สนช. ถกปมร้อน ร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม “พล.อ.สกนธ์” แฉ ครม. เสนอตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเอง ไม่สนใจคนค้าน เพราะเป็นพวกเชียร์ทหาร ยันไม่เขลาดึงทหารเป็นแกนหลัก ด้านสมาชิกอภิปรายหนุนตั้งบรรษัทแต่กังขานิยาม “ความพร้อม” ชี้ ร้อยปีอาจไม่เกิด แต่ถือเป็นสัญลักษณ์ต่อรองบนผลประโยชน์ชาติ ล่าสุดยังไม่มีข้อสรุปสั่งพักการประชุม
วันนี้ (30 มี.ค.) เมื่อ เวลา 14.00 น. มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ....ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ โดย พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา มีความพยายามเชื่อมโยงกล่าวหาต่างๆ นานา ผ่านสื่อทุกอย่าง ล่าสุด มีอดีตผู้ใหญ่ก็ออกมาพูด ซึ่งตนไม่ อยากให้สัมภาษณ์ตอบโต้ มีโทรศัพท์มาเป็นร้อยสาย ตนไม่รับ เพราะคิดว่าเป็นคนของสภา จึงอยากเข้ามาพูดในสภาดีกว่า ตนคิดว่า ภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวโดยบริสุทธิ์ใจ และที่กล้าออกมาคัดค้านรัฐบาลทหาร ก็เพราะคนเหล่านี้เชียร์ทหารให้ปฏิวัติ เป็นเพื่อนกับเรา แต่เราก็พยายามปรับแก้ให้เท่าที่เป็นไปได้ เพราะปัญหาเยอะมาก จะแก้ไขให้หมดทุกอย่างภายในชั่วข้ามคืนคงไม่ได้ เพราะปัญหานี้หมักหมมมานาน มีหลายมิติ ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้มีเจตนาทำร้าย ปตท. สิ่งที่ออกมาทั้งหมดเป็นเสมือนน้ำแข็งที่ลอยอยู่กลางน้ำ นายทุนก็กล่าวหาว่าเราเป็นซ้ายจัด ฟังภาคประชาชนมากเกินไป ภาคประชาชนก็โจมตี มีขบวนการสร้างความไม่พอใจเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่เราเสนอเรื่องนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไปแล้ว
พล.อ.สกนธ์ กล่าวว่า ตั้งแต่เรามีกฎหมายปิโตรเลียม ซึ่งมีแค่ระบบสัมปทานเพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่ทั่วโลกเปลี่ยนไปหลายวิธีแล้ว และจากการศึกษาก็พบว่าระบบสัมปทานยังเหมาะสมอยู่ แต่ก็ควรมีวิธีอื่นเข้ามาด้วย เช่น ระบบแบ่งปันผลิตผลิต ที่ทั่วโลกใช้กันโดยเจ้าหน้าที่รัฐไปร่วมทำงานกับเอกชน เพื่อที่จะได้รู้ว่าพลังงานออกมาเท่าไหร่จะได้แบ่งปันก็ตามสัญญาและเป็นไปตามเงื่อนไข และอีกวิธีคือสัญญาจ้างบริการ แต่ร่างที่รัฐบาลเสนอมา กำหนดให้เป็นสัญญาจ้างสำรวจและผลิต ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่สมบูรณ์จึงรับไมได้ เพราะถ้าจะเลือกใช้ทั้งระบบแบ่งปันผลผลิตและการจ้างบริการ จะต้องตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาดำเนินการ ซึ่งจะต้องใช้เจ้าหน้าที่มาก จึงเสนอเป็นแผนระยะยาวไม่ใช่ทำทันที ที่ผ่านมา มีการกล่าวหาว่าตนจะพยายามดึงกลับไปให้ทหาร โดยให้กรมพลังงานทหารมาเป็นแกนนำหลัก ซึ่งตนไม่เคยพูด เพราะตนรับราชการทหาร อยู่ในวงการปิโตรเลียม มาเป็น 10 ปี คิดว่า คนจาก 3 ส่วนที่เข้ามาทำงานนี้ได้ มาจาก 3 ที่ คือ กรมพลังงานทหาร กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นความพยายามที่จะโยงว่าจะดึงกลับไปให้ทหารเหมือนในอดีต ซึ่งตนไม่เขลาพอที่จะทำร้ายประเทศชาติ
“มีความพยายามโยงการกระทำกับพวกผม 6 คน แบบนี้ ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ กรรมาธิการได้ใช้เวลายาวนานในการพิจารณา เราได้ปรับแก้ร่างกฎหมาย ด้วยการเปลี่ยนชื่อระบบแบ่งปันผลประโยชน์ให้ถูกต้องจากคำว่า สัญญาจ้างสำรวจและผลิต มาเป็นสัญญาจ้างบริการ ขณะเดียวกัน เรายังได้นำมติ ครม. มาเพิ่มเป็นมาตรา 10/1 ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ ซึ่งผมไม่ได้ขอขึ้นไป แต่ทางรัฐบาลคงทราบจากหลายสื่อจึงคิดว่าสำคัญ เมื่อ ครม. มีความต้องการแบบนี้ ก็เป็นหน้าที่ของผมที่ต้องไปชี้แจงว่าบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ว่าจำเป็นอย่างไร โดยรูปแบบก็กำหนดว่าถ้ามีความพร้อมก็ค่อยตั้ง แต่ก็มีความพยายามที่จะชี้ว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ และกดดันให้ถอนร่างออก กล่าวหาอย่างโน้นอย่างนี้ จะดึงทหารเข้ามาเกี่ยว จึงได้ปรึกษากับเพื่อนกรรมาธิการทุกคนแล้วว่าจะไม่สนใจกับคำพูดเหล่านี้” พล.อ.สกนธ์ กล่าว
จากนั้นสมาชิกได้พิจารณารายมาตรา จนมาถึง ม.10/1 นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. ได้อภิปรายว่า การเขียนมาตรา 10/1 ขึ้นมา ถามว่า อยู่ภายใต้แนวคิดอะไร มีกลุ่มประชาชนส่วนหนึ่งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย กรณีที่หากให้มีการตั้งบรรษัทเมื่อ “มีความพร้อม” โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “เมื่อมีความพร้อม” และ “ต้องศึกษา” แล้วมันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ กมธ. เขียนว่าอย่างน้อยใช้เวลา 3 ปี ภาคประชาชนขอให้ชัดเจนขึ้นมาอีกหน่อยได้หรือไม่ เพราะเขียนว่า “พร้อม” มันไม่มีหลักประกัน จึงควรให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษารูปแบบ วิธีการ หลังจากกฎหมายนี้ใช้แล้ว เมื่อมี มติครม. ชัดเจน และเป็นสัญญาประชาคม ว่า บรรษัทจะเกิดขึ้นแน่ นั้นตนพอรับได้ แม้จะอยากให้เกิดขึ้นทันที แต่ถ้าบอกว่าขึ้นอยู่กับรัฐบาลพิจารณาเมื่อไหร่พร้อมไม่พร้อม เขียนไว้แค่นี้แล้วจัดตั้งบรรษัทไม่มีทางได้ ต้องเขียน พ.ร.บ. อีกฉบับที่มีรายละเอียด เพราะวันนี้ไม่มีใครรู้ว่าเป็นอย่างไร แบบไหน รูปแบบที่เหมาะกับไทยคืออะไร ตนจึงคิดว่ารับได้บางส่วน
“จากรูปแบบสัมปทานเดิมหาก พ.ร.บ. นี้ ผ่าน จะมีสัญญาใหม่อีกสองแบบ คือสัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาบริการ ดังนั้น ในช่วงที่ยังไม่ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ตัวแทนรัฐที่จะทำสัญญาคือใคร หากให้หน่วยงานรัฐไปเป็นคู่สัญญากับบริษัทข้ามชาติก็ไม่มีศักยภาพพอ แต่ปัญหาคือคำว่า “เมื่อพร้อม” นี่จะเป็นเวลานานแค่ไหน”
นายธานี อ่อนละเอียด กล่าวว่า การเขียนกำหนดให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เมื่อพร้อมนั้นอาจมีปัญหาในอนาคต ซึ่งควรจะปรับไปเขียนเป็นข้อสังเกตแนบท้ายจะดีกว่า
นายวรพล โสขัดติยานุรักษ์ กล่าวว่า นอกจากสัญญารูปแบบและสัมปทานในอดีตที่ใกล้หมดอายุที่จะทำให้เกิดทรัพย์สินประเภทสิทธิรูปแบบใหม่ ที่จะต้องมีวิธีการบริหารจัดการ ซึ่งหน่วยงานรัฐอย่างกรมเชื้อเพลิง กระทรวงพลังงาน ไม่ค่อยคล่องตัว อาจพร้อมแค่การทำสัมปทาน แต่สองอย่างที่กำลังเกิดจำเป็นต้องมีองค์กรทำหน้าที่แทนรัฐ หรือองค์กรรัฐอย่างกระทรวงพลังงาน ที่ปรับให้มีศักยภาพ เชิงธุรกิจ บริหารจัดการ ขยายไปถึงการขายจำหน่ายรับซื้อให้คล่องตัว
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ อภิปรายว่า ที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลแหวกวงล้อมหนีทุนพลังงานไม่พ้น ตนจึงไม่รับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่แรก แต่เมื่อคณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วส่งเข้ามาสภา ตนได้อ่านอย่างละเอียดแล้วก็รู้สึกดีขึ้น เพราะจะยึดหลักอยู่ 2 ประการ คือ ต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน จนเกินรัฐธรรมนูญกำหนด และต้องเป็นประโยชน์เพื่อสังคมส่วนใหญ่ ไม่ใช่กลุ่มใดโดยเฉพาะ เมื่อดูวิธีการแก้ไข ถือว่ามีการทำได้ดีมาก โดยเฉพาะมาตรา 10/1 ที่จะบอกว่า ประธานอยู่ท่ามกลางเขาควายไม่ได้ เพราะไม่มีใครเป็นควาย แต่เหมือนกล้วยทับถูกบีบแบนตรงกลางมากกว่า หากกฎหมายอะไรออกมาแหลมคม หากมีฝ่ายใดเชียร์แสดงว่าไม่มีความเป็นกลาง แต่ถ้ามีสองฝ่ายบีบก็น่าจะดี
“สมาชิกอาจตีความแง่ถ้อยคำอาจลำบากลำบน ผมก็ว่าเกิดขึ้นยาก ว่า จะเกิดเมื่อไหร่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยินยอมหรือ แต่อย่างน้อยก็เป็นสัญลักษณ์ให้ผลประโยชน์ชาติเกิดบรรยากาศการต่อรองพอสมควร เพื่อดึงผลประโยชน์ของชาติกลับมา แม้ร้อยปีอาจจะไม่เกิดแต่อย่างน้อยก็สัญลักษณ์ขึ้นแล้วในเวทีนี้ บางคนผวาออกมาใส่ร้ายป้ายสีว่าลักไก่ แม้จะมีการแก้ไขหลักการก็เป็นการทำตามขั้นตอน ครม. เขายินยอม ขอให้ผ่านไปเถอะ จะมีผลเมื่อไหร่ไปศึกษากัน สภาทำถูกต้องแล้ว” นายวัลลภ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสมาชิกอภิปรายมาตรา 10/1 กว่า 4 ชั่วโมง ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป จนเมื่อเวลา 18.10 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานในฐานะประธานที่ประชุม ได้สั่งพักการประชุมเพื่อให้ไปหลอมรวมความคิดเห็นของทั้งสองฝ่าย