xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” แย้มช่องแก้ทางตัน ให้หน่วยงานรัฐส่งศาล รธน.ไม่รอขัดแย้ง ตุลาการข้างน้อยร่วมถก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ประธาน กรธ.เผย 2 จุดเปลี่ยนวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ เปิดช่องให้หน่วยงานรัฐสงสัยส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ จากเดิมต้องขัดแย้งก่อน หวังแก้วิกฤตก่อนถึงทางตัน แถมกำหนดให้ตุลาการเสียงข้างน้อยที่ไม่รับคดีต้องร่วมพิจารณาด้วย

วันนี้ (26 เม.ย.) นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวเปิดการสัมมนารับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่เป็นเสาหลักในการค้ำจุนขื่อแปของบ้านเมือง ดังนั้น การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญต้องมีกฎกติกา วางกฎเกณฑ์ให้มีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่ในระหว่างที่ กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญถึงหมวดว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญก็มีความกังวลมากว่าทำอย่างไรจะให้คนเข้าถึงศาลรัฐธรรมนูญได้ง่าย แต่ต้องไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเกิดภาระจนทำไม่ไหว เพราะไม่ใช่ศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองที่มีทั่วไปทั้งประเทศ แต่มีตุลาการเพียง 9 ท่านถ้ามีคดีมากนักจะทำไม่ไหวจะเจอปัญหาความล่าช้าจนไม่เกิดความยุติธรรม

นายมีชัยกล่าวด้วยว่า กลไกที่จะมาศาลรัฐธรรมนูญต้องไมง่ายจนเกินไป และต้องระมัดระวังเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดหลักการให้หน่วยงานรัฐและประชาชนที่มีปัญหาเปิดช่องให้ไปศาลรัฐธรรมนูญได้มากกว่าเดิม จากที่เคยกำหนดว่าต้องเกิดเรื่องทะเลาะกันก่อนจึงจะไปศาลรัฐธรรมนูญได้ เป็นเปิดช่องว่าหากหน่วยใดมีความสงสัยก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ ปัญหาจะได้ไม่ค้างคาและสามารถคลี่คลายวิกฤตได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกหน่วยงาน แม้ว่าการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจมีการโต้แย้งทางวิชาการได้แต่ต้องไม่ล่วงละเมิดศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การบบัญญัติในรัฐธรรมนูญจึงเป็นการเปิดช่องที่ตีบตันในอดีต เพื่อให้มีข้อยุติได้โดยไม่ต้องรอให้มีความขัดแย้งระหว่างองค์กรเกิดขึ้นก่อน เช่นเดียวกับกรณีที่ประชาชนเกิดปัญหาก็สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดในวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

“เราดูประสบการณ์การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ หลายครั้งพบว่าคำวินิจฉัยน่ากังขาในแง่ที่ว่ามีการระดมสรรพกำลังของตุลาการ 9 คนอย่างเต็มที่หรือยัง เพราะบางเรื่องจะต้องใช้มติเสียงข้างมากว่าให้รับ ส่วนเสียงข้างน้อยก็ไม่ทำเท่ากับไม่ได้ใช้ขีดความสามารถของทุกคนในการทำคดี ทำให้เสียพลังความคิดไป จึงเขียนในรัฐธรรมนูญว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้รับพิจารณาแล้วจะอ้างว่าลงมติไม่รับแล้วไม่แสดงความเห็นไม่ได้ คล้ายๆ กับ กกต.ว่าทุกคนต้องลงมติตามประเด็นนั้น จะลาไปเข้าห้องน้ำเพื่อให้เพื่อนเผชิญหน้าอย่างเดียวไม่ได้” นายมีชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น