รองนายกรัฐมนตรี เผยเรียกปลัดกระทรวงคุยติดตามผลงาน ก่อนแจงจะต้องทำอะไรบ้างในช่วงเวลาที่เหลือ พร้อมเร่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ หลังบทบัญญัติเขียนชัดถ้าชง สนช.ไม่ทันหัวหน้าหน่วยต้องพ้นเก้าอี้ รับชอบ กม.แบบนี้งานจะได้ไม่อืด แต่เชื่อทัน 240 วันแน่ ชี้ฟังความเห็นแค่ถามบนเว็บ และอาจไม่ต้องทำตามก็ได้
วันนี้ (5 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.10 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเรียกประชุมปลัดกระทรวงทุกกระทรวงในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ว่า เป็นการติดตามผลการประชุมที่มีก่อนหน้านี้ ซึ่งกระทรวงยุติธรรม จะสรุปผลการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานว่าทำอะไรไปบ้าง มีปัญหาอุปสรรคอะไร ในฐานะที่เป็นเจ้าของเรื่อง จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎี (สคก.) และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จะชี้แจงขั้นตอนว่าแต่ละหน่วยงานจะต้องทำอะไรบ้างในช่วงเวลา 3 เดือน 6 เดือน 8 เดือนหรือ 12 เดือน นับจากนี้ และจะพิจารณาว่ามีร่างกฎหมายฉบับใดที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงใด
นายวิษณุกล่าวด้วยว่า กฎหมายบางฉบับหากทำไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนดอาจไม่มีผล แต่บางฉบับที่รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญ อาทิ กฎหมายที่เกี่ยวกับการรับฟังความเห็นของประชาชนหรือชุมชน ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิต กฎหมายวินัยการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังส่งเรื่องไปที่ สคก.เพื่อเสนอเข้าที่ประชุม สนช.ในเร็วๆ นี้ และกฎหมายที่เกี่ยวกับการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านทุจริต โดยคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้กำหนดว่าใครเป็นหัวหน้าหน่วยงานที่จะรับผิดชอบ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้ว่าต้องทำภายในเวลา 240 วัน และถ้าทำไม่ทันจะมีผลอะไร
“มีระบุไว้ชัดเจนว่า หากเจ้าของเรื่องไม่รีบทำเพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ทันตามกำหนด ให้หัวหน้าหน่วยงานราชการนั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง ส่วนกฎหมายเหล่านี้จะต้องออกเป็นกฎหมายใหม่หรือไม่นั้น ต้องสอบถามจากหน่วยงานเจ้าของเรื่อง ผมทราบว่ากฎหมายวินัยการเงินการคลังจะออกมาเป็น พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เพราะถือเป็นการเซตซีโร่เริ่มจากศูนย์ เราไม่เคยมีกฎหมายนี้มาก่อน ก็ต้องรีบดำเนินการให้ทัน ผมเป็นคนอยากพูดถึงร่างกฎหมาย 3 ฉบับดังกล่าวใน ครม.เพื่อเป็นการเตือนให้รู้ เพราะเกรงว่าจะลืมกัน เป็นการโชว์ผลงาน ไม่มีอะไรน่าสงสัย ที่เตือนเพราะเห็นว่ามีบทลงโทษหัวหน้าหน่วยงาน และความจริงผมก็ชอบกฎหมายที่เขียนไว้แบบนี้ โทษหนักถึงหลุดจากตำแหน่ง งานจะได้ไม่อืด” นายวิษณุกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ระยะเวลา 240 วัน หน่วยงานที่เป็นเจ้าของเรื่องจะทำเสร็จทันหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เสร็จทันแน่นอน เพราะไม่ใช่เรื่องใหญ่ บางเรื่องไปแก้ไขบทบัญญัติบางมาตราในกฎหมายบางฉบับเท่านั้น และหน่วยงานเจ้าของเรื่องมีแนวคิดไว้แล้ว เมื่อถามว่า การออกกฎหมายที่มีเงื่อนเวลากำหนดไว้ จะต้องทำตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้ว่าต้องรับฟังความเห็นจากประชาชน ซึ่งอาจเสร็จไม่ทันตามกรอบเวลา รองนายกฯ กล่าวว่า ต้องทำตามมาตรา 77 และเชื่อว่าทันตามกรอบเวลา ทั้งนี้การเปิดรับฟังความเห็นประชาชนไม่จำเป็นต้องเอิกเกริกหรือไปทำประชามติ เพราะหน่วยงานนั้นสามารถเอาขึ้นเว็บไซต์ เพื่อเปิดรับฟังความเห็นได้และถือว่าเป็นความเห็นของประชาชนแล้ว
เมื่อถามว่า จำเป็นต้องแก้ไขตามที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ต้อง รับฟังกับเชื่อฟังมันต่างกัน รับฟังก็คือการเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดเห็น และเราก็เอามาดูว่าจะเชื่อหรือไม่ โดยที่การรับฟังนี้เราจะเอาไปใช้ทุกขั้นตอน อย่างไรก็ตาม เวลา 240 วันที่หน่วยงานต้องเสนอเข้า สนช.นั้นไม่เกี่ยวกับการใช้เวลาพิจารณาของ สนช. และเชื่อว่าไม่น่าจะมีการรวบรัดในการออกกฎหมาย ตามที่อาจมีข้อกังวล