สตง.จี้ผู้บริหาร กทม.เร่งแก้ปัญหาการดำเนินงานการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารในเขต กทม. หลังพบตลอด 3 ปีมีปัญหาเพียบ พบ 2,561 อาคาร รวมทั้งอาคารที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จไม่ยื่นรายงานตรวจสอบอาคาร 9 ประเภท แถมยังพบโรงภาพยนตร์ใน กทม.241 โรงเพิกเฉย เหตุ กทม.ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แถมเมินรื้อป้ายขนาดใหญ่กว่า 200 แห่ง แม้มีคำสั่งให้รื้อถอนตั้งแต่ปี 2558
วันนี้ (5 เม.ย.) มีรายงานจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า สตง.ได้เผยแพร่รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารในเขตกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2556-2558 พบว่า อาคารที่เข้าข่ายต้องยื่นรายงานตรวจสอบสภาพอาคารของ กทม. ส่วนใหญ่ไม่มีการยื่นรายงานต่อกองคบคุมอาคาร สำนักการโยธา ตามที่กฎหมายกำหนด ตามแผนปฏิบัติการตรวจสอบอาคาร 9 ประเภท โดยมีผลการตรวจสอบเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2559 สรุปว่า มีอาคารจำนวน 3,372 แห่ง จากอาคารทั้งหมด 7,683 แห่ง โดยมีอาคารที่ไม่ยื่นรายงานตรวจสอบ 2,765 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 82 ของอาคารที่เข้าข่าย ซึ่งหน่วยที่ดังกล่าวมีหนังสือแจ้งเตือนให้ดำเนินการภายใน 60 วันนับตั้งแต่แจ้งเตือนแล้ว
“แต่กลับมีอาคารเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ 2,561 แห่ง ร้อยละ 90.99 ของอาคารที่ไม่ยื่นรายงานตรวจสอบ ซึ่งยังไม่รวมอาคารที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและไม่ยื่นรายงานตรวจสอบตั้งแต่ ปี 2555-2559 เนื่องจาก กทม.ยังไม่มีการจัดทำฐานข้อมูล ซึ่ง สตง.ให้ข้อสังเกตว่า กทม.ยังไม่มีมาตรการดำเนินการกับเจ้าขงอาคารที่มีการเพิกเฉยไม่ยื่นรายงานตรวจสอบสภาพอาคาร”
สตง.ยังพบว่า ระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคารโรงภาพยนตร์ที่ กทม.ตรวจสอบระหว่างวันที่ 2-17 ส.ค. 2559 จำนวน 330 โรง ในอาคาร 44 แห่ง หรือ 100% ไม่เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด โดยเฉพาะอุปกรณ์ประกอบอาคารที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น บานประตูโรงภาพยนตร์เป็นวัสดุที่ทำจากไม้ ป้ายบอกแนวทางเดิน ป้ายบอกทางหนีไฟ และป้ายห้ามสูบบุหรี่ มองเห็นไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุมทั่วพื้นที่ หรืออาจมีลักษณะของป้ายที่ไม่เหมือนกัน
ทั้งนี้ กทม.ได้ทำหนังสือด่วน แจ้งไปยังเจ้าของอาคารผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ทั้ง 330 โรง ให้ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามที่กำหนดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งได้ครบกำหนดเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2559 และมีการแก้ไข ณ วันที่ 12 ธ.ค. 2559 พบว่าโรงภาพยนตร์ทั้ง 330 โรง ยังไม่ได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ 89 โรง คิดเป็น 26.97 ของโรงภาพยนตร์ทั้งหมด ที่ขอขยายเวลาแก้ไขเพิ่มเติม ขนาดที่โรงภาพยนตร์อีก 241 โรง หรือ ร้อยละ 73.03 ยังคงเพิกเฉย ไม่มีการดำเนินการใดๆ
โดย สตง.ตั้งข้อสังเกตว่า กทม.ยังไม่มีมาตรการดำเนินการกับเจ้าของอาคารที่ประกอบการโรงภาพยนตร์ที่เพิกเฉย ไม่ดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมาย
รายงานฉบับนี้ยังพบว่า ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่ผิดกฎหมายไม่มีการรื้อถอนตามคำสั่ง และยังใช้ประโยชน์ จากข้อมูลจากสำนักงานเขตต่าง ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2558 มีป้ายขนาดใหญ่ 1,067 แห่ง ป้ายผิดกฎหมาย 242 ป้าย หรือร้อยละ 22.68 ของป้าย จำแนกเป็นป้ายที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต 212 ป้าย ก่อสร้างผิดแบบ 30 ป้าย ในพื้นที่เขตลาดกระบัง มีป้ายผิดกฎหมายมากที่สุด 35 ป้าย โดยมีคำสั่งให้รื้อถอน 31 ป้าย ที่ยังฝ่าฝืน
“สตง.พบว่าปัจจุบันป้ายที่มีคำสั่งให้รื้อถอนยังคงมีการใช้ประโยชน์ 25 ป้าย หรือร้อยละ 80.65 ของป้ายที่มีคำสั่งให้รื้อถอน โดยเกิดปัญหาที่ว่า กทม.ยังไม่มีฐานข้อมูลในการบริหารงานบังคับใช้กฎหมาย ประกอบด้วย 1. ฐานข้อมูลเพื่อการวางแผนอาคาร กลับไม่มีการจัดทำ เช่น จำนวน ประเภท อายุ จำนวนชั้นของอาคารทำให้ขาดข้อมูลในการทำแผนตรวจสอบ 2. ฐานข้อมูลเพื่อการตรวจสอบ ที่มีการจัดในลักษณะสมุดทะเบียน (Manual) ของแต่ละสำนักงานเขต ไม่มีการประมวลผลในภาพรวม และ 3. ฐานข้อมูลเพื่อการติดตามผล ไม่พบว่ามีการจัดทำสมุดทะเบียนคุมคดีอาคาร การบนทุกรับคดี การจัดแฟ้มคดีอย่างมีระบบ เมื่อมีการโยกย้ายทำให้บางคดีไม่มีเอกสารที่ชุดเจน