xs
xsm
sm
md
lg

สตง.ชำแหละ! โปรเจกต์ 104 ล้าน “หอประชุม 100 ปี เมืองธัญญบุรี“เทศบาลนครรังสิต ตะลึง! ก่อนเปิดถูกฉก “สายล่อฟ้า” ราคาเหยียบล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สตง.ชำแหละ! “โครงการก่อสร้างหอประชุม 100 ปี เมืองธัญญบุรี“ ของเทศบาลนครรังสิต ที่ของบอุดหนุนจาก อบจ.ปทุมธานี มูลค่ารวม 104 ล้านบาท ก่อสร้างกว่า 9 ปี ตั้งข้อสังเกตใช้งบสูง ดำเนินงานไม่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่และเป้าหมายที่กำหนดไว้ บริหารจัดการไม่มีมีประสิทธิภาพ ตะลึง! ก่อนเปิดใช้ ถูกโจรย่องเบาฉก “สายล่อฟ้า” มูลค่าเหยียบล้านบาท

วันนี้ (22 เม.ย.) มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่ รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการก่อสร้างหอประชุม 100 ปี เมืองธัญญบุรี อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ของเทศบาลนครรังสิต ที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี (อบจ.ปทุมธานี) ระหว่างปีงบประมาณ 2550-2553 วงเงิน 74.96 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้ อบจ.ปทุมธานี ควรจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณอุดหนุนให้เทศบาลนครรังสิตเท่านั้น แต่กลับพิจารณาดำเนินการเองด้วยการเพิ่มวัตถุประสงค์ของโครงการ จากเดิมเทศบาลนครรังสิตจะดำเนินการเพียงครอบคลุมการใช้ประโยชน์ของประชาชนในเขตอำเภอธัญบุรี

แม้เทศบาลนครรังสิตจะจัดทำแผนพัฒนา 3 ปี (2548-2550) ขอสนับสนุนเพียง 35 ล้านบาท (ก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ คสล.3 ชั้น ขนาดกว้าง 28 เมตร ยาว 60 เมตร พื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 5,040 ตารางเมตร ) ภายหลังก่อสร้างเสร็จมีการตกแต่งอาคารและปรับปรุงเพิ่มงบประมาณอีก 26.70 ล้านบาท จนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 สามารถก่อสร้างเสร็จ และเทศบาลนครรังสิต ได้รับงานใช้ประโยชน์เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2559 ปีที่ผ่านมา รวมใช้งบประมาณ 101.66 ล้านบาท (ระยะเวลาก่อสร้าง 9 ปี)

สตง.สรุปว่า โครงการดังกล่าวใช้งบประมาณที่สูง และยังมีปัญหาในการปฏิบัติที่อาจส่งผลให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่และเป้าหมายที่กำหนดไว้ ไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ตามาตรา 45 (8) ประกอบกับกฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) (12) และตามประกาศคณะกรรมการกรกระจายอำนาจให้แก่การปกครองส่วนท้องถิ่น จนทำให้ อบจ.ปทุมธานี ดำเนินการก่อสร้างอาคารหอประชุมฯ โดยใช้งบประมาณในการดำเนินการสูงเกินความเป็นจริงในการใช้ประโยชน์ของเทศบาลนครรังสิต อีกทั้งมีการตั้งงบประมาณและเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามหมวดรายจ่ายตามข้อเท็จจริง ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 ทำให้ราชการได้รับความเสียหายเป็นเงิน 74.96 ล้านบาท ให้พิจารณาดำเนินการหาผู้รับผิดชอบนำเงินดังกล่าวคืนคลังองค์กรบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และพิจารณาโทษกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ สตง.ยังพบว่า การบริหารจัดการโครงการไม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น จัดสร้างห้องสำนักงานและห้องเก็บของแต่ไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์ และตั้งแต่เปิดใช้ 19 เดือน (ก.ค. 2557-ม.ค. 2559) มีการใช้งาน 62 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 3.26 ครั้ง ใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของชุมชน ไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย มีการใช้ประโยชน์ในการจัดเลี้ยงหรืองานมงคล จัดเก็บค่าใช้จ่ายเพียง 20 ครั้ง ขณะที่ประชาชนร้อยละ 82.10 บริเวณพื้นที่ดังกล่าวตอบคำถาม สตง.ว่า “ไม่ทราบว่า เทศบาลนครรังสิต มีอาคาร 100 ปี และส่วนใหญ่ไม่เคยเข้าไปใช้ประโยชน์” ทั้งนี้พบว่า แตกต่างจากห้องประชุมภายในอาคารเทศบาลนครรังสิต จำนวน 12 ห้อง ซึ่งบางห้องที่มีความใกล้เคียงกับอาคาร 100 ปี แต่กลับมีการใช้ประโยชน์มากกว่า

“เนื่องจากห้องประชุมหงส์มังกร และห้องประชุมมังกรทอง อยู่ภายในอาคารสำนักงานเทศบาลนครรังสิต ตั้งอยู่ริม ถนนรังสิต-ปทุมธานี เป็นที่พบเห็นได้ง่าย และมีสถานที่จอดรถที่เพียงพอ ประกอบกับเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงานอยู่ภายในสำนักงานเทศบาลอยู่แล้ว ทำให้การดำเนินการ จัดกิจกรรมต่างๆ มีความคล่องตัว ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง แตกต่างจากห้องประชุมอาคารหอประชุม 100 ปี เมืองธัญญบุรี ที่ไม่ได้ตั้งอยู่ริมถนน ไม่สามารถมองเห็นได้โดยง่าย และมีระยะทางห่างจากสำนักงานเทศบาลนครรังสิต การจัดกิจกรรมต่างๆ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต้องเสียเวลาในการเดินทาง การใช้งานจึงจะใช้เมื่อ ห้องประชุมภายในอาคารสำนักงานไม่ว่างเท่านั้น”

นอกจากนี้ จากการสำรวจข้อมูลห้องประชุมในเขต อำเภอใกล้เคียงเทศบาลนครรังสิต พบว่าหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ วัด โรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน มีหอประชุมหรือห้อง ประชุมเพื่อใช้สำหรับการจัดประชุมภายในหน่วยงานตนเอง และใช้สำหรับการจัดอบรม สัมมนา หรือ จัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน รวมถึงประชาชนทั่วไปอีกด้วย

มีค่าใช้จ่ายในการจัดการและดูแลรักษาอาคาร ประกอบด้วย การจ้างให้มีการรักษาความปลอดภัยของอาคาร ค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้า รวมเป็นเงินจำนวน 2,80,424.21 บาท แต่มีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการ ใช้ห้องประชุม เพียงจำนวน 258,500.00 บาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 9.04 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ โดยมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการใช้ห้องประชุมฯ ในอัตราที่แตกต่างกัน ทั้งที่เป็นการขอใช้ ประโยชน์เพื่อจัดเลี้ยงงานมงคลต่างๆ ในลักษณะเดียวกัน ซึ่งไม่มีที่มาว่าเพราะเหตุใด จึงมีการจัดเก็บใน อัตราที่แตกต่างกัน

การบริหารจัดการโครงการก่อสร้างฯ เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบให้การใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินการรวมทั้งสิ้น เป็นเงิน 104.77 ล้านบาท เป็นไปอย่างไม่คุ้มค่า เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ และ เทศบาลนครรังสิต ต้องสูญเสียงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ดูแล ซ้อมแซม บำรุงรักษาอาคารอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะต้องตั้งงบประมาณในการบำรุงรักษาเป็นจำนวนเงินที่สูงมากขึ้นทุกปี

รายงานท้ายสุดฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า ในระหว่างการก่อสร้างมีเหตุการณ์สายล่อฟ้า มูลค่า 980,595.56 บาท ถูกโจรกรรมไป โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ยังไม่มีการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดทางละเมิดแต่อย่างใด สำหรับสาเหตุของการสูญหายเกิดจากการไม่ทำการก่อสร้างในสัญญาเดียวให้แล้วเสร็จ แต่มีการแบ่งการก่อสร้างอาคารออกเป็น 3 ระยะ ทั้งที่เป็นการก่อสร้างอาคารเพียงหลังเดียว ซึ่งการก่อสร้างในระยะที่ 2 ยังไม่มีการติดตั้งประตู หน้าต่าง ทำให้เมื่อมีการส่งมอบงานแล้ว ไม่มีเวรยามเฝ้าในบริเวณอาคาร ทำให้ขโมยสามารถเข้าไปในอาคารได้โดยง่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น