ประธานกกต. เผย เตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งทุกระดับอยู่แล้ว ย้ำมีประสบการณ์อุปกรณ์พร้อม ด้านสนง.กกต.เคยชงสปท. ควรเลือกตั้งส.ส.ก่อนท้องถิ่น เหตกม.เลือกตั้งท้องถิ่นเก่าไม่สอดรับแนวทางปฏิรูปท้องถิ่นตามร่างรธน.ใหม่ ซ้ำยังเป็นการสร้างฐานการเมืองให้กับนักเลือกตั้งระดับชาติที่จะเข้ามาเป็นส.ส. ขัดเจตนาปฏิรูปการเมือง
วันนี้ (29 มี.ค.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อยากให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนเลือกตั้งระดับชาติ ว่าทาง กกต.ได้เตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งทุกระดับอยู่แล้ว เนื่องจากเรามีประสบการณ์ในการจัดการเลือกตั้งมาเกือบ 19 ปีแล้ว ย่อมมีความชำนาญในการจัดการเลือกตั้ง เรามีวัสดุ และอุปกรณ์ในการจัดการเลือกตั้งต่างๆ พร้อม แต่มีบางอย่างที่เป็นวัสดุสิ้นเปลืองก็ต้องซื้อใหม่ อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฉบับใหม่เขาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้ง ภายใต้การควบคุมดูแลของ กกต.
รายงานข่าวแจ้งว่าในส่วนของสำนักงานกกตผู้บริหารสำนักงาน นำโดยพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการกกต. เคยได้ไปให้ความเห็นกับ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)ที่มีนางนินนาท ชลิตานนท์ เป็นประธาน ตามคำเชิญเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยได้เสนอว่า หากรัฐบาลจะดำเนินการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้าง การยุบอบต.ยกฐานเป็นเทศบาลตำบล ก็ควรจะจัดทำเรื่องกฎหมายให้แล้วเสร็จเสียก่อน และการเลือกตั้งก็ควรมีขึ้นหลังจากมีการเลือกตั้งส.ส.เนื่องจากวิธีการเลือกตั้ง การบริหารการหาเสียง การควบคุมค่าใช้จ่ายตามพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2545 ไม่สอดรับร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้มีการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถ่ิน และไม่สอดรับกับพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ฉบับใหม่ อีกทั้งตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของกกต.ก็คิดไว้จะให้ในอนาคตมีวันเลือกตั้งเพียงวันเดียวทั่วประเทศ โดยประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งส.ส.และท้องถิ่นไปพร้อม ๆ กัน แต่หากแนวทางการปฏิรูปท้องถิ่นยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ แล้วรัฐบาลจัดการเลือกตั้งในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดิมที่ครบวาระไปก่อนก็อาจจะเกิดปัญหาวิธีการ และการปฏิบัติในการเลือกตั้งที่แตกต่างกัน รวมทั้งถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้งในบางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปก่อน แนวความคิดที่ยุบควบรวมอบต.ขึ้นเป็นเทศบาลตำบลก็จะยิ่งมีการต่อต้านมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันก็มองว่า หากเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนส.ส. จะมีข้อเสียคือนักเลือกตั้งระดับชาติจะลงไปสนับสนุนผู้สมัครท้องถิ่นให้ได้รับเลือกตั้งเพื่อมาเป็นฐานการเมืองในกับตนเองเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งส.ส. ก็จะสามารถมีหัวคะแนนคอยบริหารคะแนนให้โดยไม่ต้องหาเสียงซึ่งก็จะทำให้ไม่สามารถได้นักการเมืองที่ดีสมกับเจตนาของการปฏิรูปการเมือง อย่างไรก็ตามขณะนี้ในส่วนของกกต. ที่ประชุมกกต.เคยได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น.... ฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาสอดรับกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไปแล้วครั้งหนึ่งและให้คณะทำงานของสำนักงานซึ่งมีรักษาการเลขาธิการกกต.เป็นประธานไปพิจารณาปรับแก้ก่อนที่จะเสนอที่ประชุมพิจารณาก่อนนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ดังนั้นหากรัฐบาลแสดงท่าทีที่ชัดเจนจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนจริง กกต.ก็จะเร่งพิจารณาและเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว แต่หากยังไม่มีความชัดเจน กกต.ก็จะรอไปให้ความเห็นต่อร่างพ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามกระบวนการปกติ