อดีต ส.ส.กทม.แฉสรรหาบอร์ด บขส.สุดป่วน สงสัย ปธ.บอร์ดเพื่อน วปอ.รุ่นนายกฯ ตัวปัญหา ล็อกสเปกดันชื่อคนขาดคุณสมบัติส่ง รมต. ทั้งที่บอร์ดยังไม่อนุมัติแต่ไปไม่รอด ดันทุรังลดสเปกดันซ้ำ ชี้ หากได้คนเดิมวุ่นแน่ จี้นายกฯ ปลดด่วน พร้อมบี้ “เสรี” พ้นผู้ว่าการ กปภ. หลัง สตง.ทำหนังสือยันขาดคุณสมบัติถึงบอร์ด 3 ครั้ง แต่ประธานตีมึน ถ่วงเวลาส่งเรื่องให้ อสส. ขู่เจออาญาแบบจำนำข้าว
วันนี้ (2 เม.ย.) นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ตรวจสอบกระบวนการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ขนส่ง จำกัด หลังพบว่ามีกระบวนการสรรหามีความผิดปกติ โดยยระบุว่าหลังจากที่นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ขนส่ง จำกัด ไปตั้งแต่ต้นปี 2558 และไปรับตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย จนกระทั่งถูกปลดออกจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 แต่บริษัท ขนส่ง จำกัด ยังไม่ได้ตัวผู้บริหารมานานเกือบ 2 ปีแล้ว
นายวิลาศกล่าวลำดับเหตุการณ์ความพยายามที่สรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ขนส่ง จำกัด ว่ามีการดำเนินการมาแล้ว 4 ครั้ง โดยพบความผิดปกติเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาและการกำหนดคุณสมบัติ ดังนี้ คือ ครั้งที่ 1 มีการประกาศรับสมัครวันที่ 1-30 เม.ย. 2558 กำหนดคุณสมบัติว่าคนที่เคยรับราชการมาต้องเป็นรองผู้บริหารสูงสุด คนที่ทำงานเอกชนก็ต้องเป็นรองผู้บริหารสูงสุดของบริษัทที่มีรายได้ไม่น้อยกว่าสามพันล้าน ปรากฏว่าเมื่อตรวจสอบคุณสมบัติและสัมภาษณ์รอบแรกได้คนเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อนำรายชื่อเข้าบอร์ดเพื่อขอให้รับรองมติมีกรรมการคนหนึ่งท้วงว่า คุณสมบัติไม่ถูกต้องจึงมีการยกเลิกไป ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ชัดว่ามีการล็อคชื่อกันหรือไม่ จนกระทั่งมีการสรรหาครั้งที่สองประกาศรับสมัคร 16-30 พ.ย. 2558 โดยใช้คุณสมบัติเดิม และมีการสอบสัมภาษณ์ในวันที่ 23 ธ.ค. 2558 หลังจากนั้นเพียงหนึ่งวันคือในวันที่ 24 ธ.ค. 2558 นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานบอร์ด บขส.ได้ทำหนังสือถึงแจ้ง รมว.คมนาคม ว่าได้ตัวบุคคลแล้วคือ นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน
“แต่มีข้อสังสัยว่า สัมภาษณ์ในวันที่ 23 ธันวาคม ต้องมีการประชุมกรรมการสรรหา เสนอบอร์ดอนุมัติก่อน แต่กรณีนี้ประธานบอร์ดฯ กลับมีการทำหนังสือถึง รมว.คมนาคมในวันรุ่งขึ้น ไม่ทราบว่ามีการประชุมบอร์ดตอนไหน ต่อมามีการนำเข้าบอร์ดก็ถูกยกเลิกอีก ทำให้เห็นถึงความผิดปกติในสามส่วน คือ 1. เร่งรีบเสนอรายชื่อต่อรมว.คมนาคม 2. ไม่มีการเสนอให้บอร์ดรับรองรายชื่อดังกล่าว 3. มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ นายจิรศักดิ์ที่ได้รับการเสนอชื่อจากประธานบอร์ดให้ รมว.คมนาคม ในการสรรหาครั้งที่ 2 แต่สุดท้ายไม่ผ่านเพราะขาดคุณสมบัตินั้น มีรายชื่อกลับมาสมัครอีกในการสรรหาครั้งที่ 3 และ 4 ซึ่งมีการลดสเปกคุณสมบัติลงด้วย” นายวิลาศกล่าว
นายวิลาศกล่าวต่อว่า เมื่อการสรรหาครั้งที่ 2 ไม่ประสบความสำเร็จ ก็มีการสรรหาครั้งที่ 3 วันที่ 4-27 เม.ย. 2559 โดยมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติว่าต้องเป็นรองผู้บริหารสูงสุดไม่เกินสองระดับ ส่วนเอกชนเปลี่ยนรายได้บริษัทเอกชนจาก 3 พันล้านบาทเป็น 800 ล้านบาท เท่ากับมีการลดคุณสมบัติลงทำให้เกิดคำถามว่า เป็นการดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ใครหรือไม่ และเป็นประเด็นที่ทำให้กรรมการสรรหาบางคนอึดอัดหรือไม่ เพราะในระหว่างการสรรหามีกรรมการ 2 คนได้ขอลาออกจากตำแหน่งทำให้การสรรหาในครั้งนั้นต้องยกเลิกไป ยังไม่ได้รายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือก แต่ที่น่าสนใจคือ มีรายชื่อของนายจิรศักดิ์ ที่ขาดคุณสมบัติในครั้งที่ 2 เข้ารับการสมัครในครั้งนี้ด้วย
นายวิลาศกล่าวอีกว่า ต่อมาก็มีการสรรหาครั้งที่สี่ ในวันที่ 10-31 ต.ค. 2559 และมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติใหม่อีกครั้ง คือในส่วนรัฐวิสาหกิจให้เป็นรองผู้บริหารสูงสุดไม่เกินหนึ่งระดับ และต้องได้รับคะแนนประเมินจากกรรมการสรรหาร้อยละ 80 โดยเพิ่งจะมีนัดสัมภาษณ์ไปเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2560 ซึ่งมีปัญหาว่ากระบวนการคัดเลือกทั้งหมดในระเบียบบอกให้ตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นก่อนสัมภาษณ์ แต่ทุกครั้งที่มีปัญหา คือ คุณสมบัติตกหมด แต่กลับผ่านการสรรหาและมาถูกตีตกไปเพราะมีกรรมการบอร์ดทักท้วง แต่ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมามีกรรมการบางส่วนพ้นวาระไป จึงขอตั้งข้อสังเกตว่ามีการประวิงเวลารอให้พวกแข็งเมืองไปหมดแล้วค่อยดำเนินการสัมภาษณ์ใช่หรือไม่ เพราะจากสถิติตามห้วงเวลาที่มีการสรรหาจะสัมภาษณ์หลังจากประกาศรับสมัครประมาณ 2-3 เดือน แต่ในครั้งที่ 4 นี้กลับนัดสัมภาษณ์หลังจากประกาศรับสมัครนานถึง 5 เดือน และเป็นห้วงเวลาที่กรรมการบางคนพ้นวาระไปแล้วด้วย
“ผมคิดว่าปัญหาน่าจะอยู่ที่ประธานบอร์ด ก็คือ คุณอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ที่เคยเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท บางจาก เป็นเพื่อน วปอ.กับนายกฯ ประยุทธ์ เพราะความเป็นเพื่อนนายกฯ หรือไม่ ทำไมจึงมีการสรรหาผิดขั้นตอนทั้งหมด และทุกครั้งที่ยกเลิกเกิดจากกรรมการทักท้วงว่าคุณสมบัติไม่ครบ เช่น มีครั้งหนึ่งเคยมีคนได้รับการสรรหาเพราะเป็นที่ปรึกษาถูกทักท้วงเพราะไม่เคยเป็นผู้บริหาร สะท้อนว่าคณะกรรมการสรรหาไม่ทำหน้าที่โดยสมบูรณ์ ไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติก่อน และในประกาศรับสมัครก็ระบุไว้แต่กลับไม่ดำเนินการตามนั้น ผมเชื่อว่าถ้าสรรหาอย่างนี้ไม่จบหรือถ้าจบลงตรงที่รายเดิมกลับมาได้รับการคัดเลือกอีกทั้งที่เคยขาดคุณสมบัติไปแล้วครั้งหนึ่งก็จะเกิดปัญหาเรื่องการร้องเรียนตามมา จึงขอเรียกร้องให้นายกฯ
ตรวจสอบเรื่องนี้ และควรเปลี่ยนตัวประธานบอร์ด บขส.ได้แล้ว เพราะนายกฯ บอกเองว่าถ้ามีข้อมูลว่าใครไปอ้างชื่อท่านหาผลประโยชน์ให้แจ้งท่านทราบ กรณีนี้ผมคิดว่าผิดปกติ นายกฯ ควรจะให้ความสนใจและดำเนินการ” นายวิลาศ กล่าว
นายวิลาศยังกล่าวถึงปัญหาคุณสมบัติของนายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาค คนปัจจุบัน ว่าขาดคุณสมบัติตามที่ สตง.ได้ทำหนังสือไปถึงบอร์ดการประปาส่วนภูมิภาคแล้วถึงสามครั้งคือ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2559 ครั้งที่สอง 25 พ.ย. 2559 และครั้งสุดท้ายทำหนังสือไปในวันที่ 27 ก.พ. 2560 โดยให้การประปาส่วนภูมิภาคใช้มาตรา 8 เบญจ ของ พ.ร.บ.มาตรฐานพนักงานรัฐวิสาหกิจ กำหนดว่าเมื่อตรวจพบว่ามีคุณสมบัติไม่ถูกต้องให้บอร์ดสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง แต่ประธานบอร์ดคือนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ไม่ยอมดำเนินการ มีการส่งเรื่องสอบถามไปยังอัยการ ซึ่งตนไม่ทราบว่าเป็นเพราะต้องการถ่วงเวลาหรือไม่
“ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า แม้แต่คดีจำนำข้าวที่ สตง.ทักท้วง 5 ครั้งแล้วรัฐบาลในขณะนั้นไม่ทำยังเป็นคดีอาญา ในขณะที่การประปาส่วนภูมิภาคต้องรอให้ถึง 5 ครั้งแล้วถูกดำเนินคดีอาญาใช่หรือไม่ การสอบถามไปยังอัยการไม่ทราบว่าต้องการถ่วงเวลาหรือไม่ แต่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติแล้ว เพราะผู้ว่าการประปาฯ จะไม่กล้าตัดสินใจในการทำงาน มีการต่อรองระหว่างตัวผู้ว่าฯ กับผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบการทุจริตในการประปาฯได้ เพราะเมื่อผู้ว่าฯ มีแผลก็ไม่กล้าสอบคนที่ทุจริตใน กปภ.” นายวิลาศ กล่าว