โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยรัฐบาลคิดเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จาก 600 เป็นสูงสุด 1,500 บาท กำลังดูวิธีการอยู่ อาจคนให้ฐานะดีเสียสละเจียดเงินตั้งกองทุนช่วยพวกรายได้ไม่เกินแสนต่อปี จ่อชง ครม.หลังได้ข้อสรุป ขอลูกหลานชวนผู้เฒ่าลงทะเบียน พร้อมตั้งเป้าให้มีงานทำ 39,000 อัตราในปีนี้ ออกมาตรการจูงใจให้องค์กรต่างๆ จ้างงานเพื่อหักภาษี 2 เท่า
วันนี้ (13 เม.ย.) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมีแนวคิดเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายละ 1,200-1,500 บาท จากเดิม 600 บาทต่อเดือน เพื่อให้เหมาะสมกับการครองชีพในปัจจุบัน โดยระหว่างนี้กำลังศึกษารายละเอียด เช่น การระดมเงินทุนจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือกองทุนสนับสนุนการกีฬา รวมถึงผู้สูงอายุที่มีฐานะดีอยู่แล้วและยอมเสียสละเบี้ยยังชีพคนชราอีกส่วนหนึ่ง จัดตั้งเป็นกองทุนผู้สูงอายุ เพื่อนำเงินไปเพิ่มเบี้ยยังชีพให้แก่คนชราที่มีประมาณ 10 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มคนชราที่ยากจน หรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ที่มีอยู่ประมาณ 2,000,000 คน จากการสำรวจตามโครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย
พล.ท.สรรเสริญกล่าวอีกว่า ทั้งนี้เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนหลังการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบที่ 2 แล้ว ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งนายกรัฐมนตรี ย้ำให้คนในครอบครัวใช้โอกาสวันหยุดสงกรานต์นี้ เชิญชวนผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยไปลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐได้จนถึงวันที่ 15 พ.ค.นี้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังดูแลเรื่องการประกอบอาชีพด้วย โดยในปีนี้ตั้งเป้าให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้เพิ่ม 39,000 อัตรา โดยเฉพาะในชนบทผ่านวิสาหกิจชุมชน และออกมาตรการจูงใจให้องค์กรต่าง ๆ จ้างงานผู้สูงอายุ โดยสามารถนำรายจ่ายไปหักภาษีได้ถึง 2 เท่า รวมทั้งพยายามเพิ่มจำนวนสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนมีเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณ
พล.ท.สรรเสริญกล่าวต่อว่า ส่วนด้านที่พักอาศัยของผู้สูงอายุนั้น มีการดำเนินงานหลายรูปแบบ เช่น โครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร หรือซีเนียร์คอมเพล็กซ์ ที่รวมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้ในที่เดียวกัน ขณะเดียวกัน นายกฯ อยากให้คนไทยมีความสุข โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งมีจำนวนมากขึ้น โดยหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยมีแผนงานเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุอีกด้วย