xs
xsm
sm
md
lg

“ประสาร” ชี้ช่อง สนช.เก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าแบบบุคคลธรรมดา ลดเหลื่อมล้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสปช. และ แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.  (แฟ้มภาพ)
แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. แนะ สนช. ควรใช้โอกาสนี้เก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าเหมือนบุคคลธรรมดา ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวย และคนจน

วันนี้ (18 เม.ย.) นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต สปช. และ แกนนำ กลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ... ซึ่งเป็นฉบับใหม่ที่จะมาใช้แทนฉบับเก่า ได้ผ่านขั้นรับหลักการจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วและกำลังอยู่ในขั้นแปรญัตติเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในวาระ 2 ต่อไป สาระสำคัญอยู่ในมาตรา 34 ในวงเล็บ 1 - 4 ที่แบ่งฐานการเสียภาษีเป็น 4 อัตรา คือ ที่ดินทำเกษตรกรรม เสียภาษี ไม่เกิน 0.2% ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย เสียภาษีไม่เกิน 0.5% ที่ดินเพื่อประโยชน์อื่นๆ เสียภาษี ไม่เกิน 2% ที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ เสียภาษี 2 - 5%

โดยที่ดินถือเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญที่สุด ในขณะเดียวกัน การถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินของคนไทย ระหว่างคนรวยกับคนจน เป็นสภาพรูปธรรมความเหลื่อมล้ำที่เด่นชัดที่สุด และเป็นวิกฤตใหญ่ของสังคมไทยปัจจุบัน มีตัวเลขความเป็นจริงที่น่าพิจารณาว่าเอกชนรายหนึ่งเพียงคนเดียวเท่านั้นเป็นเจ้าของที่ดิน 6.3 แสนไร่ อีกรายหนึ่งครองครองที่ดิน 2 แสนไร่ อีกหลายคนครอบครองคนละนับหมื่นไร่ นักการเมืองหลายคนครอบครองที่ดินนับพันไร่ มีคน 20% ที่ครอบครองที่ดินถึง 80% จากจำนวนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิราว 130 ล้านไร่ คนไทย 10% ครอบครองที่ดินโดยเฉลี่ยคนละ 100 ไร่ มีคนไทย 10% ครองที่ดินโดยเฉลี่ย คนละ 1 ไร่ และมีคนไทย 8.89 แสนคน ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง มีชาวนา 1 ใน 3 เท่านั้นที่มีที่ดินทำกินของตนเอง

“ตัวเลขที่น่าสนใจ คือ เจ้าของที่ดินที่มีที่ดินเกิน 5,000 ไร่ ใช้ประโยชน์จากที่ดินเพียง 3% และยังพบอีกว่าการกักตุนที่ดินโดยไม่ใช้ประโยชน์ ทำให้ประเทศชาติสูญเสียรายได้อย่างต่ำปีละ 1.27 แสนล้านบาท ตัวเลขที่เอ่ยถึงนี้ บ่งชี้ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องการถือครองที่ดินเป็นวิกฤตที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน”

นายประสาร กล่วต่อว่า น่าสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฉบับดังกล่าว กำหนดอัตราภาษีสูงสุดแค่ 5% เท่านั้น (มาตรา 34, 38, 39) ซึ่งไม่ระคายผิวเศรษฐีที่ดินคนใดเลย ทั้งๆ ที่เอกสารประกอบการพิจารณา พ.ร.บ. ดังกล่าวได้บันทึกไว้ในข้อดีและข้อสังเกตว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ ช่วยเพิ่มความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และปัญหาการเก็งกำไร หรือการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในประเทศไทย กล่าวคือ ผู้มีทรัพย์สินมูลค่าสูง มีภาระภาษีมากกว่าผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่าต่ำ ดังนั้น สนช. ควรใช้โอกาสนี้แปรญัตติให้เก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า นั่นคือ การแบ่งจำนวนที่ดิน ใครถือครองที่ดินเป็นร้อยไร่ พันไร่ หมื่นไร่ แสนไร่ ก็แบกรับภาระภาษีที่ดินหนักขึ้นแบบเดียวกับการเก็บภาษีรายได้บุคคล หากทำได้เช่นนี้ก็จะเป็นหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งการปฏิรูปที่ดินจริงของประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น