xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ซัดกลุ่มค้านบรรษัทฯ ขวางระบบตรวจสอบ หวังสวาปาม 2 ล้านล้าน “แหล่งบงกช-เอราวัณ” อีก 10 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน (ภาพจากแฟ้ม)
อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ชี้ชัดกลุ่มทุนพลังงานคัดค้านบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ เพื่อขัดขวางระบบตรวจสอบปริมาณน้ำมันและต้นทุน ไม่ให้มีหน่วยงานรัฐที่บริหารและขายปิโตรเลียมเองได้ เอื้อเอกชนกินผลประโยชน์ 2 ล้านล้านจากแหล่งบงกช-เอราวัณอีก 10 ปี จึงเล่นปาหี่ให้ร้ายบรรษัทฯ ปลุกผี “ปั๊มสามทหาร” ยกความล้มเหลวของเม็กซิโก-เวเนฯ มาอ้าง แต่ไม่พูดถึงปิโตรนาสของมาเลเซียที่ประสบความสำเร็จ

วันนี้ (15 เม.ย.) เมื่อเวลา 16.04 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจรสนา โตสิตระกูล ในหัวข้อเรื่อง “เหตุใดกลุ่มทุนพลังงานต้องคัดค้านบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติอย่างสุดจิตสุดใจ!?!” โดยมีรายละเอียดว่า

“บรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่เป็นตัวแทนของรัฐในการทำงานประสานกับบริษัทเอกชนในระบบแบ่งปันผลผลิต

การแบ่งปันผลผลิตก็มีความหมายตรงๆ คือผลิตปิโตรเลียมได้เท่าไหร่ก็แบ่งกันระหว่างรัฐกับเอกชน โดยรัฐเป็นเจ้าของผลผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งข้อมูลการสำรวจผลิตทั้งหมด ส่วนเอกชนเป็นเจ้าของทุนและความรู้ทางเทคโนโลยี

ในระบบแบ่งปันผลผลิตมีความยุติธรรมต่อเอกชนและต่อประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียม เพราะค่าใช้จ่ายในการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่บริษัทเอกชนลงทุนออกไปก่อน ถือว่าเป็นต้นทุนที่สามารถนำมาหักออกจากผลผลิตปิโตรเลียมที่ได้ ก่อนนำส่วนที่เหลือมาแบ่งปันกัน

ดังนั้นรัฐจึงต้องมีคนมีความรู้ที่จะกำหนดว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่เป็นต้นทุนในการสำรวจและผลิตจริงๆ ที่จะอนุญาตให้นำมาหักจากปิโตรเลียมที่ผลิตได้ เพราะผลผลิตส่วนที่ให้หักเป็นค่าใช้จ่ายเรียกว่า “ปิโตรเลียมส่วนต้นทุน” (Cost oil หรือ Cost gas) เป็นส่วนที่บริษัทเอกชนจะได้รับคืนไป

ส่วนที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายแล้ว เรียกว่าปิโตรเลียมส่วนกำไร (Profit oil หรือ Profit gas) เป็นส่วนที่จะนำมาแบ่งปันกันในสัดส่วนระหว่างรัฐกับเอกชนตามที่ตกลงกันโดยวิธีการประมูล บริษัทใดที่มีประสิทธิภาพในการบริหารทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำ ย่อมสามารถเสนอส่วนแบ่งให้รัฐมากกว่ารายอื่น ก็จะเป็นผู้ประมูลได้สัญญาไป

แต่ในระบบสัมปทาน เป็นการยกกรรมสิทธิ์ให้เอกชนไปบริหารจัดการทั้งหมด รัฐจึงไม่ได้มีกลไกหรือโครงสร้างที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำกับ ดูแลใกล้ชิดและตรวจสอบอย่างเข้มข้นเหมือนในระบบแบ่งปันผลผลิต ดังนั้นจึงไม่มีการกำกับ ตรวจสอบทั้งปริมาณผลผลิตที่ได้ และไม่ได้กำกับดูแลค่าใช้จ่ายที่นำมาหักว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ถูกต้องเหมาะสมหรือมีประสิทธิภาพหรือไม่ บริษัทเอกชนอาจจะนำค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลิตทั้งในและนอกราชอาณาจักรรวมทั้งรายจ่ายที่อยู่ในบรรดาเกาะฟอกเงินที่ตรวจสอบไม่ได้มาอ้างว่าเกี่ยวข้องกับกิจการการสำรวจและผลิตมาหักค่าใช้จ่ายเพื่อให้เหลือกำไรน้อยลงก่อนจะนำมาเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมให้รัฐก็เป็นไปได้

ในระบบแบ่งปันผลผลิต สิ่งที่สำคัญมีอย่างน้อย 3 ประการ คือ

1) มีกลไกการตรวจนับว่ามีผลผลิตเท่าไหร่ในแต่ละวัน อดีตประธานผู้บริหารของบริษัท ปิโตรนาส (ที่เป็นบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติของมาเลเซีย) เคยเล่าให้ฟังว่า บริษัท ปิโตรนาส มีห้องควบคุมที่มีเครื่องวัดปริมาณการไหลของปิโตรเลียมที่เป็นปัจจุบัน (real time) ที่ทั้งบริษัท ปิโตรนาส และบริษัทเอกชนที่มาร่วมงานกันในระบบแบ่งปันผลผลิตต่างเห็นตัวเลขเดียวกัน จึงไม่ต้องมาเถียงกันในเรื่องของปริมาณปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในแต่ละวัน แต่ละเดือน

2) มีการกำหนดต้นทุนมาตรฐาน และกำหนดว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจและผลิตจริงที่อนุญาตให้นำมาหักเป็นปิโตรเลียมส่วนต้นทุน และบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติมีหน้าที่ต้องกำกับให้เป็นต้นทุนที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย

3) บริหารจัดการและขายผลผลิตปิโตรเลียมส่วนที่เป็นของรัฐ ที่ได้รับจากการแบ่งปันตามข้อตกลงที่เป็นธรรม

หากไม่มีหน่วยงานที่มีความรู้ความสามารถในการควบคุม ตรวจสอบทั้งต้นทุน และปริมาณปิโตรเลียมที่ผลิตได้ก็จะอาจจะทำให้ส่วนแบ่งของรัฐรั่วไหล และหน่วยงานของรัฐดังกล่าวต้องสามารถบริหารการขายปิโตรเลียมส่วนของรัฐเองอย่างมีประสิทธิภาพและทำให้เกิดรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอีกด้วย

การมีบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติที่เป็นหน่วยงานของรัฐจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นในระบบแบ่งปันผลผลิต

กลุ่มทุนพลังงานเอกชนต่อต้านบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติอย่างสุดจิตสุดใจ ไม่ต้องการให้มีบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด นอกจากใช้สื่อหลายสำนักช่วยกันประโคมข่าวความล้มเหลวของบริษัทน้ำมันแห่งชาติทั้งในเม็กซิโก และเวเนซุเอลาแล้ว หมัดเด็ดล่าสุดคือการวาดภาพว่าบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ คือการฟื้นคืนชีพของแบรนด์สามทหาร ที่บรรดานายทหารระดับนายพลจะเข้ามาฉกฉวยเอาผลประโยชน์

ปาหี่ตื้นๆ ที่หลอกประชาชน น่าจะเป็นบทละครที่ร่วมมือกันหลายฝ่าย เริ่มโดยกลุ่มทุนพลังงานออกมาตีปลาหน้าไซโดยอาศัยสื่อระดับยักษ์ใหญ่ที่พาไปเลี้ยงดูปูเสื่อถึงสหรัฐอเมริกา เเละแวะดูบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในเม็กซิโก พร้อมรับโพยข่าวแจกมาช่วยกันเขียนโจมตีว่าเป็นตัวอย่างความล้มเหลวที่ประเทศไทยไม่ควรเดินตามโดยเด็ดขาด ตามมาด้วยการส่งขุนนางใหญ่ออกมาวาดภาพปลุกผีการฟื้นคืนชีพของตราสามทหาร มาตีทหารระดับนายพลเกษียณอายุ 6 คนใน สนช.ว่ากำลังวางแผนจะเข้ามาแสวงหาประโยชน์ผ่านบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ ถึงขนาดบางสื่อช่วยขยายผลเพื่อความเนียนด้วยการเอาบัญชีทรัพย์สินของ 6 นายพลมาสปอตไลต์กัน (แต่ไม่ยักเอาทรัพย์สินของคนสนับสนุนให้ตัดบรรษัทปิโตรเลียมฯมาสปอตไลท์กันบ้าง)

ส่วนรัฐบาล คสช.ก็ทำเป็นรับลูกกลัวตัวเองจะแปดเปื้อน หันมาชี้นิ้วเล่นงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ว่าเป็นผู้เสนอให้มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลต้องการทำ เพราะอ้างว่าไม่มีเงิน ไม่มีความรู้ ไม่มีคน ทั้งที่รัฐบาลนี้ประกาศว่าจะนำพาประเทศเข้าสู่ ไทยแลนด์ 4.0 แต่กลับแสดงความไร้วิสัยทัศน์และความไร้สมรรถภาพในการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาล

พาเหรดตามมาด้วยสมาชิก สนช.ระดับหัวหมู่ทะลวงฟันออกมาอภิปรายกล่อมสมาชิก สนช.ได้ทั้งสภาโดยละมุนละม่อมว่าเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองของบ้านเมืองระหว่างชนชั้นสูงด้วยกัน สมควรต้องตัดบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติในมาตรา10/1 ออกไปจากร่างกฎหมายปิโตรเลียม และทำขึงขังว่าต้องเขียนไว้ในข้อสังเกตอย่างจริงจังว่าต้องศึกษาเรื่องบรรษัทพลังงานแห่งชาติภายใน 1 ปี แล้วเสียงโหวตรับก็ถล่มทลาย ปิดฉากบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติในร่างกฎหมายปิโตรเลียมไปในทันที

เรื่องนี้อาจตั้งเป็นข้อสังเกตว่าประเทศของเราในขณะนี้ ทั้งรัฐบาลและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาจไม่มีความรู้ แต่มีอำนาจบริหาร และมีอำนาจออกกฎหมาย กติกาให้กับบ้านเมือง ความไม่รู้จริงแสดงให้เห็นจากการออกกฎหมายที่ใช้บริหารทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีมูลค่ามหาศาลถึงปีละ 4-5 แสนล้านบาท แต่สมาชิก สนช.ไม่เข้าใจว่า ในเมื่อกฎหมายปิโตรเลียม 2514 บัญญัติห้ามต่ออายุสัมปทานให้เอกชนอีกเมื่อให้สัมปทานผลิตครบ 2 ครั้งแล้ว โดยที่แปลงเอราวัณ และบงกชเข้าเงื่อนไขนี้ จึงไม่สามารถต่อสัมปทานได้อีก ทำให้ต้องแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมเพื่อให้มีระบบอื่นมารองรับการบริหารปิโตรเลียมใน 2 แปลงนี้ ที่ไม่ใช่ระบบสัมปทาน และเมื่อแก้ไขกฎหมายโดยเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างบริการเข้ามาแล้ว ก็จำเป็นต้องมีโครงสร้างและกลไกใหม่ที่แตกต่างจากระบบสัมปทานเข้ามารองรับระบบแบ่งปันผลผลิตด้วย

ระบบแบ่งปันผลผลิต จะต้องมีบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติมาเป็นผู้ดำเนินการร่วมกับเอกชน และต้องสามารถบริหารการขายปิโตรเลียมส่วนที่เป็นของรัฐด้วย ไม่ใช่ไปยกปิโตรเลียมส่วนของรัฐให้เอกชนมาขายแทน

ร่างแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมได้เพิ่มระบบใหม่ แต่ไม่มีกลไกหรือโครงสร้างมารองรับระบบใหม่ แต่ได้รับการโหวตผ่านจากสมาชิก สนช.เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 อย่างท่วมท้น โดยตัดบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติซึ่งเป็นกลไกและโครงสร้างสำคัญของระบบใหม่ออกไป และไปใส่ไว้เป็นข้อสังเกตให้ไปศึกษาภายใน 1 ปีนั้น ถ้าไม่ใช่เพราะขาดความรู้ความเข้าใจในการออกกฎหมาย ก็ต้องตั้งข้อสงสัยว่า นี่จะเป็นความร่วมมือแสดงปาหี่หลอกประชาชนเพื่อตัดบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติออกไปตามที่กลุ่มทุนและรัฐบาลต้องการ ใช่หรือไม่

เป็นการอำพรางระบบสัมปทานด้วยระบบแบ่งปันผลผลิตแบบกำมะลอ เพื่อเลี่ยงข้อห้ามในกฎหมายปิโตรเลียมที่ไม่ให้ต่อสัมปทานใน 2 แปลงนี้อีก ใช่หรือไม่

การออกกฎหมายเช่นนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงานให้ยังคงแสวงหาประโยชน์จากแปลงเอราวัณและบงกชในรูปแบบสัมปทานจำแลงต่อไป ใช่หรือไม่

การเสนอให้ตั้งข้อสังเกตในร่างกฎหมายว่าต้องศึกษาการมีบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติภายใน 1 ปี จึงไม่เป็นสาระอะไร ในเมื่อรัฐบาลจะเปิดให้มีการประมูล 2 แหล่งนี้ภายในกลางปี 2560 ด้วยระบบแบ่งปันผลผลิตแบบกำมะลออยู่แล้ว ข้อเสนอของ สนช.จึงเป็นเพียงการลวงตาถ่วงเวลาทั้งที่อาจรู้อยู่แล้วว่า “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้หมดแล้ว” หรือกว่าประชาชนจะรู้ตัว เนื้อก็เข้าปากคนอื่นไปแล้ว ใช่หรือไม่ !?!

ละครตื้นๆ ตบตาประชาชนในการออกกติกา แก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม เพื่อเอื้อกลุ่มทุนผูกขาดเอกชนให้ได้รับผลประโยชน์ในแหล่งเอราวัณ และบงกชต่อไปอีกอย่างน้อย 10 ปี ซึ่งมีมูลค่าถึงประมาณ 2 ล้านล้านบาทด้วยระบบสัมปทานจำแลง หรือ ระบบแบ่งปันผลผลิตแบบกำมะลอนี้ ใครมองปาหี่เรื่องนี้ไม่ออก ขอให้ยกมือขึ้น

เรื่องการคัดค้านบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติอย่างสุดจิตสุดใจนี้ ทำให้ดิฉันนึกถึงเรื่องเล่าของเพื่อนคนไทยคนหนึ่งที่ไปใช้ชีวิตในประเทศแถบสแกนดิเนเวียมากว่า 20 ปี เพื่อนคนนี้เล่าให้ฟังว่า

มีคนไทยที่อาศัยอยู่ในเมืองเดียวกับเพื่อนดิฉันและทำงานเป็นคนเก็บค่าผ่านประตูจอดรถมากว่า 10 ปีโดยที่เจ้าของพื้นที่ได้ปล่อยให้คนคนนี้เป็นผู้เก็บค่าจอดรถและส่งรายได้มาตลอดหลายสิบปี โดยไม่เคยมีระบบตรวจสอบปริมาณจำนวนรถที่เข้ามาใช้บริการ เพื่อนเล่าว่าคนคนนี้ไม่เคยลาหยุดเลย ทั้งที่บางครั้งอยากจะลาไปพักผ่อนบ้าง เขาเล่าว่า คนเฝ้าที่จอดรถคนนี้ส่งเงินรายได้ให้เจ้าของน้อยกว่าที่เก็บได้จริงประมาณ 50% จึงไม่กล้าลาหยุดไปไหน

เพราะถ้าลาหยุดเมื่อไหร่ ความต้องแตกทันที ถ้าเจ้าของพื้นที่หาคนมาทำงานแทน ความจริงต้องปรากฎแน่ว่า หลายปีที่ผ่านมา เจ้าของพื้นที่ถูกโกงรายได้ไปมากน้อยเท่าไหร่

เจตนาขัดขวางการมีบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ เพื่อไม่ให้มีระบบตรวจสอบปริมาณปิโตรเลียม เพื่อไม่ให้มีระบบคุมค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนของเอกชน และเพื่อไม่ให้มีหน่วยงานรัฐที่สามารถบริหารและขายปิโตรเลียมส่วนของรัฐได้เองนั้น คือหัวใจของการผ่องถ่ายผลประโยชน์ให้เอกชนผูกขาดธุรกิจพลังงานต่อไป กล่าวโดยสรุปคือ การขัดขวางการตั้งบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ ก็คือ การขัดขวางหลักธรรมาภิบาลและการตรวจสอบ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเด็นผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมของประชาชน ที่ถูกฉกฉวยไปสร้างความร่ำรวยให้กลุ่มทุนผูกขาดอย่างไม่เป็นธรรม

ยิ่งกว่านั้นการไม่ยอมให้มีบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ จะเป็นเพราะมีสาเหตุแบบเดียวกับกรณีคนเฝ้าที่จอดรถด้วยหรือไม่ ขอให้วิญญูชนที่เป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของทรัพยากรโปรดตรองดูเถิด

คงเป็นเรื่องตลกสำหรับวิญญูชน หากได้ฟังข้ออ้างของลูกจ้างที่เจ้าของพื้นที่จอดรถจ้างไว้ให้คอยรับเงินจากคนเฝ้าที่จอดรถ ไปร่วมมือกับคนเฝ้าที่จอดรถคัดค้านเจ้าของพื้นที่ ที่ต้องการติดตั้งระบบตรวจสอบจำนวนรถที่เข้ามาใช้บริการในแต่ละวัน ท่านคิดว่าเจ้าของพื้นที่ควรเชื่อ 2 คนนี้หรือไม่ ที่อ้างว่าการลงทุนติดตั้งระบบตรวจสอบจำนวนรถเป็นเรื่องล้าหลัง และจะทำให้เจ้าของที่จอดรถต้องล้มละลาย เพราะต้องลงทุนเป็นเงินจำนวนมหาศาลโดยไม่จำเป็น เพราะว่ามีรถมาใช้บริการน้อยจนไม่คุ้มค่ากับการลงทุนติดตั้งระบบตรวจสอบจำนวนรถ ดังนั้นควรปล่อยให้คนเฝ้าที่จอดรถเป็นผู้ทำรายงานจำนวนรถต่อไป

แต่เรื่องบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ จะเป็นตลกร้ายยิ่งกว่า ถ้าคนในสังคมเชื่อปาหี่ตบตาประชาชนที่บอกว่า บรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติจะทำให้ประเทศถอยหลัง และอาจถึงกับจะล่มจมเสียหายเหมือนเม็กซิโก และเวเนซูเอล่า โดยไม่พูดถึงบริษัท ปิโตรนาส ใกล้ๆ บ้านของเราว่า เหตุใดประเทศมาเลเซียที่มีบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2517 จึงไม่ล่มจมแบบเม็กซิโก และเวเนซุเอลา เขาทำสำเร็จและเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองและประชาชนของเขาได้อย่างไร

รสนา โตสิตระกูล
15 เมษายน 2560”
กำลังโหลดความคิดเห็น