สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน นำชาวบ้าน 2 อำเภอยื่นศาลปกครองฟ้องอุตสาหกรรมราชบุรี ผู้ว่าฯ นายก อบต.รางบัว ปลัดอุตฯ อธิบดีกรมโรงงานฯ ขอเพิกถอนใบอนุญาต บ.แวกซ์กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ พร้อมฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ชดใช้รายละ 150,000 บาท ชี้ให้กำจัดขยะประกอบกิจการคนละประเภทกับที่ให้อนุญาต แถมส่งกลิ่นเหม็น พบสารพิษรั่วไหล วิถีชีวิตถูกทำลาย แฉทำผิดจนถูกระงับหลายครั้งแต่สุดท้ายก็เปิดกิจการได้ทุกที
วันนี้ (24 เม.ย.) ที่สำนักงานศาลปกครอง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา กับพวกรวม 49 คน ซึ่งเป็นประชาชนที่อาศัยในชุมชนหมู่ 1 และพื้นที่ใกล้เคียง ต.น้ำพุ อ.เมือง และหมู่ 8 ตำบลรางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เข้ายื่นฟ้องอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัว ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-5 ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของบริษัทแวกซ์กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด หรือชื่อเดิม บริษัท นิ้วเจริญ รีไซเคิล เพ้นท์ จำกัด และสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดร่วมกับบริษัท แวกซ์ ดำเนินการฟื้นฟูสภาพความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสียหายไปให้กลับคืนมาดังเดิม รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับชาวบ้านที่เป็นผู้ฟ้องคดีบางรายที่เสียหายจากการขาดประโยชน์ในการใช้แหล่งน้ำ น้ำใต้ดิน เจ็บป่วยทางสุขภาพร่างกายและจิตใจ พืชผลการเกษตรเสียหายรวม 150,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณกล่าวว่า บริษัท แวกซ์ ประกอบกิจการโรงงานรับกำจัดขยะ และกากอุตสาหกรรม การบดอัดเศษกระดาษ การบดย่อยพลาสติก การอัดเศษโลหะ การนำของเสียหรือผลิตภัณฑ์เคมีมารีไซเคิล ซึ่งแตะละกระบวนการได้แยกกันดำเนินการในอาคารและพื้นที่ต่างๆ รวมประมาณ 9 โรงงาน ในเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ โดยชาวบ้านที่เป็นผู้ฟ้องคดีเห็นว่าอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมออกใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการนำใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเดิมมาเปลี่ยนแปลงและออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานใหม่ซึ่งเป็นการประกอบกิจการคนละประเภทกับใบอนุญาตเดิมที่เคยได้รับ พื้นที่ตั้งของโรงงานดังกล่าว ถูกประกาศให้เป็นที่ ส.ป.ก.
การดำเนินกิจการของบริษัทก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นของสารเคมีแพร่กระจายในอากาศ มีการรั่วไหลของสารพิษจากโลหะหนักสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำใต้ดิน บ่อน้ำบาดาล บ่อน้ำตื้น พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชน ทำให้ชาวบ้านได้รับความเสียหายทั้งด้านร่างกาย สุขภาพอนามัย ทรัพย์สินเสียหาย ขาดประโยชน์ในการใช้น้ำ วิถีชีวิตเกษตรกรรมถูกทำลาย โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จากอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี ได้ตรวจพบการกระทำผิดหลายครั้งตั้งปี 2544 จนถึงปัจจุบันรวมกว่า 17 ปี ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี ก็ได้มีคำสั่งให้มีการแก้ไขปรับปรุงเรื่อยมา การกระทำของบริษัท แวกซ์ จึงเป็นการฝ่าฝืนขอห้ามที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย 2535 พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 อย่างชัดแจ้ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล ควบคุมและลงโทษ กลับไม่ใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดในการสั่งระงับ เพิกถอนใบอนุญาต แต่แก้ไขปัญหาโดยแค่ให้หยุดกิจการชั่วคราวและอนุญาตให้เปิดดำเนินการใหม่ วนไปวนมาซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้บริษัท แวกซ์ฯ กลับมาสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ชาวบ้านจึงจำเป็นต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง