xs
xsm
sm
md
lg

“เรืองไกร” จี้เลิกคำสั่งห้ามนั่งท้ายกระบะ อ้าง “บิ๊กป้อม” รับมีส่วนคิดจึงไม่ต้องด้วยบัญญัติ กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ที่ปรึกษากฎหมายเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึงนายกฯ จี้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.มาตรการบังคับใช้กฎหมายจราจรทางบก อ้างมิชอบในการออกคำสั่ง เหตุ ม.44 เป็นอำนาจของ “ประยุทธ์” แต่ “ประวิตร” อ้างมีส่วนออก กม.จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ ชี้ห้ามกระบะนั่งท้าย-แค็บ ละเมิดเสรีภาพ แนะให้กลับไปใช้ พ.ร.บ.จราจรแล้วผ่อนปรน หรือชะลอการใช้

วันนี้ (10 เม.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.พ. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ปรึกษากฎหมายพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้พิจารณายกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 14/2560 เรื่องมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมีปัญหาทั้งด้านการนำไปบังคับใช้ และอาจมีปัญหาความไม่ชอบเกี่ยวกับการออกคำสั่งดังกล่าว จึงขอให้พิจารณายกเลิก โดยตนขอเสนอว่าคำสั่งตามมาตรา 44 มีอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และหัวหน้า คสช.เองยังมีอำนาจนี้อยู่ การที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมายอมรับว่ามีส่วนกับคำสั่งดังกล่าว จึงมีข้อทักท้วงว่าการได้มาในการออกคำสั่งนี้อาจเป็นไปโดยมิชอบ

“เหตุผลก็ล้อมาจากความคิดเห็นของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในเรื่องการใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 และ 821 ที่จะเรียกเก็บภาษีจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เรียกอภินิหารทางกฎหมาย อันนี้ก็เป็นตัวหนึ่งที่ขอให้ทบทวนว่าถ้าที่มาไม่ชอบโดยการออกมายอมรับของพล.อ.ประยุทธ์เอง ก็เป็นช่องทางที่นายกฯ จะยกเลิกคำสั่งนี้ได้” นายเรืองไกรกล่าว

นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า ปัญหาจากการแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 123 วรรคสอง ตามคำสั่งดังกล่าว ข้อ 2 ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้โดยสารทุกคนต้องรัดเข็มขัดนิรภัยและรถกระบะจะให้นั่งได้เฉพาะแถวหน้าโดยห้ามนั่งหรือโดยสารในท้ายกระบะหรือแค็ป ซึ่งคำสั่งที่ถือเป็นกฎหมายมาใช้บังคับนั้นอาจขัดต่อสิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาได้ จากปัญหาทั้งสองประการจึงจะเสนอให้ นายกฯพิจารณาทบทวน เป็นสองแนวทาง คือ 1. ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวทั้งหมดเพราะการออกคำสั่งดังกล่าวไม่ได้มาจากความเห็นของหัวหน้า คสช.จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ 2557 และ 2. หากจะปล่อยให้คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไปก็ควรแก้ไขโดยยกเลิกความตามคำสั่งข้อ 2 คือ ให้กลับไปใช้ข้อความเดิมของ พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 123 วรรคสอง ก่อนการแก้ไขจะเป็นประโยชน์มากกว่าการที่ไม่แก้ไข แล้วใช้วิธีผ่อนปรนหรือชะลอการบังคับใช้ ซึ่งการไม่บังคับใช้กฎหมายอาจทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีปัญหาการละเว้นตามมาได้ แต่หากนำมาใช้ต่อไปก็จะเป็นเหตุให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่มีรถกระบะได้รับความเดือดร้อน


กำลังโหลดความคิดเห็น