กฤษฎีกาตอบบันทึกความเห็นเสนอ ก.พ. เบรกเพิ่มเงินพิเศษ ประจำตำแหน่ง “เลขาธิการ ปปง.” อีกเดือนละ 6,500 บาท ตามมติ ก.พ. เหตุได้รับค่าตอบแทนเทียบเท่าปลัดกระทรวงอื่นแล้ว เผย รายได้รวม เลขาธิการ ปปง. ปัจจุบัน เดือนละกว่า 1.5 แสนบาท เป็นเงินประจำตำแหน่ง เงินเดือน เงินเพิ่มเหตุพิเศษ เดือนละ 3 หมื่นบาท ค่าตอบแทนบอร์ด ปปง. เดือนละ 4 พันบาท ค่าตอบแทนประธานบอร์ดธุรกรรม เดือนละ 2 หมื่นบาท แถม ก.พ. เพิ่งเพิ่มเงินประจำตำแหน่ง ให้อีก 2.1 หมื่นบาท
วันนี้ (9 เม.ย.) มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มีบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เรื่องเสร็จที่ 425/2560 เรื่อง การจ่ายเงินเพิ่มพิเศษของเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
มีใจความว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้มีหนังสือ ที่ ปง 0001.3/5450 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า ด้วยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มาตรา 44 วรรคสอง มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2551 บัญญัติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) ได้รับเงินเพิ่มพิเศษเพื่อประกันความเป็นอิสระและเป็นกลางในอัตราซึ่งรวมกันกับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งแล้วเทียบเท่ากับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของปลัดกระทรวง และให้ได้รับเงินเพิ่มพิเศษจนกว่าจะออกจากราชการ
ซึ่ง ก.พ. ในการประชุมครั้งที่ 10/2556 วันที่ 23 ธันวาคม 2556 เห็นชอบให้กำหนดเงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่งเลขาธิการ ปปง. ตามมาตรา 44 วรรคสอง ในอัตราเดือนละ 6,500 บาท และกรมบัญชีกลางได้แจ้งการเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษดังกล่าวให้แก่เลขาธิการ ปปง. ให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับการเบิกจ่ายเงินเดือนตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2550
กรณีนี้เพื่อให้การดำเนินการเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้กับเลขาธิการ ปปง. ตามมาตรา 44 วรรคสอง เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม สำนักงาน ปปง. จึงขอหารือ ดังนี้
1. สำนักงาน ปปง. จะสามารถเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษดังกล่าวให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ปปง. ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2551 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับ หรือตั้งแต่วันที่ ก.พ. มีมติกำหนดอัตราเงินเพิ่มพิเศษสำหรับเลขาธิการ ปปง. ในอัตราเดือนละ 6,500 บาท
2. หากมีสิทธิได้รับย้อนหลังจะสามารถเบิกจ่ายเงินดังกล่าวได้ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2550 หรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงาน ก.พ.) ผู้แทนกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) และผู้แทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นว่า ประเด็นที่จะต้องพิจารณามีเพียงประเด็นเดียวว่าสำนักงาน ปปง.จะเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้แก่เลขาธิการ ปปง. ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับ หรือตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2556 ซึ่งเป็นวันที่ ก.พ. มีมติกำหนดอัตราเงินเพิ่มพิเศษ
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) มีความเห็นว่า เมื่อมาตรา 44 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 บัญญัติให้เลขาธิการ ปปง. ได้รับเงินเพิ่มพิเศษเพื่อประกันความเป็นอิสระและเป็นกลางในอัตราซึ่งรวมกันกับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งแล้วเทียบเท่าเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของปลัดกระทรวง และให้ได้รับเงินเพิ่มพิเศษจนกว่าจะออกจากราชการ โดยมาตรา 2 ซึ่งเป็นวันใช้บังคับของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 บัญญัติให้พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2551 เป็นต้นไป โดยมิได้กำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการบังคับใช้มาตรา 44 วรรคสอง ไว้เป็นประการอื่น
ดังนั้น สิทธิในการรับเงินเพิ่มพิเศษตามมาตรา 44 วรรคสอง ของเลขาธิการ ปปง. จึงมีผลตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2551 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับแล้ว หาใช่นับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2556 อันเป็นวันที่ ก.พ. มีมติเห็นชอบให้กำหนดเงินเพิ่มพิเศษในอัตราเดือนละ 6,500 บาท และกระทรวงการคลังได้แจ้งเลขาธิการ ปปง. ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ เงินเพิ่ม และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2550 ไม่
ส่วนอัตราเงินเพิ่มพิเศษซึ่งเมื่อรวมกันกับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของเลขาธิการ ปปง. แล้วเทียบเท่าเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของปลัดกระทรวง รวมทั้งหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ เงินเพิ่ม และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2550 นั้น เป็นเพียงกระบวนการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น ไม่มีผลกระทบหรือเป็นเงื่อนไขต่อสิทธิในการได้รับเงินเพิ่มพิเศษของเลขาธิการ ปปง. แต่อย่างใด
อนึ่ง การที่บัญชีท้ายพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนไว้ว่า เลขาธิการ ปปง. และปลัดกระทรวงมีสิทธิได้รับเงินเดือน (สูงสุด) ในอัตราเท่ากัน คือ 69,810 บาท ส่วนที่ต่างกันจึงเป็นอัตราของเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งเลขาธิการ ปปง. ได้รับในอัตรา 14,500 บาท ในขณะที่ปลัดกระทรวงได้รับในอัตรา 21,000 บาท อย่างไรก็ตาม เมื่อต่อมามาตรา 46 (8) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และมาตรา 41แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม
โดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติให้เลขาธิการ ปปง. ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ประกอบกับกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้ตำแหน่งเลขาธิการ ปปง. ได้รับเงินระดับสูง และคำสั่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ 268/2559 เรื่อง ให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 กำหนดให้เลขาธิการ ปปง. ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 21,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2559 เป็นต้นไปนั้น จึงมีผลทำให้เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของเลขาธิการ ปปง. เท่ากันกับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของปลัดกระทรวงแล้วตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2559 ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันจึงไม่มีอัตราเงินเพิ่มพิเศษที่จะนำไปรวมกันกับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของเลขาธิการ ปปง. อีก
มีรายงานว่า ก่อนหน้านั้น ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 มี.ค.59 เผยแพร่ กฎก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2559 ที่ลงนามโดย นายวิษณุ เครืองาม ในฐานะประธาน ก.พ. ประกาศใช้กฎ ก.พ. กำหนดให้ตำแหน่ง เลขาธิการ ปปง. เป็นตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่ง ในอัตรา 21,000 บาท เนื่องจากเป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี มีลักษณะการเข้าสู่ตำแหน่ง และวาระการดำรงตำแหน่งแตกต่างจากหัวหน้าส่วนราชการโดยทั่วไป ตลอดจนหน้าที่ และความรับผิดชอบตามบทบาทภารกิจ และลักษณะงานของสำนักงาน ปปง. มีความสำคัญในระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่น ขององค์กรระหว่างประเทศ และได้กำหนดให้ตําแหน่ง รองเลขาธิการ ปปง. เป็นตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตรา 14,500 บาท
มีรายงานว่า สำหรับรายได้ เลขาธิการ ปปง. ปัจจุบัน ประกอบด้วย เงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 21,000 บาท เงินเดือนๆ ละ 69,810 บาท เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ เดือนละ 30,000 บาท ค่าตอบแทนกรรมการ ปปง. เดือนละ 4,000 บาท ค่าตอบแทนประธานกรรมการธุรกรรม เดือนละ 20,000 บาท รวมเดือนละ 144,810 บาท