โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยันรัฐบาลสนับสนุนการออกแบบอาคารเพื่ออนุรักษ์พลังงาน หวังลดใช้ให้ได้ร้อยละ 30 ในปี 79 ชู ก.พลังงาน ลงเอ็มโอยู 5 เอกชนอสังหาริมทรัพย์ สร้างบ้านประหยัดพลังงานให้คนไทยอยู่ เผย นายกฯ อยากให้สถานที่ราชการก่อสร้างแบบอนุรักษ์ด้วย
วันนี้ (8 เม.ย.) พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลสนับสนุนการออกแบบอาคารเพื่ออนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ พ.ศ. 2558 - 2579 ที่เน้นการปฏิบัติการเชิงรุก 2 เรื่อง คือ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการบังคับใช้เป็นกฎหมาย
“กระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงานให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2579 โดยล่าสุดได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับภาคเอกชนผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 5 แห่ง เพื่อสร้างบ้านประหยัดพลังงานให้คนไทยได้อยู่อาศัยอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัล พัฒนา จำกัด (มหาชน) บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท นารายณ์พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ ในปีนี้จะเริ่มนำร่องกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีพื้นที่ 10,000 ตร.ม. ขึ้นไปก่อน และจะทยอยขยายลงไปจนถึงพื้นที่ 2,000 ตร.ม. ภายในปี 2562 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกฝ่ายช่วยกันลดการใช้พลังงาน และประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น และในอนาคตจะขยายความร่วมมือไปยังผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่นต่อไป
“ท่านนายกฯ อยากให้สถานที่ราชการ และหน่วยงานของในทุกระดับได้คำนึงถึงการออกแบบก่อสร้างอาคารของตนที่ช่วยอนุรักษ์พลังงานด้วย โดยนำองค์ความรู้จากงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านพลังงานไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นเมืองนวัตกรรมประหยัดพลังงานแห่งอนาคตได้ในอนาคต” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน จะเน้นเรื่องการใช้ประโยชน์จากแสงสว่าง และอุณหภูมิตามธรรมชาติให้มากที่สุด เพื่อให้ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยที่สุด เช่น เลือกทิศทางในการตั้งอาคารโดยพิจารณาจากทิศทางของลมและแสงแดด วางตำแหน่งประตูหน้าต่างให้ลมพัดไหลเวียนเข้าออกได้เพื่อระบายอากาศ ใช้ผนังโปร่งแสงบางส่วนให้แสงสว่างจากธรรมชาติเข้าถึงเพื่อประหยัดไฟในเวลากลางวัน ใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน ใช้วัสดุในการก่อสร้างอาคารและหลังคาที่ไม่ดูดกลืนความร้อน เป็นต้น