กุนซือนายกฯ ส่งหนังสือแจงคำสั่งไล่ออก อดีตอธิบดีดีเอสไอ เผยดำเนินการตาม ป.ป.ช.หลังมีมติชี้ร่ำรวยผิดปกติกว่า 300 ล้าน รับปรึกษาหน่วยเกี่ยวข้องมาตลอดเพื่อให้ความเป็นธรรม จนเห็นสอดคล้องให้ไล่ออก
วันนี้ (24 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งมติให้ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติและถูกอายัดทรัพย์ โดยพิจารณาโทษไล่ออกว่า ล่าสุดเมื่อเวลา 10.15 น. พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาของนายธาริตส่งหนังสือชี้แจงการมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการกรณีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ถึงสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลว่า
“เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามที่ประธานกรรมการ ป.ป.ช.แจ้งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ร่ำรวยผิดปกติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ และมีหนี้สินลดลงผิดปกติ รวมมูลค่า 346,652,588 บาท ซึ่งเป็นกรณีการดำเนินการตามมาตรา 80 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. 2542 ที่กำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติแล้ว ให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช.แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการสั่งลงโทษไล่ออกหรือปลดออก โดยถือว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่
แต่เดิมนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ต่อมาเมื่อ 24 พ.ค. 2557 คสช.ได้มีคำสั่งให้ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี และเมื่อ 27 มิ.ย. 57 จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีตามลำดับ เรื่องนี้จึงเป็นอำนาจของเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาที่จะเป็นผู้ออกคำสั่ง
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ได้รับเรื่องดังกล่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช.ในช่วงปีที่ผ่านมา และได้ตรวจสอบประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการกรณีดังกล่าวโดยได้มีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาโดยตลอดเพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมายและเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา ทั้งนี้ หน่วยงานดังกล่าวข้างต้นได้ให้ความเห็นสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันว่า กรณีนี้เป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาในการพิจารณาลงโทษตามที่กำหนดในมาตรา 80 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายอื่น ประกอบกับที่ผ่านมาได้มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ว่า การทุจริตต่อหน้าที่ราชการเป็นความผิดร้ายแรง ควรลงโทษไล่ออกจากราชการ จึงได้มีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา”