลังทางเรืออันต่ำต้อย ทำไมกล้าหาญอวดศักดากำหนดเขตแดนทางทะเลดั่งเสมือนเป็นมหาอำนาจได้ โดยไม่ต้องมีกำลังทางเรือเป็นกำลังป้องปราม (Deterrence Forces) ไทย