xs
xsm
sm
md
lg

กางงบประมาณ "ก.ศึกษาฯ-ม.รัฐ” ผิดหรอ??ที่ "รองอธิการ" ต้องเปิดทรัพย์สิน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ป้อมพระสุเมรุ

ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 40 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2560 ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้นี่ท่าจะศักดิ์สิทธิ์

เพราะทำเอา 13รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศลาออกจากตำแหน่งก่อนที่กฎหมายจะบังคับใช้ไม่กี่วัน เพื่อจะได้ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ส่วนจะหัวหมอหรือเปล่า ยังต้องทั้งหมดยังรักษาการอยู่ในตำแหน่งเดิม

เรื่องนี้พิสูจน์ได้ไม่ยากว่า หัวหมอหรือไม่หัวหมอ เพราะปัจจุบันทั้งหมดเหลือวาระอีกปีเศษๆ ถ้ารักษาการอยู่ในตำแหน่งยาวล่ะก็ชัด งานนี้ต้องประทับตราว่า เป็นชั้นเชิงการเลี่ยง “บาลี”

กล่าวง่ายๆ คือ การที่ทั้ง 13คนลาออกก่อนวันที่ 3 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่ประกาศของสำนักงานป.ป.ช.มีผลบังคับใช้ ทำให้ทั้งหมดไม่ต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แต่ถ้าลาออกภายหลังตรงนั้นอย่างไรเสียก็ต้องยื่นกรณีพ้นตำแหน่ง

แล้วไม่ได้มีแค่ 13 คนเท่านั้น เพราะจากนั้นไม่นาน ปรากฏว่า มีรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) 1 ราย ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งอีกคน ด้วยเหตุผลเดียวกันว่า เตรียมเอกสารหลักฐานการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินไม่ทันแน่ๆ เลยตัดไฟตั้งแต่ต้นลมเอาเสียเลย

ดูวิธีการแก้ไขปัญหาคนระดับรองอธิการบดีเอาแล้วกัน

จากนั้นต้องรอดูว่า จะมีรองอธิการบดีจากทั่วประเทศลาออกอีกหรือไม่ แต่กรณีลาออกภายหลังวันที่ 3เมษายนไปแล้วนี่ไม่ใช่ว่าจะรอดตัว เพราะมีสิทธิ์จะโดนให้ยื่นกรณีพ้นจากตำแหน่ง ตรงนี้ต้องรอป.ป.ช.เคาะอีกทีว่า จะเอาอย่างไร

แต่ที่แน่ๆ เมื่อเกิดปัญหานี้มันมองได้ 2 ทาง ถ้าไม่เป็นการปรักปรำจนเกินไป การที่รองอธิการบดีลาออกก็เพราะ ประกาศสำนักงานป.ป.ช.มันเกิดขึ้นกลางคัน เร็วไป ทำให้ไม่ได้ตั้งตัว อีกทั้งคนเหล่านี้ไม่มีประสบการณ์การยื่นอาจผิดพลาด เลยกลัว ตรงนี้มันก็ฟังขึ้น

แต่การลาออกเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยมันก็ไม่ใช่วิธีที่ถูก เพราะทาง “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช.ก็ประกาศลั่นว่า พร้อมจะยืดหยุ่นให้ แถมพร้อมจะส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้หากมีการร้องขอ ซึ่งถ้าบริสุทธิ์ผุดผ่อง ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้อยู่แล้ว ไม่มีใครฆ่าแกงแน่ๆ โดยเฉพาะนี่เป็นการยื่นครั้งแรก

แต่ถ้าไม่พอใจเพราะคิดว่าตำแหน่งรองอธิการบดีเป็นตำแหน่งวิชาการที่ครูบาอาจารย์ที่ไหนจะโกง ป.ป.ช.จะมาตรวจสอบทำไม ก็ต้องหยุดดูข้อมูลตรงนี้ก่อนการที่ป.ป.ช.จะเลือกว่าตำแหน่งไหนจะต้องยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้บ้าง จะมีทีมงานคอยวิเคราะห์ว่า ตำแหน่งไหนสุ่มเสี่ยงจะก่อให้เกิดการทุจริต ตรงนั้นมีงบประมาณอยู่เยอะ หรือมีอำนาจพอที่จะหาช่องทุจริตคอร์รัปชั่นได้

ก็เหมือนเป็นการลดความเสี่ยง หรือจะเรียกว่าเป็นมาตรการป้องกันปราบปรามทำนองนั้น อย่างรอบนี้ไล่เรียงดูตำแหน่งที่ประกาศพร้อมกับของรองอธิการบดี จะเห็นว่า เป็นตำแหน่งที่มีโอกาสเช่นเดียว ไม่ว่าจะเป็นปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด, ผู้อำนวยการสำนักช่าง,ปลัดเทศบาล, จเรตำรวจแห่งชาติ,รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ,ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ,ผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง,ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล,ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี,ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจสอบภายใน,ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้,ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด, ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล,

ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน,ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ,ผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร,รองผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง, รองผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล,รองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี, รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล,รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 - 9,รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้,รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง,รองผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด,รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล

รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง,รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน,รองผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ,รองผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, จเรตำรวจ (สบ 8) (หัวหน้าจเรตำรวจ),นายแพทย์ใหญ่, รองจเรตำรวจ (สบ 7), ผู้บังคับการกองพลาธิการ,ผู้บังคับการกองโยธาธิการ,ผู้บังคับการกองสรรพาวุธ,ผู้บังคับการกองทะเบียนพล,ผู้บังคับการกองสวัสดิการ,ผู้บังคับการ กองคดีอาญา,ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้,ผู้บังคับการตำรวจปราบปราม ยาเสพติด 1 - 4,ผู้บังคับการข่าวกรองยาเสพติด,ผู้บังคับการสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติด, ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 1 - 4,ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 - 4 และผู้บังคับการตำรวจสื่อสาร

จะเห็นว่า มีทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า โกงกินกันมหาศาลในแต่ละปี ในส่วนของตำรวจก็มีเรื่องอื้อฉาวให้ได้ยินเป็นระยะๆ แล้วของมหาวิทยาลัยเกี่ยวไรด้วย

ป.ป.ช.เคยเปิดเผยตัวเลขออกมาว่า ใน 84 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีตำแหน่งรองอธิการบดีถึง 564 ตำแหน่ง มีเรื่องร้องเรียนอยู่ในป.ป.ช. 311 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องที่มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว 16 เรื่อง และที่เหลืออยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง และลอกผลงานวิจัย

ทำไมเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับรองอธิการบดีถึงมีเยอะต้องอย่าลืมว่า เรื่องการทำงานของผู้บริหารในมหาวิทยาลัยคล้ายๆ กับของหน่วยงานรัฐทั่วไปคือ อธิการบดีใหญ่สุด แต่งานฝ่ายต่างๆ จะมอบหมายให้รองอธิการบดีฝ่ายต่างๆ ไปรับผิดชอบ ซึ่งเอาเข้าจริงรองอธิการบดีนี่ล่ะคือ กลจักรสำคัญในการเสนอหรือเป็นโต้โผใหญ่แต่ละโครงการ แต่ที่ผ่านมาเวลาเกิดเรื่องอื้อฉาว คนรับผิดชอบคือ ตัวอธิการบดี หรือจะเหมารวมว่าเป็นอธิการบดีคนเดียว

ทีนี้ไปดูงบประมาณแต่ละปีกัน เริ่มจากภาพรวม กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุดในทุกปี เพราะการศึกษาจะได้รับการเน้นและทุ่มทุนมากที่สุด อย่างปี 2560 นี้ รับไปเหนาะๆ 519,292 ล้านบาท

แล้วรู้หรือไม่ มหาวิทยาลัยมหิดลที่รองอธิการบดีลาออกไป 13 คนนั้น เมื่อปีงบประมาณ 2559 เป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุดถึง 14,164,900,400บาท เชียวนะ รองๆ ลงมาก็ได้รับไล่เลี่ยกัน

ตรงนี้ไม่ได้จะบอกว่า มหาวิทยาลัยได้งบเยอะแล้วผิด ความจริงคือไม่ผิด แต่เพื่อให้เงินถูกใช้ไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่โดนฉ้อฉล เพื่อการป้องกันที่ดี การจะเสริมให้รองอธิการบดีต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช.ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่ง แม้จะไม่ได้ผล100%

ทีนี้คิดว่า มันมากไปมั้ย?
กำลังโหลดความคิดเห็น