xs
xsm
sm
md
lg

“วิลาศ” ปูดรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน เอื้อเอกชนเจ้าเก่า พิรุธ “สมคิด” เร่งลงนาม จี้นายกฯ ทบทวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิลาศ จันทร์พิทักษ์  อดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
อดีต ส.ส.กทม.ชี้ 4 ปม รถไฟฟ้าสีน้ำเงิน ส่อเอื้อเอกชนรายเดิม ไม่คิดแยกส่วนเปิดช่องกินรวบ แฉข้อมูลสายสีม่วงใกล้หมดสัญญาปี 72 ต้องคืนทรัพย์สินให้รัฐ แต่กลับให้เจรจาเหมารวมสายสีน้ำเงิน เริ่มนับหนึ่งผลตอบแทนใหม่ ฉะไม่ประกวดราคาทำรัฐขาดรายได้อย่างน้อย 10% งง “สมคิด” ลงนามในสัญญาหลัง ครม.มีมติแค่ 3 วัน วอน “ประยุทธ์” นำข้อมูลไปทบทวน รักษาประโยชน์ชาติ

วันนี้ (31 มี.ค.) นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่ ครม.มีมติเห็นชอบผลการเจรจาผู้เดินรถไฟฟ้ารายเดิม คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (สายเฉลิมรัชมงคล) และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายฉลองรัชธรรม) โดยให้ดำเนินการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายด้วยเพื่อให้เกิดการต่อเนื่องเมื่อวันอังคารที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา และในวันนี้ (31 มีนาคม) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้ เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาสัมปทานโครงการดังกล่าวแล้วว่า มีประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ 1 เหตุใดต้องรีบร้อนลงนามหลังจากที่ ครม.มีมติเพียงแค่สามวัน อีกทั้งไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของสัญญาเพื่อให้ประชาชนที่ตรวจสอบมีโอกาสได้แสดงความเห็น เนื่องจากเป็นการลงนามในสัญญากับรายเดิมไม่มีการประกวดราคาใหม่ 2 ในกรณีที่ลงนามกับรายเดิมโดยใช้วิธีการเจรจาตกลงแทนที่จะใช้วิธีการประกวดราคาตามปกติจะทำให้รัฐขาดรายได้ไปไม่น้อยกว่า 10%

โดย 3 โครงการนี้ในช่วงเริ่มต้นได้มีการวางแผนว่าจะใช้วิธีประกวดราคา โดยคณะรัฐมนตรีเดือนพฤษภาคม 2551 มีมติว่าให้ประกวดราคามีการสร้างอู่ซ่อมรถรองรับที่บางหว้า มีการเวนคืนที่ดินชาวบ้านประมาณ 100 ไร่ ใช้งบประมาณเกือบ 5 พันล้าน ซึ่งในปัจจุบันก็ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อรัฐบาลตัดสินใจให้รายเดิมดำเนินการก็จะทำให้อู่ซ่อมรถที่บางหว้าไม่ได้ใช้ประโยชน์ เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีอู่ซ่อมรถอยู่แล้ว แต่จะใช้เป็นที่จอดพักรถซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์และไม่คุ้มค่า 4 รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลสัญญาซึ่งบริษัทรายเดียวกันนี้ดำเนินการอยู่จะหมดในปี 2572 ทำให้ทุกอย่างจะต้องกลับมาเป็นของ รฟม. แต่เมื่อครม.ใช้วิธีเจรจาตกลงแล้วนำโครงการสายเฉลิมรัชมงคลมารวมกับส่วนต่อขยาย ส่งผลให้ทรัพย์สินที่ควรจะตกเป็นของรัฐแล้ว กลับอยู่ในสัญญาใหม่เหมือนเพิ่งเริ่มก่อสร้างเสร็จ โดยในสัญญารัฐจะได้ส่วนแบ่งก็ต่อเมื่อบริษัทมีผลตอบแทนเกิน 9.75%

“การทำสัญญาโดยไม่แยกส่วนเช่นนี้ย่อมทำให้รัฐเสียประโยชน์ ทั้งที่ควรแยกสายเฉลิมรัชมงคลออกมาเนื่องจากจะหมดสัญญาก่อนในปี 2572 แต่ในส่วนต่อขยายจะสิ้นสุดสัญญาในปี 2592 ซึ่งในคำสั่ง คสช.ระบุว่าให้มีการเจรจาตกลงเพื่อให้สัญญาสิ้นสุดพร้อมกัน จึงควรเจรจาแยกสัญญาเพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุดแทนที่จะทำแบบเหมารวม เพราะสายเฉลิมรัชมงคลซึ่งเปิดใช้ปี 2547 กว่าที่รัฐจะได้ประโยชน์ตอบแทนครั้งแรกก็ในปี 2559 คือผ่านไป 12 ปี รัฐเพิ่งจะได้ผลตอบแทนเพียงแค่ 1% เท่านั้นโดยเมื่อคำนวณจนถึงปี 2572 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดสัญญา รัฐจะได้ประโยชน์ตอบแทนอยู่ที่ 15% ของรายได้ แต่หลังสิ้นสุดสัญญารัฐย่อมได้ผลประโยชน์มากขึ้น เนื่องจากทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของรัฐแล้ว ไม่เข้าใจว่าเหตุใด ครม.จึงไม่คิดแยกส่วนแต่กลับเปิดทางให้เอกชนกินรวบ ผมไม่แน่ใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ ทราบข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ ถ้าไม่ทราบตอนนี้ก็น่าจะรู้แล้วควรจะทบทวนเรื่องนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ประเทศ” นายวิลาศกล่าว

อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์กล่าวด้วยว่า กรณีที่นายอาคม เติมพิทยาไพศิษฐ์ รมว.คมนาคม ชี้แจงว่า การให้ดำเนินการการให้บริการเดินรถทั้งสองสายในลักษณะเชื่อมต่อกันได้จะทำให้รถไฟฟ้ามหานครสายสีม่วงมีสถานีเพิ่มขึ้นจากเดิม 18 สถานี เป็น 19 สถานี โดยมีผู้ให้บริการเดินรถเป็นรายเดียวกัน ช่วยอำนวยความสะดวกทั้งการบริการและการดูแลความปลอดภัยที่สามารถบริหารจัดการได้จากผู้ให้บริการเดินรถรายเดียวนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะถ้าคิดแบบนี้ต่อไปก็ต้องให้บริษัทเอกชนรายเดียวเป็นผู้ให้บริการทั้งหมดจึงจะเกิดความสะดวกกับประชาชน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วรัฐควรทำให้เกิดการแข่งขันประโยชน์สูงสุดจึงจะตกเป็นของประชาชนไม่ใช่ประโยชน์ไปตกกับเอกชนรายใดรายหนึ่ง ทั้งนี้ตนจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเงื่อนไขในสัญญาซึ่งทราบมาว่ามีความพยายามปกปิดอย่างผิดปกติ เพื่อตรวจสอบและนำความจริงมาบอกกับประชาชนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น