xs
xsm
sm
md
lg

“สุเทพ” แนะแก้ กม.ตั้งพรรคฯ เพิ่ม 500 เป็น 5,000 คน ขึ้นค่าบำรุงเชื่อคนไทยจ่ายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (แฟ้มภาพ)
“เทพเทือก” ไลฟ์สดเฟซบุ๊กแนะ สนช.พิจารณาแก้ไขกฎหมายตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพิ่มจำนวนคนจดทะเบียนตั้งพรรคจาก 500 เป็น 5,000 เห็นแย้ง กรธ.ควรเพิ่มค่าบำรุงพรรคมากกว่า 100 เชื่อคนไทยบริจาคได้

วันนี้ (21 เม.ย.) เมื่อเวลา 16.00 น. ที่มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปท.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธาน มปท.ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึงเจตนารมณ์ของ กปปส.ต่อกฎหมายพรรคการเมืองตอนหนึ่งว่า วันนี้เป็นช่วงเวลาที่เราจะมาพูดคุยกันเรื่องสำคัญของบ้านเมือง วันนี้กำลังเริ่มกระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญของประเทศไทย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้จัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ไป ตรงนี้เป็นเรื่องที่พวกเรามวลมหาชนจะต้องติดตามและแสดงออก เราคิดเราเห็นเป็นอย่างไรสำหรับร่างกฎหมายที่เขาพิจารณากันในเวลานี้

นายสุเทพกล่าวว่า ส่วนที่ 1 ในร่างกฎหมายพรรคการเมืองก่อนที่จะลงไปถึงรายละเอียดมาตราต่างๆ ตรงที่เป็นบันทึก หลักการและเหตุผลของการทำกฎหมายนี้จำเป็นต้องปรับปรุงเพิ่มเติม คือ ตนและมวลมหาประชาชนต้องการเห็นว่ามีระบุไว้ชัดในเหตุผลว่า ที่เราต้องเขียนกฎหมายนี้เพราะเราต้องการให้พรรคการเมืองเป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง ตรงนี้สำคัญ เพราะถ้าตราบใดที่พรรคการเมืองไม่ได้เป็นพรรคการเมืองของประชาชน การเมืองในประเทศนี้ก็จะไม่เป็นการเมืองของประชาชนในประเทศ ตรงนี้สมควรที่ สนช.จะได้พิจารณา และหากจะปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมก็ควรระบุให้ชัดเลยว่าต้องการให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน เราประชาชนจะมีความสบายใจมาก

นายสุเทพกล่าวต่อว่า การที่พรรคการเมืองจะเป็นพรรคการเมืองของประชาชนไดนั้นก็ต้องดูว่าใครเป็นเจ้าของที่แท้จริงของพรรคการเมือง ในร่างกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 9 ที่ กรธ.ร่างเอาไว้กำหนดว่า ถ้าประชาชนที่มีอุดมการณ์ในทางการเมืองจำนวน 500 คน สามารถร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองได้นั้น ตรงนี้อยากจะบอกว่าน้อยเกินไป อย่างนี้ไม่สอดคล้องกับหลักการที่จะให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน ไม่ต้องดูอะไรมาก ดูจำนวน ส.ส.ในสภาตามรัฐธรรมนูญที่แบ่งเป็น ส.ส.จากเขตเลือกตั้ง 350 คน ส.ส.จากระบบบัญชีรายชื่อ 150 คน รวมกันก็ 500 เอาเฉพาะคนที่อยากเป็น ส.ส.500 คน เข้าชื่อกันก็ตั้งพรรคการเมืองได้แล้ว อย่างนี้ประชาชนไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของร่วม หรือครอบครัวใหญ่ๆ มีพี่น้องมากๆ ไม่กี่ครอบครัวก็ตั้งพรรคการเมืองได้ เจ้าของบริษัทเอาพนักงาน 500 คนร่วมกันจดทะเบียนตั้งพรรคก็ได้ ตนจึงอยากเสนอต่อ สนช.ว่าข้อนี้ควรปรับปรุงเพิ่มจำนวน คิดว่าควรระบุว่าประชาชนที่มีอุดมการณ์เดียวกันจำนวน 5,000 คนขึ้นไปจึงจะรวมตัวกันจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองได้ นี่คือการแก้ในมาตรา 9 และเมื่อแก้ในมาตรา 9 แล้วก็จะมีผลไปแก้ในมาตรา 10 ว่า ผู้ที่ขออนุญาตจัดตั้งพรรคการเมืองต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่อย่างน้อยมีจำนวนครึ่งหนึ่ง คือไม่ต่ำกว่า 2,500 คน เพื่อที่จะเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคและอื่นๆ เป็นขั้นตอนแรกของการจัดตั้งพรรคการเมือง ตัวเลขต้องแก้ให้สอดคล้องที่ไปแก้ไขในมาตรา 9

นายสุเทพกล่าวต่อว่า ในส่วนที่ 2 การที่จะแสดงว่าคนใดเป็นเจ้าของพรรคการเมืองที่แท้จริงก็ต้องดูว่าใครเป็นคนออกเงินให้เป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองนั้น ในอดีตเราเห็นอยู่แล้วว่าคนที่ออกเงินเป็นคนที่กำกับควบคุมพรรคการเมืองได้เบ็ดเสร็จ เพราะเขาเป็นเจ้าของเงิน วันนี้ต้องให้ประชาชนเป็นเจ้าเงินที่ใช้จ่ายในพรรคการเมือง ดูร่างกฎหมายที่ กรธ.จัดทำในมาตรา 15 (15) ที่ระบุว่า ให้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องเสียค่าบำรุงพรรคเป็นรายปี ปีละ 100 บาท ตรงนี้ก็มีเสียงคนโวยวายว่าจะเป็นอุปสรรคทำให้ประชาชนไม่สามารถเป็นเจ้าของพรรคได้นั้น ตรงนี้ไม่จริง เวลานี้คนไทยคิดไกลกว่านั้น เชื่อว่าวันนี่พี่น้องคนไทยที่รักชาติ รักแผ่นดิน พร้อมที่จะแสดงตัวเป็นเจ้าของพรรคการเมืองด้วยการบริจาคเงิน หรือจ่ายค่าบำรุงเป็นรายปี ตนยังคิดว่า 100 บาทยังน้อยไป อย่างน้อยที่สุดเราจะเป็นเจ้าของพรรคการเมืองอย่างสมศักดิ์ศรีก็ควรเสียสละเงินวันละ 1 บาท หรือปีละ 365 บาท วันละ 1 บาทสำหรับการเป็นเจ้าของพรรคการเมืองที่จะทำงานการเมืองเพื่อประเทศเพื่อประชาชน เพื่อแผ่นดินคุ้มค่า ประชาชนส่วนหนึ่งเชื่อว่าพร้อมที่จะทำ ตรงนี้สำคัญมาก แต่ที่ยกร่างเขียนไว้ 100 บาท และไปกำหนดในบทเฉพาะกาลในช่วงแรกให้เสียค่าบำรุงได้ต่ำกว่า 100 บาทก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 50 บาท อย่างนี้เราคิดว่าน้อยไปเพราะว่ามันจะทำให้พรรคการเมืองต้องไปพึ่งพาเงินจากแหล่งอื่น เจ้าของทุนอื่นที่ไม่ใช่ประชาชนแล้วจะมีผลให้เจ้าของเงินที่เข้าต้องควบคุมพรรคมีบทบาท ต่อไปประชาชนก็จะเป็นแค่องค์ประกอบ ส่วนประกอบหรือเป็นแค่สมาชิกอย่างที่เป็น

นายสุเทพกล่าวต่อว่า เจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชนนั้นไม่ต้องการไม่ต้องการเห็นประชาชนเป็นเพียงส่วนประกอบของพรรคการเมือง แต่ต้องการให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง และการแสดงความเห็นใน 2 เรื่องนี้ก็เพื่อที่จะให้ สนช.ได้ตระหนักว่าการที่จะทำพรรคการเมืองให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างน้อย 2 ส่วนต้องสำคัญ คือ จำนวนคนที่จะเป็นเจ้าของพรรค และจำนวนเงินที่เจ้าของพรรคจะต้องบริจาคเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายพรรคในแต่ละปี
กำลังโหลดความคิดเห็น