xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ยันร่าง กม.ลูกทัน จ่อเก็บตัวนอกสถานที่ เผยสมาชิกขายหุ้นสัมปทานรับ รธน.ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1 (แฟ้มภาพ)
รองประธาน สนช. มั่นใจพิจารณาร่างกฎหมายลูกเสร็จทันตามกรอบ 60 วัน จ่อเก็บตัวนอกสถานที่ถก พ.ร.บ. พรรคการเมือง และ กกต. เผย สมาชิก สนช. แห่โร่ขายหุ้นสัมปทาน หวั่นตกเก้าอี้ตาม รธน. ใหม่

วันนี้ (6 เม.ย.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกระแสข่าวที่จะมีสมาชิก สนช. บางส่วนจะลาออกจากตำแหน่งเพื่อไปลงสมัครรับเลือกตั้ง ว่า ขณะนี้ยังไม่มี สนช. คนใดมาปรึกษาตนเรื่องการลาออก แต่เชื่ออาจจะมี สนช. บางคนอยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินใจ เพราะรัฐธรรมนูญใหม่ให้เวลาตัดสินใจภายใน 90 วัน หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะมีแนวทางการลงสมัคร ส.ส. หรือไม่ ส่วนการลาออกของ สนช. จะกระทบกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญของ สนช. หรือไม่นั้น ถ้าลาออกมากก็อาจจะกระทบ แต่อย่างไรก็ตาม สนช. ยังต้องดำเนินการตามหน้าที่ โดยพิจารณากฎหมายลูกให้แล้วเสร็จภายในเวลา 60 วัน

ขณะนี้ในส่วนของร่าง พ.ร.บ. คณะกรรมการการเลือกตั้ง และร่าง พ.ร.บ. พรรคการเมือง สนช. ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษารายละเอียดไว้ล่วงหน้าแล้ว และให้รายงานความคืบหน้าการพิจารณาให้ตนทราบทันทีหลังสงกรานต์ ส่วนร่าง พ.ร.บ. การเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ. การได้มาซึ่ง ส.ว. ขณะนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้ส่งร่างกฎหมายมาให้ สนช. แต่ สนช. ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาร่างกฎหมายลูกไว้เรียบร้อยแล้วโดยในในชั้นของกรรมาธิการจะใช้เวลาไม่เกิน 45 วัน และอีก 15 วันให้รอบรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุมสนช. และหากมีความจำเป็นอาจจะต้องนำคณะกรรมาธิการไปเก็บตัวต่างจังหวัด เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายลูกโดยเฉพาะ โดยเบื้องในวันที่ 19 พ.ค. จะมีกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติที่ จ.จันทบุรี ที่ สนช. จะต้องไปร่วมกิจกรรมดังกล่าวอาจจะนำคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. พรรคการเมืองและคณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ. คณะกรรมการการเลือกตั้งเก็บตัวนอกสถานเพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าวด้วย

นายสุรชัย กล่าวว่า ภายหลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้จะทำให้ สนช. ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงต้องปฏิบัติตามเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามในรัฐธรรมนูญด้วย โดยเฉพาะมาตรา 184 (2) เรื่องการกำหนดคุณสมบัติ ห้าม สนช. รวมถึงคู่สมรส และบุตร เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในบริษัทที่เป็นคู่สัญญา หรือรับสัมปทานจากหน่วยงานรัฐ เพื่อป้องกันการขัดกันทางผลประโยชน์ระหว่างหน้าที่ราชการกับธุรกิจ หากใครถือหุ้นดังกล่าวจะมีผลต้องพ้นจากสมาชิกภาพ สนช. ทันที อย่างไรก็ตาม มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยตีความรัฐธรรมนูญปี 50 ว่า หากเป็นกรณีที่ถือครองหุ้นสัมปทานรัฐมาก่อนที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็สามารถถือครองหุ้นดังกล่าวต่อไปได้ แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะซื้อหุ้นดังกล่าวเพิ่ม แต่เท่าที่ทราบขณะนี้มี สนช. บางส่วนที่ถือครองหุ้นสัมปทานรัฐได้ขายหรือโอนหุ้นไปหมดแล้วก่อนที่รัฐธรรมนูญใหม่จะมีผลบังคับใช้ เพราะไม่อยากกังวลใจในข้อกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าสามารถถือครองต่อไปได้ แต่เป็นตีความตามรัฐธรรมนูญปี 50 จึงไม่แน่ใจว่าจะมีผลผูกพันและเป็นบรรทัดฐานมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แต่การตัดสินใจขึ้นอยู่กับแต่ละคน ขณะนี้ยังไม่มีใครสามารถฟันธงได้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ตีความตามรัฐธรรมนูญปี 50 จะมาเทียบเคียงปี 2560 ได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น