เมืองไทย 360 องศา
หลายคนยังเชื่อว่า กฎหมาย หรือคำสั่งเกี่ยวกับกฎจราจรเป็น “กฎแห่งความปลอดภัย” และหวังดีกับประชาชนคนใช้รถใช้ถนน เพื่อให้ประชาชนและทุกคนเกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุร้ายแรง ทำให้เกิดการเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทยมีสถิติอุบัติเหตุทำให้มีคนเสียชีวิตสูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว โดยจากข้อมูลสถิติขององค์การอนามัยโลก ก็เคยระบุว่า ประเทศไทยมีสถิติการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการสัญจรทางถนนติดอันดับ 2 ของโลก
ขณะเดียวกัน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสำคัญของชาติ เป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่องกันหลายวันที่ทำให้คนไทยต้องเดินทางโดยใช้ถนนกันเป็นจำนวนมาก เช่นในช่วงเทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ เป็นช่วงที่มีสถิติอุบัติเหตุเป็นเหตุให้เสียชีวิตและบาดเจ็บมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี เช่น จากการรายงานของคณะกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2560 (เฉพาะวันที่ 29 ธันวาคม 59 - 1 มกราคม 60) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,712 ครั้ง เสียชีวิต 280 ราย ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
อีกทั้งจากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในช่วงวันปกติมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 46 ราย ขณะที่ช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 59 มีผู้เสียชีวิตวันละ 54 ราย โดยสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการไม่เคารพกฎจราจร ประมาท โดยเฉพาะ “เมาแล้วขับ” เป็นสาเหตุหลัก
สำหรับปีนี้ปี 2560 ไฮไลต์สำคัญที่สุดน่าจะเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงมีวันหยุดยาว 5 วันตั้งแต่วันที่ 13 - 17 เมษายน เชื่อกันว่า ต้องมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นสูงขึ้นมีบาดเจ็บ เสียชีวิตจำนวนมากอีก หลังจากเมื่อปีที่แล้วมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้มงวดโดยการสั่งยึดรถเอาไว้ชั่วคราวสำหรับผู้ขับขี่เมาแล้วขับ อย่างไรก็ดี แม้จะเข้มงวดแล้วแต่สถิติอุบัติเหตุก็ยังไม่ลดลง โดยอุบัติเหตุส่วนใหญ่ยังเกิดขึ้นกับรถกระบะ รถจักรยานยนต์และรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถตู้ เป็นหลัก
จนนำไปสู่คำสั่งฮือฮาล่าสุด คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 14/2560 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ลงวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา เรื่อง “มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก” โดยเฉพาะ ข้อ 2 กำหนดว่า “ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะขับขี่รถยนต์ และต้องจัดให้คนโดยสารรถยนต์รัดร่างกายไว้กับที่นั่งด้วยเข็มขัดนิรภัยขณะโดยสารรถยนต์ และคนโดยสารรถยนต์ดังกล่าวต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะโดยสารรถยนต์ด้วย”
โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมอันส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และผู้ใช้รถใช้ถนน และเพื่อประโยชน์ต่อการปฏิรูประบบการคมนาคมขนส่งและความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม
จากคำสั่งดังกล่าวทำให้ พล.ต.อ.จีกรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งดีเดย์ให้จับปรับผู้ที่ฝ่าฝืนตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน นี้ เป็นต้นไป
แน่นอนว่า เรื่องแบบนี้มันย่อมกระตุ้นต่อมไม่พอใจให้กับชาวบ้านที่ใช้รถใช้ถนน และที่สำคัญที่ผ่านมา “เป็นไม้เบื่อไม้เมา” กับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเฉพาะกับ “ด่านตรวจ” อยู่เป็นประจำกันอยู่แล้ว แต่คราวนี้ “มีเสียงวิจารณ์ดังขึ้นเรื่อยๆ” โดยเฉพาะในโลกโซเชียลฯ และเป้าหมายของเสียงวิจารณ์ไม่ใช่ตำรวจเป็นเป้าหมายเดียวแบบที่เคยเป็น แต่พุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในทำนองพูดกันแบบแรงๆ ในความหมายชาวบ้านทำนองว่า “สั่งไม่คิด” หรือไม่เข้าใจความเป็นจริงในวิถีชาวบ้านประกอบด้วย อะไรประมาณนี้
ที่สำคัญ จากคำสั่งดังกล่าวที่รวมบังคับใช้เข้มงวดกับการนั่งท้ายรถกระบะ รวมไปถึงกระบะที่มีแค็บหลังก็นั่งไม่ได้ เพราะไม่มีเข็มขัดนิรภัย จนกระทั่งกูรูด้านรถยนต์อย่าง “พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ” ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กท้วงติงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในทำนองว่า มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและวิถีชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะหากมีการบังคับใช้กับรถยนต์กระบะ ซึ่งเป็นรถที่คนไทยทั่วประเทศมีใช้เกินครึ่งของจำนวนรถยนต์ทั้งหมดในประเทศ
เขาเห็นว่า ในช่วงสงกรานต์นี้หากเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายตามคำสั่งดังกล่าว อาจจะวุ่นวายจนเกิดจลาจลได้ เพราะรถทัวร์รถโดยสารสาธารณะมีบริการไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ดี ล่าสุด จนถึงวันที่ 5 เมษายน ก็ยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ออกมาจากฝ่ายรัฐบาล และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยยังไม่มีการแถลงใดๆ ออกมา มีเพียงความเคลื่อนไหวของฝ่ายตำรวจโดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่สั่งการไปถึงตำรวจทั่วประเทศให้ปฏิบัติตามคำสั่งของหัวหน้า คสช. อย่างเคร่งครัด โดยให้เริ่มดีเดย์จับปรับตั้งแต่วันที่ 5 เมษายนนี้ เป็นต้นไป ขณะเดียวกัน มีการซักซ้อมในเรื่อง “การใช้ดุลพินิจ” ของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปในทางเดียวกัน ซึ่งเท่าที่ฟังน้ำหนักแล้วน่าจะเน้นหนักไปที่รถโดยสารสาธารณะเป็นอันดับแรก รวมไปถึงรถยนต์กระบะแต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะจับปรับจริงจัง หรือแค่ตักเตือนกันอย่างไร
อย่างไรก็ดี ยังมีอีกประเภทหนึ่งที่ “ผสมโรง” ฉวยโอกาสถล่มรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีเป้าหมาย “การเมืองแอบแฝง” ฉวยโอกาสร่วมด้วยช่วยถล่มให้ยับ เพราะมองดูกระแสแล้วเรื่องนี้ชาวบ้านจำนวนมากออกมาด่าตำรวจ แล้วก็ต้องพาลด่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ หัวหน้าคสช. ในฐานะที่ลงชื่อในคำสั่งหราอยู่แล้ว และหากสังเกตยิ่งใกล้วันสงกรานต์เสียงโจมตีก็ยิ่งดังและหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะในความเป็นจริงจากคำสั่งมันกระทบความวิถีชีวิตของชาวบ้านส่วนใหญ่จริงๆ โดยเฉพาะผู้ใช้รถกระบะ ส่วนใหญ่เป็นชั้นกลางลงมา
ความเคลื่อนไหวในแง่ลบดังกล่าว เชื่อว่า ฝ่ายรัฐบาล และ คสช. คงทราบดี น่าจะมีคำแถลงชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ที่ออกคำสั่งออกมาให้ประชาชนได้เข้าใจมากกว่านี้แน่ แม้ว่าทราบกันดีว่าเป็นคำสั่งบังคับเพื่อความปลอดภัย แต่เมื่อไปกระทบกับความเป็นอยู่ที่เคยชิน และเป็นวิถีชีวิตมันก็ต้องโดนวิจารณ์หนัก รวมไปถึงพวกผสมโรงการเมืองที่จ้องป่วน ซึ่งพวกหลังนี่แหละที่ต้องระวัง !!