xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” หนุน กรธ.ส่ง 2 กม.ลูกให้ สนช.ดูก่อน เชื่อสุดท้ายแก้เนื้อหาเพียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
หัวหน้าประชาธิปัตย์ หนุน กรธ.ส่งร่างกฎหมายลูกพรรคการเมือง และ กกต.ชง สนช.ก่อน เพื่อให้คนจัดโหวตและผู้เล่นเตรียมตัว รับบทบัญญัติค่อนข้างสับสน เชื่อสุดท้ายปรับแก้เนื้อหาเพียบ หวัง กม.ออก คสช.จะทบทวนคำสั่งห้าม คาดทุกพรรคยอดลดหลังบังคับสมาชิกจ่ายเงิน รับสงสัยถ้าไม่ใช่สมาชิกแต่ซื้อเสียงจะไม่ถูกลงโทษหรือไม่

วันนี้ (14 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปฏิทินการทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าตนเห็นด้วยที่ กรธ.จะส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาก่อน เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพรรคการเมืองต้องเตรียมตัวล่วงหน้า สำหรับการปรับเปลี่ยนตามกฎหมายใหม่ เพราะถ้าต้องปรับตัวช่วงเลือกตั้ง ก็จะสร้างความสับสนวุ่นวายได้ ดังนั้นการที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.วางยุทธศาสตร์ว่าควรเร่งทำกฎหมาย 2 ฉบับนี้ก่อนจะทำกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง จึงน่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด เนื่องจากบทบัญญัติของร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองมีความสับสนค่อนข้างมาก อาทิ การให้สมาชิกเสียค่าบำรุงพรรค ซึ่งระหว่างนั้นจะตีความสถานะสมาชิก องค์ประกอบสาขาพรรคที่ประชุมใหญ่ และการเรียกจะประชุมสมาชิกครั้งแรกกันอย่างไร ตนเชื่อว่าหลังจากการขอความเห็นจากพรรคการเมืองแล้ว สนช.จะต้องปรับแก้ไขเนื้อหาของกฎหมายนี้มากพอสมควร

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า การที่กฎหมายจะกำหนดกรอบเวลาที่พรรคการเมืองต้องแก้ข้อบังคับให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ ตนคาดว่าหลังจากประกาศใช้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 3-4 เดือน พรรคต้องทำข้อบังคับให้เสร็จ แต่ยังติดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ห้ามพรรคการเมืองประชุม ดังนั้นเมื่อกฎหมายพรรคการเมืองออกมาแล้ว คิดว่า คสช.ต้องทบทวนและผ่อนคลายคำสั่ง ส่วนการเตรียมความพร้อมของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ไม่มีปัญหา เพราะโครงสร้างพรรคให้สมาชิกมีส่วนร่วมมากกว่าที่กฎหมายเขียน แต่ปัญหาใหญ่คือทำอย่างไรในการทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรคจำนวนล้านคนถึงการจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคที่ถือเป็นเรื่องใหม่ อาจทำให้ทุกพรรคมีจำนวนสมาชิกลดลง และต้องมีความชัดเจนเรื่องสิทธิของสมาชิกพรรคด้วย

“หลักคิดที่ให้สมาชิกจ่ายค่าบำรุงพรรคจะสร้างความเป็นเจ้าของนั้นเป็นหลักการที่ดี แต่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและเปลี่ยนวิธีคิดของสังคม ถ้ายังมีการกีดกันโดยสะท้อนผ่านกฎหมาย ก็สวนทางกัน ถ้าทำแบบอารยะประเทศได้จริง อาทิ การเป็นเจ้าของมีส่วนร่วม ไม่ถูกตัดสิทธิหรือถูกกลั่นแกล้งเพ่งเล็งโดยฝ่ายตรงข้าม ก็ไม่มีปัญหา แต่บางเรื่องก็แปลก อาทิ การเขียนบทลงโทษการซื้อขายตำแหน่ง เช่น การระบุว่าถ้าพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคซื้อขายทางการเมืองต้องมีโทษ ขอถามว่าถ้าคนที่ไม่เป็นสมาชิกไปกระทำอย่างนั้นจะไม่ถูกลงโทษใช่หรือไม่ ตอนนี้จึงไปเติมคำว่า “ผู้ใด” เข้าไปแทน ซึ่งบทบัญญัตินี้ไม่ควรอยู่ในกฎหมายพรรคการเมือง แต่ควรอยู่ในกฎหมายเกี่ยวกับการปราบปรามทุจริตหรือการบริหารราชการแผ่นดิน” นายอภิสิทธิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น