เมืองไทย 360 องศา
แน่นอนว่า เหตุระเบิดในถังขยะที่บริเวณฟุตปาธหน้ากองสลากกินแบ่งรัฐบาลอาคารหลังเก่า เมื่อราว 20 นาฬิกาเศษ ในวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา ได้สร้างความตื่นตระหนกกันพอสมควรในความรู้สึกของประชาชน แม้ว่าทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ เช่น พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จะรีบออกมาบอกว่า น่าจะ “เป็นเรื่องบังเอิญ” ไม่ต้องตระหนกตกใจก็ตาม อย่างไรก็ดี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยสถานที่สำคัญเพื่อความปลอดภัย
ด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ดูแลคดีพิเศษเดินทางมาตรวจสอบ และสั่งการเจ้าหน้าที่ ตรงจุดเกิดเหตุระเบิดบริเวณฟุตปาธ หน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเก่า และกล่าวว่า ระเบิดที่ก่อเหตุ เป็นแรงดันต่ำ พบคราบเขม่าในจุดเกิดเหตุ จึงสั่งการให้เก็บหลักฐานทุกอย่างไปตรวจสอบ ไม่เว้นขยะ เบื้องต้นพบระเบิดประเภทนี้ไม่ได้หวังผลต่อชีวิต เพราะไม่ใช่ระเบิดแสวงเครื่อง ไม่พบสะเก็ดระเบิด
“วัสดุที่ใช้ประกอบระเบิดนั้น ก็สามารถประกอบเองได้ง่าย หาซื้อได้ทั่วไป จากการข่าวที่ผ่านมาก็มีการเฝ้าระวังตลอด และได้กำชับให้จากนี้ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดมากขึ้น ส่วนความคืบหน้าคดี หรือมูลเหตุจูงใจของเหตุดังกล่าวนั้น ต้องเก็บรวบรวมหลักฐานก่อน ทุกอย่างต้องให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ หากพูดออกไปอาจไม่ตรงกับที่พบในหลักฐานได้ แต่ยืนยันกับประชาชนได้ว่า ไม่มีอะไรต้องน่าตกใจ และคาดว่าคงจะไม่เกิดเหตุขึ้นอีก แต่ต้องเฝ้าระวังอย่างเต็มที่” รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าว ซึ่งก็กล่าวในทำนองให้ “เบา” ลง ซึ่งก็ถูกต้องเพื่อให้ชาวบ้านคลายความกังวล
จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ระเบิดที่นำมาวางเป็นระเบิดที่เรียกว่า “ไปป์บอมบ์” เป็นระเบิดที่เจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นระเบิดแรงดันต่ำ และแม้ว่าจากแรงระเบิดดังกล่าวไม่ได้ทำอันตรายกับประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้นมากนัก หรือก่อความเสียหายมากนัก มีเพียงเจ้าหน้าที่เก็บขยะของกรุงเทพมหานคร ที่ถูกแรงระเบิดจนหูอื้อ และถังขยะที่ถูกซุกซ่อนระเบิดฉีกขาดเท่านั้น
แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าระเบิด อานุภาพมันย่อมสั่นสะเทือนไปไกล โดยเฉพาะส่งผลในทางการเมือง และเป็นการ “ส่งสัญญาณในทางสัญญลักษณ์” บางอย่างออกมา
เพราะหากบอกว่า “บังเอิญ” เกิดการระเบิด มันก็ต้องบอกว่าเป็นการ “บังเอิญอย่างร้ายกาจ” เพราะวันที่เกิดเหตุเป็นค่ำวันที่ 5 เมษายน ก่อนวัน “พระราชพิธีสำคัญ” วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำหนดในวันที่ 6 เมษายน ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต เกิดขึ้นก่อนหน้าเพียงไม่กี่ชั่วโมง และในวันที่ 5 เมษายน ดังกล่าว ฝ่ายรัฐบาลก็มีการแถลงรายละเอียดและขั้นตอน หมายกำหนดการก่อนวันพระราชพิธีสำคัญอีกด้วย
เชื่อว่า หลายคนจะพยายามทำให้เข้าใจว่าเป็นเรื่อง “บังเอิญ” ไม่ร้ายแรง แต่ขณะเดียวกัน หากพิจารณากันตามความเป็นจริง ก็ต้องยอมรับว่า นี่คือ “เจตนาสร้างสถานการณ์” เพื่อส่งสัญญาณจาก “ใคร” ไปถึง “ใคร” อย่างแน่นอน และน่าจะเกี่ยวข้องกับ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่กำลังประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน เป็นต้นไป
ขณะเดียวกัน ในทางการเมืองหากพิจารณาย้อนกลับไป รวมไปถึงมองไปในอนาคตก็พอจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า สาเหตุน่าจะมาจาก “กลุ่มการเมืองบางกลุ่ม” หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่เป็นผลดีกับ กลุ่มไหน และพรรคการเมืองใดมากที่สุด มีใครออกมาต่อต้าน และในรัฐธรรมนูญที่มีการกำหนด “คุณสมบัติต้องห้าม” มีใครบ้างที่อยู่ในข่ายห้ามลงสมัคร ส.ส. ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง
นอกเหนือจากนี้ใน “บทเฉพาะกาล 5 ปี” ยังเปิดทางให้ “นายกฯคนนอก” ซึ่งเท่าที่เห็นในตอนนี้มีแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น ที่โดดเด่นกว่าใคร ซึ่งในทางการเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต มันก็ย่อมก็ปิดหนทางของการเมืองอีกกลุ่มให้กลับคืนสู่อำนาจแบบ “ลากยาว” ไปเลย
ดังนั้น หากพิจารณาในทางการเมือง สำหรับคนที่ติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง และเข้าใจย่อมมองออกไม่ยาก ว่า เหตุการณ์ลอบวางระเบิดที่หน้าสำนักงานกองสลากเก่า ที่ราชดำเนินกลาง น่าจะเป็นฝีมือของฝ่ายไหน ซึ่งแน่นอนว่า มีเจตนา “ข่มขู่” ส่งสัญญาณในเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นว่า “ยังมีพลัง” อย่างน้อยก็เพื่อการ “ต่อรอง” หรือเตือนในทำนองว่า “อย่าล้ำเส้น” หรือรุกไล่กันจนไม่มีที่ยืนหรือเปล่า
เพราะจากจังหวะวันเวลา มันทำให้เข้าใจได้ไม่ยาก ว่า นี่คือ “ระเบิดการเมือง” หรือหวังผลทางการเมืองอย่างชัดเจน แต่ขณะเดียวกัน ในฐานะชาวบ้านที่มองเห็นเหตุการณ์ถือว่าคนที่อยู่เบื้องหลังบงการให้ลงมือถือว่า “เหิมเกริม” มาก ซึ่งรัฐบาล และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องคลี่คลาย และกระชากหน้ากากออกมาให้ได้โดยเร็ว หากทำไม่ได้มันก็สะท้อนให้เห็นถึง “น้ำยา” เหมือนกันว่ามีแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาก็ “ถูกตัดตอน” ไปได้ไม่ถึงไหนทุกที !!