xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.ป.ป.ช.ชงนายกฯ เยียวยา 20 ขรก.พยานคดีโกงสอบ นอภ.แต่ถูกฟันด้วยแล้ว ชี้ มท.ทำเกินไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เผย ส่งหนังสือถึงนายกฯ ให้เยียวยา 20 ข้าราชการ ที่ถูกกันไว้เป็นพยานคดีโกงสอบนายอำเภอ แต่ถูกกรมการปกครองฟันวินัยแล้ว ชี้ลงโทษเกินไป ยันไม่ได้ชี้มูล ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ บอกไม่ต้องใช้ ม.44 ออกคำสั่ง พร้อมใช้มาตรการกันพยานคุ้มครองอีกหลายคดีให้คนตัวเล็กเป็นหลักฐานมัดโกง

วันนี้ (1 เม.ย.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช. ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้เยียวยาข้าราชการ 20 คน ที่ถูกกันไว้เป็นพยานในคดีทุจริตสอบนายอำเภอเมื่อปี 2552 แต่ถูกอธิบดีกรมการปกครองลงโทษทางวินัยว่า ตนได้ส่งหนังสือถึงนายกฯ เรียบร้อยแล้ว และได้พูดคุยกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลเรื่องดังกล่าวแล้วด้วยว่า เรื่องนี้ ป.ป.ช. ได้กันทั้ง 20 คน ไว้เป็นพยานเมื่อครั้งไต่สวนคดีนี้ และเมื่อชี้มูลความผิดทั้งวินัยและอาญาในคดีนี้แล้ว ปรากฏว่า กรมการปกครองได้ไปเพิกถอนบุคคล 20 คนนี้ รวมไปกับผู้ถูกกล่าวหาที่ชี้มูลว่ากระทำผิดทั้ง 119 คน ซึ่ง 20 คนดังกล่าวไม่ได้ถูกชี้มูล แต่กลับถูกกรมการปกครองเพิกถอนสิทธิรวมไปด้วย จึงต้องชี้ให้เห็นว่ากฎหมาย ป.ป.ช. หากใครถูกกันเป็นพยานจะต้องได้รับการคุ้มครอง เพราะ 20 คนนี้ ไม่ได้ถูกมองว่ากระทำผิด แต่อาจมีส่วนร่วมมากหรือน้อยต่างกัน แล้วถูกกันเป็นพยานเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี ซึ่งกระทำไปตามกฎหมายของ ป.ป.ช.

“เมื่อทางกรมการปกครองเพิกถอนสิทธิ 20 คนนี้ รวมไปกับ 119 คน ทำให้บุคคลทั้ง 20 คน ไม่มีสิทธิเข้ารับการอบรมโรงเรียนนายอำเภอ รุ่นปี 52 และจนถึงปีนี้เป็นช่วงที่พวกเขาได้มีโอกาสเลื่อนตำแหน่งในระดับชำนาญการพิเศษเพื่อที่จะก้าวเป็นนายอำเภอต่อไป แต่เขากลับถูกเพิกถอนย้อนหลังจึงต้องเสียสิทธินั้น กลายเป็นว่า เมื่อเขามาช่วยราชการตามกฎหมายของ ป.ป.ช. กลับไปกระทบสิทธิของเขาในการเจริญก้าวหน้า และ 20 คนนี้ยังรับราชการอยู่จนทุกวันนี้ ไม่เหมือนกับ 119 คน ที่กรมการปกครองไล่ออกจากตำแหน่งไปแล้ว” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว

ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ตนได้ทำหนังสือถึงนายกฯ โดยระบุว่า ขอให้ผู้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่ตามกฎหมายได้โปรดพิจารณาดำเนินการ เนื่องจาก ป.ป.ช. เห็นว่า กรมการปกครองลงโทษเกินไป เพราะ ป.ป.ช. ไม่ได้ชี้มูลบุคคลเหล่านี้ จึงถือว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้น จะไปลงโทษทางวินัยหรือเพิกถอนสิทธิเขาไม่ได้ และไม่ใช่ไปตีความว่ามีส่วนร่วมกระทำผิดด้วยกันแล้วจะต้องถอนสิทธิรวมไปทั้งหมด อีกทั้งการกันเป็นพยานตามกฎหมาย ป.ป.ช. ต้องได้รับการคุ้มครอง จึงเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช. ต้องดูแลทั้ง 20 คน โดยคนเหล่านี้ยังอยู่ในอายุราชการ ถ้าเขาได้สิทธิและได้เข้าอบรม แล้วอีก 5 - 7 ปี ข้างหน้าเขาจะเกษียณแล้วจึงควรได้รับสิทธิคืน โดยนายกฯ จะตรวจสอบและจะประสานงานไปยังต้นสังกัดดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขอให้นายกฯ เยียวยาโดยการใช้มาตรา 44 พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพราะเรื่องนี้คือข้อเท็จจริง คำสั่งออกไปปี 57 ป.ป.ช. ส่งคำร้องไปต้นสังกัดเมื่อปี 58 ในขณะที่มีบางส่วนใน 20 คน ได้ไปฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ต้นสังกัดของเขาจึงระบุว่า ต้องรอคำสั่งศาลปกครองก่อนแต่ ป.ป.ช. มองว่า เป็นคนละประเด็นกันจึงขอให้นายกฯ พิจารณาเรื่องนี้ และทางรัฐบาลเองถือว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพราะในการปราบปรามการทุจริตนั้นจะต้องส่งเสริมการให้ข้อมูล โดยการปกปิดผู้ร้อง คุ้มครองพยาน และอีกหลายๆ เรื่อง อีกหลายคดีที่เราจะต้องใช้มาตรการกันพยานและคุ้มครองพยานในการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการทุจริตเหล่านี้ด้วย เพื่อให้ตัวเล็กๆ เหล่านี้ให้หลักฐานมัดแน่นเมื่อนำสำนวนคดีส่งศาลจะได้ไม่มีปัญหา
กำลังโหลดความคิดเห็น