xs
xsm
sm
md
lg

สนช.จี้ ก.พ.-ก.พ.ร.เร่งคลอดกฎ-ชง ครม. ล้อมคอกระบบอุปถัมภ์ระบบราชการไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ประชุม สนช. “พล.ร.อ.ศักดิ์สิทธิ์” ร่ายข้อเสนอ จี้ กพ.-ก.พ.ร.เร่งคลอดกฎ-ชง ครม.ออกมติ แก้ระบบอุปถัมภ์ระบบราชการไทยเป็นรูปธรรม

วันนี้ (27 เม.ย.) การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1 เป็นประธานในการประชุม ได้รับทราบผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม ในเรื่องการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม โดย พล.ร.อ.ศักดิ์สิทธิ์ เชิดบุญเมือง สมาชิก สนช. ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ 1. ทุกหน่วยงานควรให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และควรกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ 2. เพื่อให้เกิดผลปฏิบัติได้จริงนั้นทาง ก.พ.และ ก.พ.ร.จะต้องมีแนวทางและวิธีการดำเนินการกับส่วนราชการทุกประเภท 3. ผู้นำระดับสูงต้องเป็นแบบอย่างที่ดีนำหลักคุณธรรมและหลักการบริหารราชการที่ดีมาใช้ในการบริหารงาน ซึ่งเพื่อให้การสั่งการได้ผลควรออกเป็นมติ ครม.ให้ยึดถือปฏิบัติต่อไป 4. พ.ร.บ.บริหาราชการแผ่นดินที่ให้อำนาจทางการเมือง โยกย้ายข้าราชการดับสูง โดยเฉพาะระดับอธิบดี ปลัดกระทรวง หรือย้ายข้ามกระทรวงได้ โดยอ้างเหตุผลเพื่อประโยชน์ทางราชการเป็นส่วนใหญ่ ถือเป็นกลไกทางการเมือง ส่งผลเสียต่อขวัญและกำลังใจผู้ที่ถูกโยกย้าย เกิดความรู้สึกไม่ดี ทำให้ขาดแรงจูงใจในการทำผลงานต่อไป

พล.ร.อ.ศักดิ์สิทธิ์กล่าวอีกว่า 5 องค์ประกอบของการแต่งตั้งโยกย้ายที่ผ่านมามักจะมีการกล่าวอ้างเหตุผลที่เลื่อนลอยและไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม 6. ควรมีศูนย์ข้อมูลกลางเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลการบริหารงานบุคคลของส่วนราชการทั้งหมดทุกประเภทไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะข้อมูลพื้นฐานของบุคคลที่ปรากฏได้ชัดเจนเช่นความรู้ ประสบการณ์ ตำแหน่งงาน หรือผลงาน เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานเป็นองค์ประกอบในการแต่งตั้ง สามารถป้องกันผู้บังคับบัญชาที่ไม่ดี เลือกปฏิบัติ เลือกพิจารณาเฉพาะคนที่อยู่ใกล้ตัว ดังนั้นกพ.ควรเร่งเสนอรัฐบาลให้ความเห็นชอบในการใช้งบประมาณตั้งศูนย์ข้อมูลนี้ให้เกิดโดยเร็ว 7. ข้าราชการต้องมีจิตสำนึกในด้านจริยธรรมในใจเสมอว่าสิ่งใคควรทำสิ่งใดไม่ควรทำ และ 8. อยากให้ ก.พ.และ ก.พ.ร.ไปพิจารณากรณีที่ปริมาณคนมากกว่าตำแหน่งทำให้เกิดการช่วงชิงวิ่งเต้น และยังเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้บังคับบัญชาที่ไม่ดีนำมาปฏิบัติสนับสนุนคนของตน ถึงเวลาแล้วที่ ก.พ.ร.สำรวจตัวเองถึงภารกิจหน้าที่ปริมาณงาน อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงที่ง่ายต่อการยอมรับในการปรับปรุงหน่วยงานใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น