xs
xsm
sm
md
lg

สลค.เวียนหนังสือแจ้งหน่วยงานรัฐ รับมือ “แนวทางเสนอร่าง กม.ตาม ม.77” ของ รธน.ฉบับใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เวียนหนังสือถึงหน่วยงานรัฐ รับมือ แนวทางจัดทำ - เสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบุ ต้องสอดคล้อง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ เผยต้องสอดคล้องกับหลักการและสาระสำคัญของกฎหมาย 3 ฉบับ

วันนี้ (8 เม.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทำหนังสือเวียนด่วนที่สุดถึงถึงคณะรัฐมนตรี กระทรวง และหน่วยงานราชการอื่นๆ เรื่อง แนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดย สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมกันจัดทำและปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและตามมติ ครม. เรื่องนโยบายการปฏิรูปกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร

ทั้งนี้ แนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 หลักเกณฑ์การร่างกฎหมายและการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายของหน่วยงานรัฐ ในส่วนนี้ระบุว่า ร่างกฎหมายต้องสอดคล้องและไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมายต้องสอดคล้องและไม่ขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ การร่างกฎหมายต้องคำนึงถึงหรือพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักการและสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และ พระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558 ร่างกฎหมายต้องสอดคล้องกับหลักการตามาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ

ส่วนที่ 2 ว่าด้วยแนวทางการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมาและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย โดยอย่างน้อยต้องผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงาน หรือผ่านเว็บไซต์ www.lawamendment.go.th โดยต้องรับฟังความเห็นไม่น้อยกว่า 50 วัน ให้กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด รวมทั้งเปิดข้อมูลประกอบ อย่างน้อยประกอบด้วย สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานั้น หลักการอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมายที่จะตราขึ้น และประเด็นที่จะรับฟังความเห็นหรือร่างพระราชบัญญัติที่จะรับฟังความคิดเห็น เมื่อสิ้นสุดแล้วให้จัดทำรายงานสรุปการรับฟังความคิดเห็น

“ให้มีการจัดทำคำชี้แจงตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ ท้ายระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ที่ได้ปรับปรุง และครม.ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2560 และส่งรายงานไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอร่างกฎหมายที่ได้จัดทำขึ้นให้เสนอพร้อมรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นด้วย”

แนวทางดังกล่าว ยังมอบอำนาจให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตรวจสอบการรับฟังความคิดเห็นที่หน่วยงานของรัฐจัดทำ และวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกฎหมายตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบในการตราพระราชบัญญัติ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยให้วิเคราะห์ว่ามีความจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม และยังสามารถส่งเรื่องคืนให้หน่วยงานของรัฐที่เสนอเรื่องดำเนินการเพิ่มเติมโดยให้ระบุการดำเนินการให้ชัดเจน และส่งกลับมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

ในกรณี ครม. เห็นควรให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณา เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ และเห็นว่าควรรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อาจดำเนินการเอง หรือให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องดำเนินการเพิ่มเติมก่อนจัดทำสรุป

“หากร่างกฎหมายมีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างจนแตกต่างจากที่หน่วยงานรัฐเสนอ และสมควรแก้ไขวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายเพิ่มเติมตามประเด็น ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งให้หน่วยงานเจ้าของเรื่อง ให้ส่งคำชี้แจงการตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ ที่ได้ดำเนินการดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการต่อไป”

ท้ายสุด ในกรณีที่ร่างกฎหมายมีความจำเป็นเร่งด่วนหรือต้องการดำเนินการในชั้นความลับ หน่วยงานเจ้าของเรื่องจะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประกบการจัดทำร่างกฎหมายให้แตกต่างจากแนวทางที่กำหนดก็ได้ แต่หน่วยงานของรัฐเจ้าขงเรื่องต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นรายกรณีไป






กำลังโหลดความคิดเห็น