หัวหน้าประชาธิปัตย์ ชี้ต้องรอกฎหมายลูกพรรคการเมืองออกถึงเห็นความเคลื่อนไหวการเมือง ดักคอ กรธ.อย่าตั้งหลักใช้เวลาเต็มเพดาน ไม่วิจารณ์เลือกตั้งสิงหาฯ 61 บอกอาจเร็วขึ้นก็ได้ ยันปัญหาการเมืองเกิดจากพฤติกรรมคน ถ้าไม่เปลี่ยนก็ไม่มีหลักประกันจะแก้ได้ ชี้ให้ ส.ว.มีอำนาจเพิ่มถ้าไม่ระวังจะเป็นปมขัดแย้งใหม่ ขอสังคมช่วยกดดัน แนะดึงวุฒิสภาทำข้อตกลงอย่าฝืนเจตนารมณ์ประชาชน
วันนี้ (13 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเมืองหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ว่า ขณะนี้พรรคการเมืองยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ตนคาดว่าไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง ต้องรอ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองก่อนจึงจะเห็นความเคลื่อนไหวการเมืองที่ชัดเจน ซึ่ง 2-3 เดือนจากนี้ไปน่าจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง โดยในการปรับตัวคิดว่าในส่วนของพรรคการเมืองจะใช้เวลาประมาณ 90-120 วัน ซึ่งตามปฏิทินเวลาที่กฏหมายกำหนดคือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องส่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหมดภายใน 240 วัน แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้กรอบเวลาเต็มเพดาน อย่าตั้งหลักว่าต้องใช้เต็มเพดานให้ใช้เท่าที่จำเป็น และไม่ใช่ว่าจะไปเร่งรัดจนเกิดปัญหา โดยการเร่งส่งกฎหมาย กกต. กับพรรคการเมืองก่อนเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว จากนั้นก็ดูตามสภาพความเป็นจริง โดยตามตารางเวลาก็น่าจะไปได้ โดยอาจไม่ต้องใช้ถึง 240 วัน ส่วนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นราวเดือน สิงหาคมปี 2561 ตามที่คาดกันหรือไม่นั้นตนไม่ขอออกความเห็น เพราะกรอบเวลาที่ออกมาใช้คำว่า ‘ไม่เกิน’ หากทำได้เร็วขึ้น ทุกอย่างก็อาจจะเร็วขึ้น
นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ตามความตั้งใจของผู้เขียนรัฐธรรมนูญ หวังที่จะได้การเมืองแบบใหม่ แต่ตนเตือนมาตลอดว่าปัญหาการเมืองไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย แต่เกิดจากพฤติกรรมของคนในแวดวงการเมือง จึงไม่มีหลักประกันว่าเขียนกติกาแบบนี้แล้วจะแก้ได้ถ้าพฤติกรรมแบบนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลงไป ที่สำคัญคือต้องระวังว่าการวางกลไก เช่น มี ส.ว.ที่มีอำนาจเพิ่มขึ้นถ้าไม่ระมัดระวังจะเป็นปมความขัดแย้งใหม่ได้ด้วย ตนจึงเห็นว่าสังคมเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ต้องช่วยกันกดดันให้การเมืองไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะปัญหาไม่อยู่ที่กติกาอย่างเดียว แต่อยู่ที่พลังทางสังคมจะช่วยกันกดดันไม่ให้นักการเมืองทำตัวเหลวไหลใช้อำนาจมิชอบทุจริตคอร์รัปชันหรือขัดแย้งกันแบบไม่มีเหตุผล ถ้าสังคมสามารถกำกับได้จะเป็นหลักประกันที่ดีที่สุด รัฐบาลต้องรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ที่ผ่านมายังทำค่อนข้างน้อย
“ตอนที่ผมไป ป.ย.ป. ได้เตือนเพราะมีความพยายามว่าต้องมาทำข้อตกลงระหว่างพรรคการเมือง ผมบอกว่าต้องเอา ส.ว.มาทำข้อตกลงด้วยว่าอย่าฝืนเจตนารมณ์ของประชาชน จึงจะเป็นหลักประกัน 250 คนต้องตระหนักว่าเป็นตัวแทนปวงชนไม่ใช่ตัวแทนของคนที่ตั้งหรือสรรหามา ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน ถ้าทำตัวเป็นพรรคการเมืองจะเกิดความขัดแย้ง ดังนั้นต้องทำตัวตามกรอบอำนาจหน้าที่ที่ควรจะเป็น โดยต้องไม่ลืมว่าแม้จะเลือกนายกฯ ได้ก็ไม่สามารถร่วมประชุม ส.ส.ในเรื่องสำคัญทุกเรื่องได้ ถ้าตั้งนายกฯ ที่สภาผู้แทนราษฎรไม่ยอมรับก็อยู่ไม่ได้จะเป็นความขัดแย้ง แต่เรื่องเหล่านี้พูดล่วงหน้ายาก ต้องรอให้ถึงเวลาที่มีบรรยากาศเลือกตั้งและบุคคลต่างๆ ต้องตอบคำถามสังคมอาจจะอาจจะมีคำตอบก็ได้” นายอภิสิทธิ์กล่าว