“อภิสิทธิ์” แนะยกเว้นภาษีที่ดินควรดูสภาพความเป็นจริงด้วย จี้เขียนกฎหมายให้ชัดตั้งใจใช้ประโยชน์ที่ดินหรือไม่ เอาให้ชัดไม่ได้ลดเหลื่อมล้ำแค่เอาเป็นเครื่องมือหาประโยชน์ที่ดินตามมูลค่า หนุนทำให้เสร็จ
วันนี้ (11 เม.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่กรมธนารักษ์ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาประเมินราคาที่ดินทั่วประเทศเพื่อให้ทันต่อการประกาศใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีหลักเกณฑ์ว่าสิ่งปลูกสร้างไม่ว่าจะเป็นบ้านหรูหรา หรือบ้านในชนบท จะมีราคาประเมินต่อตารางเมตรเท่ากัน ทำให้มีการวิจารณ์ว่าคนรวยจะได้ประโยชน์ว่า ฐานภาษีที่ดินคือตัวทรัพย์สิน แต่สิ่งที่ควรพิจารณาในแง่การยกเว้นควรดูวัตถุประสงค์และสภาพความเป็นจริง เช่น เรื่องเกษตรกรรมจะยกเว้นให้ที่ดินเพื่อการเกษตรต้องดูว่าคนที่มีรายได้ไม่มากควรจะเป็นอย่างไร ทำให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ที่มีปัญหาคือกำหนดไว้แปลงเดียว แต่เกษตรกรอาจมีที่ดินไม่มากแต่มีสองแปลง เป็นต้น ส่วนที่อยู่อาศัยควรพิจารณาจากเนื้อที่ว่าจะยกเว้นให้เท่าไหร่ อย่างไร แต่พอไปผูกกับมูลค่าก็มีปัญหาเพราะมีบางคนที่ครอบครองพื้นที่มาแต่เดิมก่อนที่ที่ดินจะแพง ต่อมาที่ดินแพงขึ้นแต่ไม่ใช่คนที่ร่ำรวยก็จะมีปัญหา ดังนั้น การพิจารณาโดยผูกกับมูลค่าเป็นแนวคิดว่าต้องมาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจไม่น่าจะเป็นวัตถุประสงค์หลัก ไม่เช่นนั้นจะเกิดคำถามว่าในเมืองใหญ่ย่านที่ดินแพง ร้านค้าขนาดเล็กจะอยู่ได้หรือไม่
“เวลาทำกฎหมายมีหลายวัตถุประสงค์ซ้อนกัน เพราะกฎหมายนี้ระบุกันว่าต้องการลดความเหลื่อมล้ำ ก็ต้องบอกให้ชัดด้วยว่ามีความตั้งใจใช้ประโยชน์ที่ดินหรือไม่ ถ้ากำหนดแนวทางบางอย่างออกมาทำให้เกิดสภาพว่าที่ดินย่านราคาแพงต้องทำธุรกิจขนาดใหญ่มีรายได้มากๆ เท่านั้น รัฐบาลต้องการอย่างนี้หรือไม่ ถ้าต้องการก็ต้องพูดให้ชัดว่าไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำแต่ออกกฎหมายนี้เพื่อเป็นเครื่องมือในการใช้ประโยชน์ที่ดินตามมูลค่า” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เห็นว่าแม้ในรายละเอียดบทบัญญัติของกฎหมายจะมีข้อโต้แย้งมาก แต่ต้องผลักดันให้มีผลบังคับใช้เพื่อเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำโดยถือว่ากฎหมายดังกล่าวจะเป็นฐานภาษีของท้องถิ่นที่ดี แต่ถ้าถกเถียงมากจนออกมาบังคับใช้ไม่ได้ก็จะผิดจากความตั้งใจที่รัฐบาลบอกว่าจะทำให้เสร็จสิ้นและเห็นว่าก่อนกฎหมายจะมีผลบังคับใช้มีเวลาอีกประมาณปีกว่า สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ ซึ่งในยุคนี้การออกกฎหมายไม่ยากอยู่แล้วถ้าเป็นนโยบายสำคัญก็ควรทำให้สำเร็จเรียบร้อย