ประธาน กมธ. ขับเคลื่อนปฏิรูปสื่อสารมวลชน สปท. เผย สภาบรรจุร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสื่อ เข้าที่ประชุม 9 พ.ค. นี้ มี 100 มาตรา คงสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ให้เสร็จใน 2 ปี จ่อชงเขียนบทเฉพาะกาลให้ปลัดสำนักนายกฯ ปลัด วธ. อยู่แค่ 5 ปีแล้วหาใหม่ ยันต้องมีใบอนุญาตแต่ให้สื่อปกติได้อัตโนมัติก่อน 2 ปี ให้ทำผิดจะมีโทษ ส่วนตรวจสอบให้ 3 ชั้น
วันนี้ (25 เม.ย.) ที่รัฐสภา พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง กมธ. ปรับปรุงเนื้อหาและจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ...... เรียบร้อยแล้ว และเตรียมเสนอให้ กมธ. วิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) ในวันที่ 27 เม.ย. นี้ ทั้งนี้ ทราบว่า สปท. จะบรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในระเบียบวาระประชุม วันที่ 9 พ.ค. นี้ สำหรับร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวจะมีทั้งสิ้น 100 มาตรา ขณะที่บทบัญญัติส่วนใหญ่ยังคงหลักการสำคัญไว้ คือ ให้มีสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยมีกรรมการ 15 คน ประกอบด้วย ผู้แทนสภาวิชาชีพจำนวน 7 คน, ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, ผู้แทนคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการอื่นอีก 4 คน ซึ่งกำหนดคุณสมบัติ คือ ต้องเป็นตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ, นักวิชาการและภาคประชาชนสำหรับตัวแทนภาครัฐที่ร่างกฎหมายกำหนดให้เป็นกรรมการสภาวิชาชีพนั้น
“ผมทราบว่าสื่อมวลชนรู้สึกอึดอัด ต่อกรณีที่เป็นข้าราชการในส่วนของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น ในการประชุม สปท. วันที่ 9 พ.ค. นั้น ผมจะเป็นผู้เสนอให้เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลเพิ่มเติม คือ ให้ ปลัดสำนักนายกฯ และ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการ ได้ในช่วง 5 ปีหลังการก่อตั้ง และเมื่อครบเวลาให้ 2 ปลัดนั้นพ้นไป และให้มีการคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ใหม่” พล.อ.อ.คณิต กล่าว
พล.อ.อ.คณิต กล่าวด้วยว่า สำหรับการกำกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนนั้นยังกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพนั้นต้องมีใบอนุญาต และหากผู้ใดที่กระทำผิดตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพกำหนดไว้ จะมีโทษตามลำดับขั้น และสูงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งหมายถึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนได้ ทั้งนี้ การตรวจสอบการทำงานดังกล่าวนั้นจะกำหนดเป็นลำดับ คือ ให้องค์กรตรวจสอบชั้นต้น หากยังไม่เป็นที่ยุติจะส่งให้กับองค์การที่มาจากการวมตัวขององค์กร และถึงขั้นตอนตรวจสอบสุดท้าย คือ สภาวิชาชีพ สำหรับสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนวันที่จะมีกฎหมายฉบับดังกล่าวบังคับใช้ บทเฉพาะกาลกำหนดให้สื่อมวลชนนั้นได้รับใบอนุญาตโดยอัตโนมัติ จากนั้นภายใน 2 ปี ต้องเข้าสู่ระบบของสภาวิชาชีพฯ ส่วนบุคคลที่จะทำอาชีพสื่อมวลชนหลังมีกฎหมายใหม่ ต้องเข้าสู่อาชีพตามระบบใหม่ คือ ผ่านการอบรม ปฐมนิเทศ ขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ไม่เข้าระบบใบอนุญาตจะมีบทลงโทษ
“ในช่วงเริ่มแรกของการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาตินั้น บทเฉพาะกาลกำหนดให้มีคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง จำนวน 13 คน ประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกฯ, ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, เลขาธิการ กสทช., ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์, นายกสมาคมสมาพันธ์วิชาชีพข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทศน์, นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์, ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, ประธานสภาวิชาชีพนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งชาติ และ นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย โดยกำหนดให้ปฏิบัติหน้าที่เตรียมก่อตั้งให้เสร็จภายใน 2 ปี” พล.อ.อ.คณิต กล่าว