xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.คาดสอบคดีสินบนโรลส์-รอยซ์เสร็จปีนี้ ชง กรธ.ให้ กก.ชุดปัจจุบันอยู่ครบวาระ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. (แฟ้มภาพ)
ประธาน ป.ป.ช.ยังสอบคดีสินบนโรลส์-รอยซ์อยู่ คาดแล้วเสร็จปีนี้ เผยเสนอ กรธ.คุ้มครองวาระ กก.ชุดปัจจุบันอยู่ครบวาระ

วันนี้ (29 มี.ค.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าการไต่สวนคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบพยานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่เพียงแค่พยานเอกสารเท่านั้น และกำลังพยายามรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยอนุกรรมการผู้รับผิดชอบคดีจะเสนอมาอีกครั้งว่าจะมีการไต่สวนใครเพิ่มเติม พร้อมยืนยันว่า ป.ป.ช.มีกรอบการทำงาน โดยให้คณะอนุกรรมการรายงานความคืบหน้ามายังคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทุกๆ 2 เดือน พร้อมย้ำว่า ป.ป.ช.จะเร่งดำเนินการไต่สวนคดีนี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ตามที่เลขาธิการฯ ออกมาระบุก่อนหน้านี้

พล.ต.อ.วัชรพลยังกล่าวถึงวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ ป.ป.ช. ว่าข้อเสนอที่ ป.ป.ช.เสนอไปยัง กรธ.นั้น ได้เสนอให้ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ต่อจนครบวาระ แต่สุดท้ายก็ขอให้เป็นไปตามการพิจารณาของ กรธ. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ว่าจะบัญญัติเป็นอย่างไร

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้กำหนดคุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช.ไว้ในมาตรา 232 ว่า 1) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่า อธิบบดีผู้พิพากษามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช. 2) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ส่วนคุณสมบัติต้องห้ามบัญญัติไว้ในมาตรา 216 ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 202 ไว้ว่า เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมืองในระยะ 10 ปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา ซึ่งจากข้อบัญญัติตามร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่ต้องพ้นจากตำแหน่งรวม 7 คนจากทั้งหมด 9 คน หากไม่มีการเขียนคุ้มครองไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

สำหรับกรรมการ ป.ป.ช.7 คน ประกอบด้วย (1. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เข้าข่ายเคยเป็นข้าราชการการเมืองในระยะ 10 ปี ก่อนเข้ารับการสรรหาเป็น ป.ป.ช. เนื่องจากเคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองในปี 2557 (2. นายปรีชา เลิศกมลมาศ ซึ่งเคยเป็นเลขาฯ ป.ป.ช.ในปี 2552 แต่ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ในปี 2553 จึงเป็นข้าราชการระดับอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี นับจากวันที่ได้รับการเสนอชื่อ (3. พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง ได้รับการเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช.ในปี 2555 เคยดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติในปี 2553 ถือว่าเป็นระดับอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี (4. นายณรงค์ รัฐอมฤต เป็นเลขาธิการ ป.ป.ช.ในปี 2555 ได้เป็นกรรมการ ป.ป.ช.ในปี 2556 ถือว่าเป็นอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี และ (5. น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เคยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2552 แต่ได้รับการเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช.วันที่ 9 เมษายน 2557 จึงถือว่ารับราชการไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการน้อยกว่า 5 ปี

(6. นายวิทยา อาคมพิทักษ์ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในปี 2557 เข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามเพราะเคยดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่นมาก่อน (7 พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ เคยดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงบประมาณ กระทรวงกลาโหม ปี 2554 ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ในปี 2558 จึงดำรงตำแหน่งอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น