xs
xsm
sm
md
lg

พบอีกปม! กม.ปิโตรเลียมฯ ผ่าน สนช.ผิดข้อบังคับ “รสนา” เตือนนายกฯ คิดให้ดีก่อนทูลเกล้าฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560
อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ทำหนังสือเตือนนายกฯ คิดให้รอบคอบก่อนนำร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ เหตุกระบวนการพิจารณาของ สนช.วาระ 2 ผิดข้อบังคับ ไม่ขอมติเรียงตามลำดับมาตรา สมาชิกเสนอตัด ม.10/1 ว่าด้วยการตั้งบรรษัทน้ำมันฯ ออกไป โดยไม่ขอมติที่ประชุมว่าเห็นชอบตามการแก้ไขของ กมธ.วิสามัญฯ หรือไม่ และประธานกรรมาธิการฯ ตัดออกโดยพลการ

วันนี้ (21 เม.ย.) เมื่อเวลา 15.35 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร และ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจรสนา โตสิตระกูล ในหัวข้อเรื่อง “ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่ผ่าน สนช.เป็นการตรากฎหมายที่ไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติ?” โดยมีรายละเอียดว่า

“เป็นเรื่องน่าแปลกใจหรือไม่ที่ กมธ. วิสามัญพิจารณร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ...ใช้เวลาพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ ถึง 9 เดือน (มิถุนายน 2559 - มีนาคม 2560) กว่าจะมีมติ ครม. ยอมให้เพิ่มเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติลงในร่าง กม. ปิโตรเลียมฯ แม้ในน้ำหนักอันบางเบา แต่กลับใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีคว่ำมาตรานี้ได้สำเร็จในที่ประชุม สนช.

ในฐานะที่เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา พอจะคุ้นเคยกับข้อบังคับในการประชุมของสภาในการตรากฎหมาย และเห็นว่า การดำเนินการพิจารณาร่างกฎหมายปิโตรเลียมฯ เพื่อตราเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 น่าจะไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติ

วันนี้ ดิฉันจึงมีหนังสือกราบเรียนไปถึงท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามรายละเอียดดังนี้

21 เมษายน 2560
เรื่อง การตราพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ....ไม่ถูกต้องตามกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติ

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ตามที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ....ในวาระที่สาม เพื่อตราเป็นกฎหมายในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2560 นั้น จากการตรวจสอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระที่สอง มิได้มีการพิจารณาขอมติสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรียงตามลำดับมาตราตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติ พ.ศ. 2557 ข้อ 126 ที่บัญญัติว่า “ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ให้สภาพิจารณาเริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คำปรารภ แล้วพิจารณาเรียงลำดับมาตรา และให้สมาชิกอภิปรายได้เฉพาะถ้อยคำ หรือข้อความที่คณะกรรมาธิการมีการแก้ไขเพิ่มเติม ส่วนกรณีที่มีการสงวนคำแปรญัตติหรือสงวนความเห็นให้อภิปรายได้เฉพาะผู้แปรญัตติที่ได้สงวนคำแปรญัตติหรือกรรมาธิการที่ได้สงวนความเห็นไว้เท่านั้น ทั้งนี้ เว้นแต่ที่ประชุมสภาจะได้ลงมติเป็นอย่างอื่น”

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ...ได้เพิ่มเติม มาตรา 10/1 โดยได้รับความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ให้มีการเพิ่มเติมมาตราดังกล่าวความว่า “ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้ง”

ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมฯ ในวันดังกล่าว หลังเสร็จสิ้นการอภิปรายของสมาชิก ก่อนมีการลงมติว่าสมาชิกจะเห็นชอบกับการเพิ่มเติมมาตรา 10/1 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ หรือไม่ มีสมาชิก สนช. ท่านหนึ่งอภิปรายนอกข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติในข้อ 126 และเสนอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตัดมาตรา 10/1 ในร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมฯ ออกไป เพื่อมิให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต้องลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการเพิ่มเติมมาตรา 10/1 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ

ประธานคณะกรรมาธิการได้ยอมตัดมาตรา 10/1 ออกไปโดยพลการ ทั้งที่การเพิ่มเติมมาตรา 10/1 ได้รับความเห็นชอบทั้งจากมติ ครม. และมติจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงเป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ไม่เป็นไปตามกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติที่ถูกต้อง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1) การพิจารณารายมาตราในวาระที่สอง สมาชิกมีสิทธิอภิปรายเสนอข้อคิดเห็นเพื่อลงมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการฯ หรือเสนอและมีมติให้คณะกรรมาธิการฯ ถอนร่างกลับไปแก้ไขใหม่ก็ได้

2) เนื่องจากร่างแก้ไขตามมาตรา 10/1 เป็นมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ หากจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไข หรือตัดออก ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ต้องขอถอนร่างกลับไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการใหม่ หรือขออนุญาตประธาน สนช. พักประชุมและสั่งการให้มีการประชุมคณะกรรมาธิการเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ เพื่อขอมติจากคณะกรรมาธิการให้ตัดมาตรา 10/1 ออกจากร่าง พ.ร.บ. ที่เสนอต่อสภา และสภาต้องมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการใดๆ รวมทั้งสภาต้องมีมติเห็นชอบ หากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯจะมีมติขอตัดมาตรา 10/1 ออกจากร่างกฎหมาย จึงจะเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติ ดังข้อบังคับการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ข้อ 90 ที่บัญญัติว่า

“การประชุมคณะกรรมาธิการต้องมีกรรมาธิการมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม เว้นแต่ในการประชุมคณะกรรมาธิการที่จะมีการลงมติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องมีกรรมาธิการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมาธิการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และให้นำความในหมวด 3 การประชุมสภาและหมวดอื่นที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้โดยอนุโลม

ในหมวด 3 ส่วนที่ 1 วิธีการประชุม ข้อ 15 บัญญัติว่า การนัดประชุมต้องทำเป็นหนังสือ เว้นแต่ไ้ด้แจ้งนัดในที่ประชุมแล้ว จึงให้ทำหนังสือนัดเฉพาะสมาชิกที่ไม่ได้มาประชุม

การนัดประชุมให้นัดล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน แต่ประธานสภาจะนัดเร็วกว่านั้นหรือนัดประชุมโดยวิธีอื่นก็ได้เมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องด่วน”

3) เมื่อสมาชิก สนช. ไม่มีการลงมติในมาตรา 10/1 ตามที่ปรากฏในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ....ที่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่า เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ประกอบกับไม่มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯเพื่อขอมติให้ตัดมาตรา 10/1 ออกจากร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม และที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็มิได้มีมติให้ความเห็นชอบการตัดมาตรา 10/1 ออกไป ย่อมแสดงว่า ข้อแก้ไขของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯที่ให้เพิ่มมาตรา 10/1 ยังคงอยู่ในร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ...ดังกล่าว

4) ในบันทึกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าด้วยการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว (เรื่องด่วนที่ 5) ตามเอกสารตรวจสอบองค์ประชุมเพื่อลงมติรายมาตรานั้น มีระบุมาตราที่ลงมติในวาระที่สองไว้ คือ มาตรา 4, มาตรา 6, มาตรา 53/3, มาตรา 53/8, หมวด 3/2 มาตรา 53/9, มาตรา 53/10, มาตรา 53/11, มาตรา 53/11/1, มาตรา 53/11/2, มาตรา 53/12, มาตรา 53/16, มาตรา 10 และ มาตรา 10/2 ซึ่งข้ามลำดับการลงมติในมาตรา 10/1 โดยไม่มีบันทึกมติการเห็นชอบจากสมาชิกสภาให้ถอนมาตราดังกล่าวออกไปตามกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติที่ถูกต้องแต่อย่างใด จึงขัดต่อข้อบังคับการประชุม สนช. ข้อ 126 และ ข้อ 128 ที่บัญญัติว่า “เมื่อได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สองเสร็จแล้ว ให้สภาพิจารณาต่อไปในวาระที่สาม”

เนื่องจากสมาชิก สนช. มิได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สอง ลงมติเรียงตามลำดับมาตราตามที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับอย่างครบถ้วน การลงมติต่อไปในวาระที่สามของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เห็นชอบให้ร่างพระราชบัญญัติ ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ...ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป จึงน่าจะเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 และไม่ชอบด้วยการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 13 วรรค 2 และ มาตรา 15 และไม่ชอบด้วยการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 128 และมาตรา 81 อีกด้วย

อนึ่ง ตามนิติประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาในสภานิติบัญญัติ หากร่างกฎหมายใดไม่ผ่านกระบวนวิธีทางนิติบัญญัติที่ถูกต้อง ร่างกฎหมายนั้นย่อมไม่อาจประกาศใช้เป็นกฎหมายได้

จึงขอกราบเรียนมายัง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดพิจารณาให้รอบคอบอย่างยิ่งยวด หากจะนำร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ...ดังกล่าว ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

กราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(น.ส.รสนา โตสิตระกูล)
อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร
อดีตประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา”
กำลังโหลดความคิดเห็น