xs
xsm
sm
md
lg

สนช.227 เสียง ผ่านวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรฯ ยอมตัด ม.10/1 ออกไปใส่เป็นข้อสังเกต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนช. ถกต่อปมร้อน หลังเบรกพักยก ก่อนมีมติ 227 เสียง ผ่านวาระ 3 ร่างพ.ร.บ. ปิโตรเลียม หลัง ตัด ม.10/1 ออก พร้อมเขียนในข้อสังเกตแนบท้าย ตั้ง คกก. ศึกษาการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติภายใน 1 ปี

วันนี้ (30 มี.ค.) เมื่อเวลา 18.30 น. ได้มีการเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ.... อีกครั้ง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้ดำเนินการอภิปรายต่อ โดย พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพาณิชย์ สมาชิก สนช. อภิปรายว่า การเขียนไว้ในมาตรา 10/1 เช่นนี้ สุ่มเสี่ยงที่จะให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตฉวยโอกาสเปลี่ยนแปลงรูปแบบบรรษัทไปจากเดิมโดยอ้างกฎหมายฉบับนี้ได้ ดังนั้น ทำไมเราไม่ปิดจุดอ่อนนี้เสีย โดยการใส่ในข้อสังเกตว่า จะต้องให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติภายใน 1 ปี และหากเมื่อถึงเวลานั้นแล้ว ยังไม่มีการจัดตั้ง สมาชิก สนช. จำนวน 25 คน สามารถเสนอร่างกฎหมายบังคับให้มีการจัดตั้งบรรษัทก็ได้ แต่ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการ ยืนยันขอยืนตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเราผ่านขั้นตอนมามากมายแล้ว ไม่สบายใจที่จะเปลี่ยนแปลง

จากนั้น นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. เลขาธิการวิป สนช. กล่าวว่า เมื่อจำเป็นต้องมีหน่วยงานรัฐต้องดูแลเรื่องปิโตรเลียมของชาติทั้งหมด ประชาชนจะได้รับรู้ว่า มีความโปร่งใส ชัดเจน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะตัดมาตรา 10/1 ออกไป และ ช่วยยืนยันกับสภาจะดำเนินการบันทึกไว้ ใส่ในข้อสังเกตอย่างหนักแน่น ว่า 1 ปี จากนี้จะต้องมีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยกระทรวงพลังงาน และ กระทรวงการคลัง ขอให้ถอยคนละหนึ่งก้าว เพราะเดิมกรรมาธิการก็ไม่ตั้งใจจะใส่อยู่แล้ว แต่ เมื่อมีแล้วตนก็พร้อมรับความผิดพลาดเอง

อย่างไรก็ตาม ทางตัวแทนกรรมาธิการ โดย พล.อ.สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผู้ช่วย รมว.พลังงาน กล่าวว่า หากมีการเสนอเป็นข้อสังเกตร่าง พ.ร.บ. นั้น กระทรวงพลังงาน จะให้ความความสำคัญกับข้อสังเกตนั้น รมว.พลังงาน พร้อมจะนำข้อสังเกตนี้ไปศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม จะใส่ใจ และฟังความเห็นเพื่อพิจารณาข้อดีข้อเสียในการจัดตั้งหน่วยงาน หรือองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างสูงสุด

พล.อ.สกนธ์ กล่าวว่า เมื่อ พล.อ.สุรศักดิ์ พูดเช่นนี้ ก็ถือเป็นสัญญาประชาคม ตนก็ยินดีให้มีการศึกษาจัดตั้งบรรษัทเพื่อดูแลต่อไป ด้วยคำของลูกผู้ชาย และทุกคนก็ยอมรับแนวคิดนี้ เพื่อให้ทุกอย่างเดินไปให้ได้ กฎหมายไม่สะดุด และจะติดตามความคืบหน้าร่วมกับประชาชนทั้งประเทศ ว่า รูปแบบควรเป็นอย่างไร ในที่สุดที่ประชุมไม่ขัดข้องให้ถอดมาตรา 10/1 และไปใส่ไว้เป็นข้อสังเกตแทน

ต่อมาที่ประชุมได้ทยอยลงมติในมาตราส่วนที่เหลือจนครบ โดยไม่มีการอภิปราย และมีมติรับหลักการวาระ 3 ด้วยคะแนน 227 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาในส่วนข้อสังเกต โดยใส่ไว้ในข้อสังเกต 10.5 ใจความว่าการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยที่ร่าง พ.ร.บ. นี้ได้เพิ่มให้มีการนำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาจัดจ้างบริการ มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งการบริหารจัดการตามระบบที่เกิดขึ้นใหม่ทั้ง 2 ระบบ มีความแตกต่างจากการบริหารจัดการตามระบบสัมปทานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือระบบอื่นใดที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต รวมทั้งการดำเนินการตามระบบที่เพิ่มขึ้นใหม่ จะมีผลทำให้รัฐมีกรรมสิทธิ์ในผลผลิตปิโตรเลียมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด รัฐจึงควรจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่ในการรบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมนั้น ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยเร็ว ครม. จึงควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นภายใน 60 วัน เพื่อพิจารณาศึกษาถึงรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมภายใน 1 ปี ต่อไป







กำลังโหลดความคิดเห็น